ถอดรหัสคุมอหิวาต์แอฟริกันหมู ไฉนไทยคุมโรค ASF อยู่หมัด

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต

เป็นเวลาเกือบ 3 ปีนับจากสิงหาคม 2561 ที่ผู้ผลิตสุกร (หมู) ทั่วโลกต้องเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF)

ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสุกร (หมู) ทั่วโลกไปแล้วกว่า 35 ประเทศ ยกเว้น “ไทย” ที่ยังยืนหนึ่งเป็นประเทศเดียวที่ไม่มีการประกาศพื้นที่แพร่ระบาด ทั้งยังสามารถยกระดับการส่งออกเพิ่มขึ้น

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต” อธิบดีกรมปศุสัตว์ ถึงการวางยุทธศาสตร์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ASF

ไทม์ไลน์การระบาด ASF

เราเริ่มเห็นว่ามีสัญญาณการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู หรือ ASF เกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ที่จีนรับต่อมาจากฝั่งรัสเซียและยุโรป จึงเริ่มระดมสมองเชิญนักวิชาการมหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการเข้ามาประชุมกว่า 100 ครั้ง

ทุกคนบอกว่า ยากที่จะยับยั้งการแพร่ระบาด เพราะโรคนี้เป็นไวรัสที่ไม่เหมือนกับชนิดอื่น เกิดในแอฟริกามา 60-70 ปี เมื่อมาถึงจีน เสี่ยงที่จะกระจาย เนื่องจากจีนเป็นประเทศใหญ่

ตอนนั้นทุกคนกังวลว่า เราจะผ่านปี 2561 ไปได้หรือไม่ ถ้า ASF ระบาดเข้ามาก็จะกระทบอุตสาหกรรมหมูไทยเจ๊งแน่ ผมเคยเป็นปศุสัตว์ที่ราชบุรี รู้จักฟาร์มต่าง ๆ ในจังหวัดราชบุรีที่เป็นเมืองหมู ก็กลัวถึงขั้นไปดูดวง ครูบาบุญชุ่มบอกว่าไม่มีทางเข้าไทยแน่นอน

เรารู้ว่าโรคนี้ไม่ใช่โรคระบาดจากสัตว์สู่คน แต่มันยาก เพราะว่าถ้าหากเป็นโรคระบาดสัตว์สู่คนอย่างเช่น ไข้หวัดนก ก็สามารถระดมทีมหลายหน่วยงานช่วยกันทันที แต่เมื่อเป็นโรคนี้จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมปศุสัตว์เพียงหน่วยงานเดียว

ดังนั้น ผมจึงเรียนกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น ท่านกฤษฎา บุญราช ว่าขอให้ช่วยยกระดับเป็นวาระแห่งชาติได้จนสำเร็จเมื่อ 9 เม.ย. 2561 เท่าที่ผมรับราชการมา 34 ปีนี่เป็นครั้งที่ 2 ต่อจากโรคไข้หวัดนก

ผลจากการยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ ทำให้มีการตั้งคณะกรรมการมาดูแล ต้องรายงานสถานการณ์โรคแทบทุกวัน กรมจึงเริ่มทำทุกอย่าง ตอนนั้นไทยยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญ ต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปเรียนที่สเปนเพื่อให้สามารถตรวจเชื้อนี้ได้ ทำคู่มือไกด์ไลน์ CPG เตรียมพร้อมและมีมาตรการอย่างไร

การป้องกันโรค ASF

ด้วยเหตุที่เกิดโรค ASF ที่จีนเราจึงมุ่งเฝ้าระวังด้านทิศตะวันออก เพราะโรคอาจแพร่จากจีนมาลาว-เวียดนาม-กัมพูชา และเข้าไทยได้ โดยมีด่านปศุสัตว์ 58 แห่ง เกณฑ์คนไปเฝ้าการลักลอบนำเข้าสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ หรือชาวบ้านรู้เท่าไม่ถึงการณ์นำเข้ามา รวมถึงการขนส่งผ่านมากับสินค้าพร้อมกับนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาทางเครื่องบิน

