“เกษตรแปลงใหญ่” วืดไม่เข้าเป้า เหตุแห่ถอนตัวหนีตั้งห้างหุ้นส่วน

ทำนา
FILE PHOTO STR / AFP

โครงการเกษตรแปลงใหญ่จากเงินกู้โควิด 1.3 หมื่นล้านอืด เปลี่ยนเงื่อนไขกลางคันให้กลุ่มเกษตรกร-วิสาหกิจชุมชน จดทะเบียนนิติบุคคล “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” ทำสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์เกษตร ทำเกษตรกรลังเลต้องรับผิดชอบ-เสียภาษี เป้า 5,250 แปลงทั่วประเทศ จดทะเบียนไปได้ไม่ถึง 2,000 แปลง

เวลาได้ผ่านไปถึง 6 เดือนแล้ว หลังจากที่ ครม.ได้อนุมัติ (มติ ครม.วันที่ 15 กันยายน 2563) โครงการยกระดับเกษตรแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดของกรมส่งเสริมการเกษตรในกรอบวงเงิน 13,904.50 ล้านบาท เพื่อให้เงินสนับสนุนในการซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์รวมทั้งวัสดุทางการเกษตรแก่เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายจำนวน 5,250 กลุ่มทั่วประเทศ

ปรากฏจนกระทั่งถึงปัจจุบันโครงการนี้ได้ดำเนินการไปอย่างล่าช้ามาก และล่าสุดก็ยังไม่มีการเบิกจ่ายเงิน และยังเกิดความขัดแย้งกับกลุ่มเกษตรกรเป้าหมายจากเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ความสับสนในการดำเนินการของหน่วยราชการ จนอาจมีผลทำให้โครงการไม่บรรลุเป้าหมายในที่สุด

ทั้งนี้ โครงการยกระดับเกษตรแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด จะใช้เงินจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563

ใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 3.1 กรอบวงเงินของโครงการ 13,904.5000 ล้านบาท มีกลุ่มเป้าหมายเป็นแปลงใหญ่ 5,250 แปลง เกษตรกรจำนวน 262,500 ราย พื้นที่ 5,003,250 ไร่ พื้นที่ดำเนินการ 5,250 แปลงใน 77 จังหวัด

ให้จดห้างหุ้นส่วนจำกัด

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาจากหลายวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศว่า ส่วนใหญ่สับสนในเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการของกรมส่งเสริมการเกษตร เนื่องจากตอนเริ่มโครงการกลุ่มเกษตรกรเข้าใจว่า การจดทะเบียนจัดตั้งเป็นกลุ่มสหกรณ์การเกษตร-กลุ่มเกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชน สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้

ต่อมาในต้นเดือนธันวาคม 2563 ทางกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับรายงานจากคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ แจ้งปัญหาเข้ามาว่า การดำเนินงานของสหกรณ์-กลุ่มเกษตรกรจะดำเนินงานผ่านทางคณะกรรมการดำเนินการ แต่การดำเนินงานของแปลงใหญ่จะต้องผ่านทางคณะกรรมการแปลงใหญ่ ซึ่งรวมไปถึงการทำนิติกรรมสัญญาต่าง ๆ ด้วย

“โครงการแปลงใหญ่ในการให้เงินสนับสนุนการซื้ออุปกรณ์ทางการเกษตรจะต้องทำสัญญากับภาคเอกชน ดังนั้น ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องมีสถานะเป็นนิติบุคคล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น ในขณะที่การดำเนินการและบริหารงานของกลุ่มสหกรณ์การเกษตร-กลุ่มเกษตรกร โดยคณะกรรมการดำเนินงาน มีกฎหมายเฉพาะที่ไม่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการแปลงใหญ่ตามที่กำหนดไว้”

“ประกอบกับตัวคณะกรรมการแปลงใหญ่เองอาจจะเป็นเป็นคนละชุดกับคณะกรรมการสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกร ทรัพย์สินที่ได้รับจากเงินสนับสนุนโครงการจะต้องตกเป็นของสหกรณ์ ไม่ใช่ทรัพย์สินของโครงการแปลงใหญ่และที่สำคัญการได้รับเงินสนับสนุนหรือเงินอุดหนุนที่เป็นงบประมาณ จะต้องมีการจ่ายเงินสมทบตามหลักเกณฑ์ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ด้วย”

โดยคำกล่าวอ้างข้างต้นเป็นสิ่งที่ผู้แทนหน่วยราชการชี้แจงกับกลุ่มเกษตรกร-สหกรณ์การเกษตร-วิสาหกิจชุมชน ในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการยกระดับเกษตรแปลงใหญ่ โดยในทางปฏิบัติทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ง่ายที่สุดก็คือ การจดทะเบียนเป็น “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” และขอให้จดทะเบียนให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2564 ด้วย ส่งผลให้เกิดการลังเลที่จะเข้าร่วมโครงการกับรัฐบาล

เอกชนวิ่งออกหน้า

จากการติดตามการชี้แจงการเปลี่ยนเงื่อนไขโครงการยกระดับเกษตรแปลงใหญ่พบว่า เพิ่งจะแจ้งเปลี่ยนเงื่อนไขกันในปลายเดือนมกราคม 2564 หลังจากที่โครงการเริ่มดำเนินการมาแล้วเกือบ 4 เดือน และกลายเป็นปัญหาใหญ่สร้างความไม่เข้าใจให้กับกลุ่มเกษตรกรที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการ

เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ถึงผลดี-ผลเสียในการตั้ง “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” เพียงแค่เพื่อที่จะได้สถานะนิติบุคคลในการทำสัญญาซื้อวัสดุ-อุปกรณ์ทางการเกษตรกับตัวแทนจำหน่ายที่เป็นภาคเอกชนในฐานะคู่สัญญา

