สุพัฒนพงษ์ เชียร์คนไทยใช้เงินออมแสนล้านช่วยดันจีดีพีโต 4%

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

สุพัฒนพงษ์ ขึ้นเวทีสัมมนามติชน แนะพลิกโควิด เป็นโอกาส เชียร์คนไทยเจียดเงินออมแสนล้านมาใช้จ่ายช่วยชาติ กระตุ้นจีดีพี ปี 64 โต 4% พลิกจากปี 63 ติดลบ 6%

ชูกลยุทธ์ 4D ฟื้นประเทศ รับยุค Post Covid หนุนลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S Curve “อีวี-สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์” มาแน่ มั่นใจปี 65 เป็นปีแห่งการลงทุนเพื่ออนาคต พร้อมชง ศบศ. เคาะเปิดประเทศ นำร่อง ภูเก็ต ต.ค.นี้ บูมรับ ‘นักท่องเที่ยวสูงวัยเกษียณ’ กำลังซื้อสูง เป้าหมาย 1 ล้านคน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง“พลิกโควิด เป็นโอกาส ประเทศไทยไปต่อ” ในงานสัมมนา “ปี 2021 ประเทศไทยไปต่อ” ที่ บมจ.มติชน จัดขึ้นวันที่ (25 มี.ค. 2564) ว่า ในปีนี้รัฐบาลยืนยันตัวเลขจีดีพีไทยจะขยายตัว 4% แม้ว่าในช่วงต้นปีทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าจีดีพีไทยจะขยายตัวเพียง 2.7% ไม่เกิน 3% เพราะยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากรายได้การท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว

“อยากให้ข้อมูลว่าในปี 63 ที่หลายสิ่งดูแย่ลง แต่การออมของคนไทยเติบโตขึ้นถึง 11% คิดเป็นเงินหลายแสนล้านบาท ก็อยู่ที่พวกเราว่าจะช่วยประคับประคองประเทศไทยไปได้ขนาดไหน ที่ต้องพูดเพราะกองทุนไอเอ็มเอฟประเมินต้นปีว่าไทยจะขยายตัว 2.7% เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น แต่เราต้องการให้ขยาย 4% ยังขาดอยู่ 1% คิดเป็นมูลค่า 1.6 แสนล้านบาท

ถ้าประชาชนเสียเงินออมมาใช้ช่วยชาติก็จะเป็นส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจากนี้จะมีการพิจารณามาตรการเพื่อกระตุ้นให้มีการดึงเงินออมออกมาใช้โดย concept จะเป็นเรื่องโค-เพย์ แต่ต้องดูอีกทีว่าจะมีลักษณะที่แตกต่างจากช็อปช่วยชาติอย่างไร”

สำหรับในปี 2563 ที่ผ่านมา จีดีพีไทยติดลบเพียง 6% จากที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะติดลบมากกว่า 7 ถึง 8% เพราะไทยพึ่งพารายได้จากการส่งออกและท่องเที่ยวมากกว่า 20% ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด สะท้อนว่าไทยบอบช้ำไม่มาก ทั้งยังมีอัตราการว่างงานเพียง 1.7%

“เรื่องโควิดไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในรอบ 100 ปี เกิดขึ้นครั้งหนึ่ง เรามีภาพจำไว้เล่าให้ลูกหลานฟัง ว่าเรารับมืออย่างไร และเราพิสูจน์มาแล้วในการระบาดระลอกใหม่ เมื่อเดือนธันวาคม 2563 มีผู้ติดเชื้อเป็นหมื่น ๆ เพราะเราเลือกจะตรวจสอบเชิงรุก ทำให้มีการพบจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่ลดลงเหลือหลักร้อยใน 3 สัปดาห์ เราพบวิถีการควบคุมการระบาดเกิดขึ้นแล้ว”

ส่วนเรื่องวัคซีน ที่มีการพูดว่าประเทศฉีดก่อนมีจำนวนวัคซีนมากกว่า แต่สิ่งที่สำคัญคือจำนวนวัคซีนที่คอมมิทของเรามีมากถึง 63 ล้านโดส สำหรับประชาชนที่อายุ 18 ปีขึ้นไป เพียงพอจะฉีดคนละ 2 โดส และจะทยอยซื้อเพิ่มขึ้น มีการเตรียมงบประมาณสาธารณสุขไว้ 50,000 ล้านบาท

“การบริหารจัดการวัคซีน และการฉีดวัคซีนที่เป็นระบบจะทำให้เราเข้าสู่ภาวะปกติหรือเข้าสู่ช่วงปลายปลายของโควิด เราเตรียมขยายการเติบโตปี 64 จึงเป็นปีที่สำคัญมากเป็นรอยต่อระหว่าง covid และ post-covid ซึ่ง รัฐบาลยังมีหน้าที่ต้องประคับประคอง โดยมีโครงการช่วยเหลือทั้งเราชนะ เรารักกัน ม.33 คนละครึ่ง เพื่อเป็นการดูแลผลกระทบของประชาชน”

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ที่นี่การตั้งฉายารัฐบาลชุดนี้ว่ามีการกู้หนี้สาธารณะสูงขึ้นหรือ Very กู้ นั้น ก็ถูกต้องกู้จริงตลอดเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีมีการลงทุนไปแล้วรวม 2.6 แสนล้านบาท หากภาระเกี่ยวกับการเยียวยาโควิดและการชดเชยโครงการรับจำนำข้าวก็จะเหลือเป็นเม็ดเงินที่ลงทุน 1.7-1.8 ล้านล้านบาท ใน 162 โครงการ วงเงินรวมกว่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการดึงเงินงบประมาณมาเสริมด้วย