เราตรวจยึดพบทั้งผลิตภัณฑ์ ไส้กรอก กุนเชียงหลายเคส แต่กลับพบการระบาดของ ASF ที่ฝั่งเมียนมาในรัฐฉาน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเชียงราย ด้วยความที่เป็นรัฐอิสระ ชาวบ้านฝั่งนั้นมีการโยนหมูทิ้งน้ำ ทางเจ้าหน้าที่ไปช่วยเก็บทำลาย เพราะห่วง 2-3 อำเภอบริเวณนั้นมีรายย่อยเลี้ยงหมูเป็นจำนวนมาก

โดยเราทำตามหลักการสัตวเเพทย์โดยทั่วไปคือ “รู้โรค รู้เร็ว สงบเร็ว” ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีงบประมาณ ต้องอาศัยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯช่วยลงขันช่วยกันเอง เพราะสมาคมก็ห่วงอาชีพของเขา เราจึงเริ่มทำแอปพลิเคชั่น Smart Plus ประเมินความเสี่ยงคล้าย ๆ กับ “ไทยชนะ”

หากทุกคนมองว่า พอเกิดโรค (ASF) ประกาศทันทีนั้น จริงอยู่มันเป็นการทำงานที่ง่ายมาก และเจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องเหนื่อยด้วย แต่เราเลือกทำสิ่งที่ยาก เรารายงานให้รัฐมนตรีทราบเกือบทุกวันเพื่อพิจารณาในระดับนโยบาย พร้อมทั้งยกระดับการป้องกัน ขอ “งบฯกลาง” เป็นครั้งแรก โดยต้องชี้ให้ทุกฝ่ายเห็นว่า การป้องกันโรค ASF มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจอย่างไร

ถ้าประเทศใดประกาศการระบาดของโรค ASF ตามหลักต้องรายงานต่อองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ก็จะถูกขึ้น “ตัวเเดง” ทันที เป็นลิสต์ที่ห้ามส่งออก

แต่ถึงจะคุมการระบาดได้หลังจากนั้นทันที ทาง OIE ก็จะไม่คืนสถานะให้ทันทีต้องอาศัยเวลาอีกหลายปี อาจจะถึงปี 2570-2573 ก็ได้

เสียหาย 5% จากโรค PRRS

กรมปศุสัตว์ทำงานเศรษฐกิจเพื่อชาติ จุดเปราะบางการสร้างสมดุล ไม่ใช่เราไม่ห่วงประชาชน แต่เรารู้ว่าโรคนี้ไม่ใช่โรคจากสัตว์สู่คน ดังนั้นมันไม่อันตรายต่อคน แต่เป็นอันตรายกับหมูเท่านั้น เป็นแล้วหมูตาย ไม่เหมือนกับไข้หวัดนกและกระทบเศรษฐกิจ

เราจึงมุ่งยกระดับการตรวจสอบโรคทุกโซนอย่างเข้มข้น การเคลื่อนย้าย ต้องมีใบตรวจโรคก่อน นอกจากฟาร์มแล้วยังมีกลุ่มที่ขายออนไลน์ที่อาจจะลักลอบและต้องดูไปถึงอาหารสัตว์ ยานพานะ โรคฆ่าสัตว์ทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง

ตอนนี้ผลสรุปความเสียหายมีเพียง 5% จากจำนวนหมูทั้งประเทศจากโรค PRRS ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาแรงขึ้นตอนนี้ เพียงแต่โรคนี้ไม่เป็นข่าวและเป็นโรคที่มีวัคซีน แต่ยังไม่ครอบคลุมจริง ๆ ซึ่งลักษณะอาการหมูที่เราพบ โรคนี้ไม่ต่างจากโรค ASF เกิดจากเชื้อไวรัส มีผลต่อทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ ทำให้อัตราการตายสูง ซึ่งถือว่ายากตรงวินิจฉัยโรคที่ต้องเข้าพิสูจน์ห้องแล็บเท่านั้น

แต่เราได้รับงบประมาณจากปีก่อน ทำให้สามารถเพิ่มมาตรการป้องกันได้มากขึ้น นอกจากเดิมมีแล็บแล้วเราใช้โมบายเคลื่อนที่จากงบประมาณที่ได้ PCR ชุดตรวจที่มีความแม่นยำสูง เครื่องมือเฝ้าระวังและเครื่องมือเผาซากแทนการฝังกลบ

