คิกออฟ “องค์กรผู้ใช้น้ำ” สทนช.ชูบูรณาการ “จัดการน้ำ”

น้ำ

เหลือเวลาอีกเพียง 1 สัปดาห์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดให้ขึ้นทะเบียนองค์กรผู้ใช้น้ำทั่วประเทศครั้งแรกของประเทศไทยในวันที่ 1 เมษายน 2563 ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ 2561 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562 เพื่อบูรณาการการทำงานขับเคลื่อนภารกิจด้านน้ำ

โดยผ่านกลไก “องค์กรในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ” ซึ่งมี 3 ระดับ คือ ระดับชาติ มีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ระดับลุ่มน้ำ มีคณะกรรมการลุ่มน้ำ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำที่ได้รับเลือกเป็นประธาน และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ

“องค์กรผู้ใช้น้ำ” จะเกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ที่ใช้น้ำในบริเวณใกล้เคียงกันและอยู่ในเขตลุ่มน้ำเดียวกัน จดทะเบียนก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำเพื่อประโยชน์ร่วมกันเกี่ยวกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ในหมู่สมาชิกขององค์กรผู้ใช้น้ำถือว่าสำคัญมากกับการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ

สทนช.ได้จัดเสวนา “องค์กรผู้ใช้น้ำ” สร้างการมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้จริงหรือกับการแจ้งเกิดของ “องค์กรผู้ใช้น้ำ” ครั้งแรกของประเทศ โดยมีภาคเกษตร อุตสาหกรรมพาณิชย์ ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น

ขอเวลา 2 เดือน

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า การบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศที่ผ่านมา เป็นการบริหารทรัพยากรน้ำตามภารกิจและบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละด้าน ซึ่งเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ จึงเป็นอุปสรรคต่อการบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศ

“การจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำจะเป็นกลไกสำคัญที่รัฐบาลสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเข้ามาร่วมแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง และการบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพมาก”

โดยกระบวนการขึ้นทะเบียนองค์กรผู้ใช้น้ำจะเริ่มในวันที่ 1 เมษายน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเวลาประมาณ 2 เดือน หรือประมาณเดือนมิถุนายน 2564

เกณฑ์องค์กรผู้ใช้น้ำ

ทั้งนี้ ได้กำหนดให้กลุ่มบุคคล หรือนิติบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่รวมตัวกันจำนวนไม่น้อยกว่า 30 ราย ต้องตั้งตัวแทนไปยื่นคำขอจดทะเบียนก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำต่อ สทนช.ในฐานะนายทะเบียน ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และสามารถยื่นระบบออนไลน์และยื่นเอกสารด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จากนั้นจะมีการคัดเลือกผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำที่มีคุณภาพเป็นกรรมการลุ่มน้ำในเขตลุ่มน้ำของตนเองได้

สำหรับลุ่มน้ำ 1 ลุ่มน้ำ ต้องมี 9 คน แบ่งเป็น ภาคเกษตรกรรม 3 คน ภาคอุตสาหกรรม 3 คน และภาคพาณิชยกรรม 3 คน กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำเหล่านี้ยังมีสิทธิได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการผู้แทน กนช.ด้วย

อย่างไรก็ตาม องค์กรผู้ใช้น้ำถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยกฎหมายได้กำหนดวัตถุประสงค์ กรอบการดำเนินงาน หน้าที่ ซึ่งจะไม่ได้ทับซ้อนกับองค์กรผู้ใช้น้ำหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำที่ก่อตั้งโดยหน่วยงานอื่น เช่น กลุ่มผู้ใช้น้ำในเขตพื้นที่ชลประทานและได้จดทะเบียนเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำกับกรมชลประทานก็ยังเป็นกลุ่มผู้ใช้เดิมไม่มีความผิดแม้ไม่มาจดทะเบียนกับ สทนช. ส่วนการเลิกองค์กรผู้ใช้น้ำสามารถเลิกได้ตามกฎหมาย

เกษตรกร-เอกชนขอร่วม

นางบุษบงก์ ชาวกัณหา คณะกรรมการลุ่มน้ำปราจีนบุรี ตัวแทนผู้ใช้น้ำภาคเกษตรกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้น้ำค่อนข้างไม่มีความสมดุล การใช้น้ำเป็นไปตามนโยบายพืชเกษตร ซึ่งยังขาดความชัดเจน และเกษตรกรขาดการมีส่วนร่วม และอำนาจการตัดสินใจ

“การจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ หน่วยงานราชการ กับภาคประชาสังคม ภาคประชาชนยังมององค์กรผู้ใช้น้ำที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ในนิยามต่างกัน ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่สุด น้ำควรถูกแบ่งสรรอย่างไร ทุกภาคส่วนต้องมองการใช้น้ำเป็นหุ้นส่วนกันภาคไหนขาดก็ส่งภาคนั้นไปเติม และที่สำคัญต้องจัดสรรให้เหมาะสมกับการทำการเกษตรที่หลากหลาย ซึ่งการใช้น้ำก็ต่างกัน ภาครัฐต้องคำนึงถึงทุกมิติเพื่อการบริหารที่ดี”

ด้านนายธนวัฒน์ สันตินรนนท์ กรรมการบริษัท อินดัสเตรียล วอเตอร์ รีซอร์ส แมนเนจเม้นท์ จำกัด (IWRM) ตัวแทนผู้ใช้น้ำภาคพาณิชยกรรม กล่าวว่า ขอให้ สทนช.เปิดโอกาสภาคอุตสาหกรรมกับภาคเกษตรมีส่วนร่วมในการหารือ เพื่อจัดสรรน้ำให้เพียงพอ เเละเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ป้องกันปัญหาด้านข้อมูลเช่นที่ผ่านมา ทั้งอุตสาหกรรมและเกษตรไม่สามารถหาข้อมูลที่เป็นเอกภาพจากหน่วยงานใด มองว่าประเทศไทยไม่ได้ขาดน้ำแต่เราขาดคนเก็บน้ำ อ่างเก็บน้ำมีน้อยกว่าปริมาณฝน

นายวิโรจน์ เลิศสลัก ผู้จัดการโรงงาน บริษัท กรุงเทพ ซินธิติกส์ (BST) ตัวแทนผู้ใช้น้ำภาคอุตสาหกรรม กล่าวว่า ควรจะต้องสื่อสารกันให้ชัดเจน เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำ ภาครัฐควรมองระยะยาวในอนาคต หากต้องมีการขยายอุตสาหกรรมโรงงานมากขึ้น ความต้องการใช้น้ำมากขึ้นจะรวบรวมอย่างไร ยังเป็นคำถามที่ได้รับจากสมาชิกภาคอุตสาหกรรม

“เราใช้น้ำอยู่ภายใต้การนิคมอุตสาหกรรมฯ ช่วงภัยแล้งที่ผ่านมาโจทย์คือต้องมีวอร์รูม ได้แก่ กรมชลประทานอีสท์วอเตอร์ การนิคมฯ เอกชนลดการใช้น้ำให้ได้ 10% หลายโรงงานในนิคมลดกำลังการผลิต เมื่อได้รับข้อมูลนี้มาจึงมีการวางแผน”