“เกษตรกรกลัวในเรื่องของความรับผิดชอบในการดำเนินงาน การรับผิดชอบหนี้สินของห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือกลัวว่าต่อไปหุ้นส่วนจะไปก่อหนี้ได้ไม่จำกัด ทั้งยังมีภาระที่จะต้องจัดทำบัญชีและเสียภาษีที่ยากเกินไปกว่าที่เกษตรกรจะบริหารจัดการได้ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่โครงการนี้จะมีกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมน้อย ทั้ง ๆ ที่เป็นโครงการที่มีเจตนาดีที่จะช่วยเหลือเกษตรกร แต่วิธีจัดการมีปัญหาจากการกำหนดเงื่อนไขการเข้าร่วมจากกรมส่งเสริมการเกษตรเอง” เกษตรกรบางส่วนให้คำตอบถึงการตัดสินใจไม่เข้าร่วมโครงการนี้

ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาหลังจากที่ประเทศไทยเริ่มจะทำการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กันแล้ว “แต่โครงการยังไปไม่ถึงไหน” เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ ได้มีข้อสั่งการจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งให้แปลงใหญ่ด้านพืชของกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 2,012 แปลง

และแปลงใหญ่ด้านข้าวของกรมการค้าจำนวน 2,638 แปลง ออกไปดำเนินการจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดให้เร็วที่สุด โดยทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศด้วย

“ความล่าช้าที่เกิดขึ้นมีผลต่อบริษัทเอกชนทางการเกษตร ที่ประสงค์จะเป็นคู่สัญญากับแปลงใหญ่ไม่สามารถขายวัสดุ-อุปกรณ์ทางการเกษตรได้ตามเป้าที่วางเอาไว้ ส่งผลให้หลายพื้นที่ของประเทศมีการส่งคนของบริษัทเข้าไปหาเกษตรกรในลักษณะของการแนะนำให้เข้าร่วมโครงการ ตลอดจนถึงการจดทะเบียนตั้งห้างหุ้นส่วนด้วย”

ไม่บังคับเกษตรกร

ด้าน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมและหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการยกระดับแปลงใหญ่กำลัง “เร่งให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ” โดยล่าสุดมีจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมแล้ว 1,555 แปลง จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลให้ทันภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564

“ยอมรับว่าเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอาจมีไม่ถึง 5,250 แปลง ตามที่ ครม.ได้อนุมัติงบประมาณไว้ แต่กรมจะผลักดันให้เข้าร่วมให้ได้มากที่สุด โครงการนี้ไม่มีการบังคับเกษตรกรทุกอย่าง อยู่ที่ความสมัครใจของเกษตรกร ส่วนงบประมาณโครงการยังไม่มีการนำออกมาใช้ต้องรอสรุปวันที่ 31 มีนาคมก่อน” นายเข้มแข็งกล่าว

เกษตรกรเมินไม่เข้าร่วม

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามไปยังกลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ โดย นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย (คยปท.) กล่าวว่า ทางกลุ่มไม่ได้เข้าร่วมโครงการนี้และคัดค้านการทำแปลงใหญ่มาตั้งแต่ต้น

โดยมองว่า เกษตรแปลงใหญ่จะถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนใหญ่ เป็นการถอดแบบไม่ต่างกับการที่เกษตรกรไปทำคอนแทร็กฟาร์มมิ่ง ที่จังหวัดพัทลุงมีรายงานเข้ามาว่า มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว 50 แปลง จาก 65 แปลง โดยที่เหลือ “ยังไม่มีความพร้อม”

หากมองภาพรวมทั้งภาคใต้มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ 451 กลุ่ม แต่เอาเข้าจริงสามารถจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลได้แค่ 95 แปลงเท่านั้นโดย จังหวัดพัทลุงเป็นจังหวัดต้น ๆ ที่จดทะเบียนนิติบุคคลมากที่สุด ด้านนายมนัสชัย คำทองทิพย์ ประธานกลุ่มสมุนไพรแปลงใหญ่ บ้านหมี่ ม.8 ต.เขวา อ.เมือง จ.มหาสารคาม กล่าวว่า เงื่อนไขที่ให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลนั้น

ทางกลุ่มกังวลเรื่องรายจ่ายในการบริหารจัดการต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่าย บัญชีงบดุล “เหมือนกองทุนเงินล้านไม่ทำไม่ได้” ทางกลุ่มจึงหารือกันว่ายังไม่พร้อมก็ยังไม่ต้องจดเพราะเงินที่อุดหนุนมา 3 ล้านนั้นก็ต้องมีภาระในการใช้คืน ประเมินศักยภาพของกลุ่มแล้วเห็นว่า จะเป็นภาระหนักให้สมาชิกกลุ่ม

ส่วนที่จังหวัดจันทบุรี มีกลุ่มแปลงใหญ่ที่ได้ยื่นขอไว้เมื่อปี 2563 กว่า 60 กลุ่ม ขณะนี้มีกลุ่มที่จดทะเบียนจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด จำนวน 31 กลุ่ม ที่จังหวัดตราดมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ประมาณ 20-30 แปลง ไปยื่นของบประมาณไว้ตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 8 แปลง แปลงละ 150,000-500,000 บาท รวมวงเงิน 1.7 ล้านบาท

แต่ไม่เข้าใจโครงการที่จะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจึงถอนตัวออกทั้งหมด ที่จังหวัดพิษณุโลกมีเกษตรกรโครงการเกษตรแปลงใหญ่ได้ไปจดทะเบียนนิติบุคคลเกือบครบ 100%