จุดแข็งไทยเท่านั้นที่มีหมูส่งออก

การดำเนินการของกรมผ่านมา 3 ปีแล้ว เราเตรียมจะมาทบทวนยุทธศาสตร์การป้องกันโรคกันทั้งองคาพยพในวันที่ 26 มีนาคมนี้ว่า หลังจากเริ่มต้นสิงหาคม 2561 ถึงวันนี้ รายย่อยเป็นอย่างไร พบปัญหาอุปสรรคอย่างไร จะวางอนาคตข้างหน้าอย่างไร ต้องมีการอุดช่องโหว่อย่างไร

เพราะจากสถานการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นตอนนี้ในโลกกระทบมากขึ้น เราจะเดินอย่างไรต่อ เพราะโรคนี้มีอยู่ในโลกเเล้ว เราจะเอายังไงกับอนาคตข้างหน้า

แน่นอนว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เราถูกจับจ้องจากแต่ละประเทศที่ต่างก็เกิดการระบาดของโรค ASF หมด เเม้กระทั่งมาเลเซียก็ประกาศโรคแล้ว

แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศอื่นยังเชื่อมั่นว่าไทยไม่มี ASF ก็คือ ไทยยังมีหมู ปี 2563 ส่งออกไป 2 ล้านตัว มูลค่า 13,000 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 344.30% และยังมีผลิตภัณฑ์จากหมู 43,000 ล้านตัน มูลค่า 5.1 พันล้านบาท ถ้าวันไหนโรคระบาดสร้างความเสียหาย หมูตายส่งออกไม่ได้ หมูตายมากก็อีกเรื่องหนึ่ง

ตอนนี้ทุกคนยอมรับว่า ไทยควบคุมโรคได้เก่ง ส่งหมูออกไปขายได้ ในประเทศไม่ขาดแคลน และสามารถรักษาระดับราคาในประเทศถึงสูงขึ้น แต่คนไทยยังได้กินหมูราคาต่ำสุดในอาเซียน หมูไทย กก.ละ 90 บาท พอส่งออกไปขาย กก.ละ 160 บาทขึ้นไป ทุกคนมีความสุขกับราคา สามารถสร้างรายได้ให้อุตสาหกรรมได้

หากประกาศว่ามีโรค ASF ไทยจะถูกระงับการส่งออกทันที สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท ทั้งจากการส่งออกหลายหมื่นล้านและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

การดำเนินการในปีนี้

สิ่งที่เราพบคือ จากราคาหมูที่สูงขึ้นนั้น รายย่อยจริง ๆ อยากเลี้ยงเยอะขึ้น ปัจจุบันมีรายย่อย 208,000 ราย รายใหญ่ 2,785 ราย ซึ่งเรามีนโยบายจะส่งเสริมผู้เลี้ยงหมูรายย่อยที่มีความพร้อม โดยจะต้องผ่านระบบมาตรฐาน GFM เป็นอย่างน้อย

ล่าสุดกรมปศุสัตว์เสนอของบเพิ่มจากงบประจำปี 2564 คือ งบฯกลางโควิด 500 ล้านบาทจากสภาพัฒน์ เพื่อมายกระดับมาตรฐานฟาร์ม GFM เพื่อช่วยรายย่อย 32,346 รายที่เลี้ยงหมูรายละไม่เกิน 500 ตัว ก้อนที่ 2 งบฯกลางขอไปอีก 1,400 ล้านบาทเพื่อเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง

ซึ่งมีโปรแกรมประเมินความเสี่ยงเชิงพื้นที่ตามหลักระบาดวิทยา ต้องประเมินพื้นที่ก่อนเพื่อจัดคน จัดเงินเฝ้าระวัง โดยอาศัยข้อมูลการระบาดจีน ปัจจัยต่าง ๆ หากเกิดเหตุ ทั้งอากาศ เคลื่อนย้าย โรงฆ่า มีความเสี่ยงต่าง ๆ มาประกอบกัน โมเดลสถิติบวกระบาดวิทยา การเรียกพื้นที่เสี่ยง จึงไม่ใช่พื้นที่เกิดโรคระบาด