“พาราควอต” ราคาพุ่งเท่าตัว พ้นเดดไลน์ส่งคืน-ร้านค้าแห่ลักลอบขาย

หมดเวลาครอบครอง “พาราควอต” 25 ก.พ. 64 พบร้านค้าลักลอบขาย อัพราคาเท่าตัว ชาวไร่อ้อยโอดต้นทุนพุ่ง ต้องกู้หนี้ซื้อเครื่องจักร “ฝ่ายสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย” วอนรัฐเห็นใจ ผ่อนปรนผู้ครอบครองสต๊อกจนกว่าจะมีสารทดแทน เดินหน้าฟ้องศาลปกครองรัฐไม่เยียวยา ด้าน กรอ.แบนสารเคมีอันตรายเต็มตัว ด้านกรมวิชาการเกษตรยื้อออกประกาศขั้นตอนส่งคืน

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นับตั้งแต่ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 15 พ.ค. 2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2563 บังคับใช้ และกำหนดให้พาราควอต คลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ผู้มีไว้ครอบครองต้องส่งคืนตามขั้นตอนที่กำหนดก่อนวันที่ 25 ก.พ. 2564 ชาวไร่อ้อยเดือดร้อนมาก เนื่องจากไม่สามารถใช้สารเคมีพาราควอตได้อีกต่อไป

ปัญหาที่ตามมาคือ ต้องแบกภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการเลิกใช้พาราควอต แม้พยายามลดการใช้ลงมา ซื้อเท่าที่พอใช้ หรือซื้อในช่วงฤดูปลูกอ้อย ไม่ได้ซื้อเก็บสต๊อกเพราะกลัวความผิด แต่ตอนนี้ต้องแบกภาระใหม่ คือ หนี้ ที่เกิดจากการซื้อเครื่องจักรเพื่อกำจัดหญ้า ซึ่งได้หารือหน่วยงานรัฐเพื่อขอความช่วยเหลือ หากยังไม่มีสารทดแทนรัฐควรมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกว่า 2% ให้กู้สำหรับซื้อเครื่องจักรตัดหญ้า

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า ได้หารือและแจ้งกระทรวงเกษตรฯว่า เกษตรกรยังจำเป็นต้องใช้พาราควอต การจะทยอยส่งคืนสารเคมีดังกล่าวเป็นไปได้ยาก เนื่องจากร้านค้าไม่รับคืน แม้ถึงเดดไลน์แล้วเกษตรกรและร้านค้าก็ยังมีอยู่ในครอบครอง แต่เพื่อไม่ให้มีความผิดตนได้ร้องขอไปทางภาครัฐเรื่องการชะลอส่งสารวัตรเกษตรลงตรวจเกษตรกรที่ยังมีสินค้าคงค้าง เพราะเกรงถูกสั่งปรับ

การซื้อพาราควอตเป็นการซื้อขายขาด ไม่มีร้านค้าใดรับคืนและคืนเงินให้ และร้านค้าก็ต้องส่งคืนผู้นำเข้า จึงแทบไม่มีใครส่งคืน ขณะที่ต้นทุนที่รัฐต้องกำจัดสูงถึงตันละ 1 แสนบาท ในโรงงานที่นักการเมืองดังถือหุ้น เทียบกับปกติค่ากำจัดแค่ 4.5 บาท/ตัน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้พบมีการลักลอบขาย และราคาปรับขึ้นจากลิตรละ 70 บาท เป็น 130 บาท ในฐานะตัวแทนเกษตรจึงต้องการให้รัฐออกมารับผิดชอบ เพราะรัฐผิดพลาดในคำสั่ง ที่สำคัญต้องไม่จับกุมเกษตรกรที่ยังมีพาราควอตไว้ครอบครอง จนกว่าจะมีสารทดแทนและมีการเยียวยา ทางฝั่งเกษตรกรยังคงเดินหน้าฟ้องต่อศาลปกครองขอคุ้มครองชั่วคราว และจะไม่ยอมใช้กลูโฟซิเนต เพราะคุณภาพการดูดซึมทำให้มีพิษตกค้างมากกว่าพาราควอต

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ได้บังคับใช้กฎหมายที่ให้สารเคมีพาราควอต คลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามนำเข้า ห้ามผลิต ห้ามจำหน่าย และห้ามใช้หรือมีไว้ในครอบครองเด็ดขาด

“สเต็ปต่อไป กรมวิชาการเกษตรต้องออกประกาศขั้นตอนการส่งคืน และแนวทางการกำจัดทำลายที่ชัดเจน ทั้งวิธีการนำส่ง ใครไปรับมาทำลาย คืนที่ไหน กำจัดที่ไหน อัตราค่าทำลาย เนื่องจากต้องดำเนินการตามกฎหมาย”

ขณะที่นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่า ขอให้รอสรุปความชัดเจนก่อน พร้อมยืนยันว่าจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบเร็ว ๆ นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับความผิดกรณีไม่นำส่งคืนหรือมีในครอบครองสารต้องห้ามดังกล่าว จะผิดตามมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