“รัฐบาลลงทุนในแนวนอนคนไทยจึงมองไม่เห็นไม่เหมือนการสร้างตึก 100 ชั้น 1,000 ชั้น มันเห็นง่าย แต่ที่ถ้ามองจากบนเครื่องบินจะเห็นว่ามีการขยายโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ มากมายเช่นปีนี้สายสีแดง ปีหน้าสายสีชมพู ถนนเสร็จทุกปี โดยเฉพาะเส้นทางกรุงเทพ-กาญจนบุรี ซึ่งเป็นเส้นทางที่สร้างการเชื่อมโยงกับภูมิภาคทั้งจีนอาเซียน

และไม่ใช่มีแค่โครงสร้างพื้นฐานทางถนน แต่ยังมีสายส่งและระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการขายไฟระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น ลาวไปสู่มาเลเซีย กำลังจะไปสู่สิงคโปร์ รัฐบาลเห็นชอบสนับสนุนเงินกู้ในการช่วยสร้างสายส่งเพื่อเชื่อมโยงเข้าไปอย่างเมียวดี ย่างกุ้ง เป็นการเตรียมแผนในระยะยาว”

ในส่วนของการส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซีรวม 12 กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ไฟฟ้า สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ เมดิคอล เกษตร เป็นต้น ซึ่งจะสอดคล้องกับทิศทางของประเทศในยุคหลังโควิด Post Covid

โดยใช้กลยุทธ์ 4Ds (DIGITALIZATION  DECARBONIZATION DECENTRALIZATION และ DE-REGULATION ) ในการเปลี่ยนผ่าน

โดย Digitalization ไทยมีความพร้อมในระบบสาธารณูปโภคค้างห้าสี่เอไอดาต้าเซ็นเตอร์, De cabonization การพัฒนาอุตสาหกรรมตามเป้าหมายที่จะต้องมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งไทยมีการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า และสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์

“โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มการผลิตให้ได้ 30% ในปี 2030 ควบคู่กับการส่งเสริมดีมานด์การใช้ในประเทศ โดยในวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 จะมีประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางในการส่งเสริมตามที่ได้ตั้ง 4 คณะอนุกรรมการไปวานนี้ว่าให้ไปศึกษาแนวทางการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าตามเป้าหมายว่า ต้องมีนโยบายอย่างไร ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็นฐานการผลิตของ 2 อุตสาหกรรมอยู่แล้ว”

DECENTRALIZATION คือต่อไปฐานการผลิตทั่วโลกจากกระจายไปยังประเทศต่าง ๆ ไม่ไปกระจุกอยู่ที่เดียวอีกต่อไปแล้ว อย่างน้อยจะต้องมี 2-3 ฐานการผลิตในประเทศต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยก็คือประเทศเป้าหมายในการลงทุน

ขณะเดียวกันจะมีการส่งเสริมการเชื่อมโยงความเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical hub) และการท่องเที่ยว ถ้าเราเปิดประเทศได้เร็วขึ้นกว่าเป้าหมายที่ต้องการในเดือนตุลาคม ก็จะมีส่วนช่วยส่งเสริมจีดีพีให้เติบโตได้ 4% ตามเป้าหมาย

“ภูเก็ตจะเป็นประจังหวัดโมเดลต้นแบบในการเปิดรับนักท่องเที่ยว โดยจะมีการหารือในที่ประชุม ศบศ. ถึงแนวทางในการเปิดรับนักท่องเที่ยวในวันพรุ่งนี้“

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ต่อไปเป้าหมายการท่องเที่ยวของเราจะไม่ใช่การมุ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนแต่เรายังมีช่องทางที่จะดึงดูดผู้สูงอายุที่เกษียณจากตะวันตก มาอยู่ในประเทศไทย คนกลุ่มนี้นอกจากจะมีเงินบำนาญเดือนละ 60,000 บาทแล้ว ยังมีออนท็อปเป็นเงินช่วยเหลือต่าง ๆ ซึ่งไทยจะเชื่อมโยง Bilateral หลายประเทศเราไม่ต้องดึงดูดถึง 40 ล้านคนขอแค่ 1 ล้านคนกลุ่มนี้เข้ามา เราก็ได้เงินแล้ว 2 ล้านล้านบาทแล้ว

ซึ่งรัฐบาลจะต้องเข้าไปช่วยแก้ไขกฎระเบียบอำนวยความสะดวกเช่นเรื่องเวิร์คเพอร์มิตวีซ่าที่คนเกษียณอายุสูงวัย จะต้องมารายงานตัว 90 วัน ต้องแก้ โดยจะมีการประชุม ease of doing business ในวันพรุ่งนี้

“ปีนี้เป็นปีที่สำคัญที่สุดเป็นปีที่ต้องช่วยกัน เพราะรัฐบาลจะยืนยันคงเป้าหมาย 4% จากที่หลายสำนักคาดการณ์ว่าจีดีพีโตแค่ 2 ถึง 3% เรายังเหลือส่วนต่างอีก 1% ประมาณ 1.5 ถึง 1.6 แสนล้านบาท เราต้องช่วยกันประคับประคอง ปีก่อนเราติดลบ 6% ถ้าปีนี้ได้ 4% ปีหน้าอีก 2% ก็จะกลับมา ผมมองว่าปี 65 จะเป็นปีแห่งการลงทุนสร้างอุตสาหกรรมใหม่สร้างอนาคตให้คนรุ่นถัดไปเข้มแข็ง”