“ผลไม้” ทะลักล้านตัน งัดแผนดัน “ส่งออก” โต 15%

ตลาดค้าส่งผลไม้ในกรุงเทพและปริมณฑล

เข้าสู่ฤดูร้อนหลายฝ่ายเริ่มเป็นห่วงฤดูผลไม้ที่กำลังจะออกสู่ตลาด ซึ่งมีการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตผลไม้ในปี 2564 จะเพิ่มขึ้น 23% จากปีที่ผ่านมา หรือจาก 4.4 ล้านตัน เป็นประมาณ 5.4 ล้านตัน

ส่งออกผลไม้

หรือเพิ่มขึ้นราว 1 ล้านตัน โดยผลไม้ที่คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตออกมากสุด คือ ทุเรียน ลำไย มังคุด เงาะ ลองกอง สับปะรด และลิ้นจี่

กระทรวงพาณิชย์ในฐานะเจ้าภาพได้เริ่มขับเคลื่อนแผนรองรับผลผลิตผลไม้เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ดึงภาครัฐและเอกชน 36 องค์กรร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “การขับเคลื่อนมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2564” 16 ด้าน เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาผลไม้ตกต่ำ

สำหรับ 16 มาตรการ ได้แก่ 1.เร่งรัดการตรวจรับรอง GAP มีเป้าหมายว่าปี 2564 จะตรวจรับรองให้ได้อย่างน้อย 120,000 แปลง

2.ผ่อนปรนกฎระเบียบการเคลื่อนย้ายแรงงาน เก็บผลไม้จากภาคตะวันออกไปสู่ภาคใต้ได้

3.ขอความร่วมมือ กอ.รมน.สนับสนุนกำลังพลช่วยเก็บและขนย้ายผลไม้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

4.ส่งเสริมผู้ประกอบการที่รวบรวมรับซื้อผลไม้ (ล้ง) กก.ละ 3 บาท

5.กระทรวงพาณิชย์สนับสนุนรถเร่ที่ไปรับซื้อผลไม้เพื่อนำไปขายปลีกให้ผู้บริโภค 4,000 ตัน คันละ 1,500 บาท

6.ขอให้ไปรษณีย์ไทยช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง จาก 95 บาท เหลือ 30 บาทต่อน้ำหนัก 10 กก. ตั้งเป้าหมายไว้ปริมาณ 2,000 ตัน

7.ประสานตลาดกลาง ตลาดสด สนามบิน ห้างค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ ห้างท้องถิ่น รวมถึงปั๊มน้ำมัน เปิดพื้นที่ให้เกษตรกรจำหน่ายผลไม้โดยตรง

8.ผลักดันการส่งออกผลไม้ช่วยสนับสนุนผู้ส่งออกผลไม้กก.ละ 2.50 บาท มีเป้าหมาย 60,000 ตัน

9.ส่งเสริม “อมก๋อยโมเดล” ซึ่งเป็นระบบเกษตรพันธสัญญา กับเกษตรกรปริมาณ 20,000 ตัน

10.ขอให้ทุกสายการบินสนับสนุนการโหลดนำผลไม้ขึ้นเครื่องบินได้ 25 กก.ฟรี

11.กระทรวงพาณิชย์ส่งเสริมการค้าออนไลน์ผ่าน 11 แพลตฟอร์ม พร้อมจัดอบรมกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ขายผลไม้ออนไลน์

12.ส่งเสริมการขายผลไม้ทั้งในและต่างประเทศ

13.ส่งเสริมการส่งออกออนไลน์ โดยมอบหมายให้ทูตพาณิชย์เป็นเซลส์แมนจัดเจรจาจับคู่ซื้อผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่ มี.ค.-พ.ย. 2564

14.ส่งเสริมการส่งออกผลไม้ในรูปแบบผสมผสาน (ไฮบริด) เช่น จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา เอเชียใต้ อินเดีย บังกลาเทศ ปากีสถาน เป็นต้น

15.ประชาสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นผลไม้ไทยผ่านสื่อ 5 ภาษา คืออังกฤษ ไทย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี

16.การบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด และ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าป้องกันการผูกขาด เพื่อดูแลการจำหน่ายและการซื้อผลไม้จากสวน

นายวิทยากร มณีเนตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าวว่า กรมได้มีแผนจัดกิจกรรมผลักดันการส่งออกผลไม้ในปี 2564 ไว้ 38 กิจกรรม ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตให้สอดคล้องกับ 16 มาตรการของกระทรวง

โดยแบ่งเป็นกิจกรรมรูปแบบออนไลน์ 6 กิจกรรม ออฟไลน์ 24 กิจกรรม และไฮบริด 8 กิจกรรม เริ่มตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป มีเป้าหมายเพื่อผลักดันการส่งออกผลไม้ขยายตัว 14-15% จากปี 2563

สำหรับกิจกรรมที่ดำเนินการ อาทิ การส่งเสริมการขาย offline/online in-store promotion ร่วมกับผู้นำเข้า ห้างสรรพสินค้า เพื่อให้กระจายสินค้าเข้าถึงผู้บริโภค ให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศ

เช่น ในจีนจะจัดงาน Thai Fruit Golden Months เจาะเมืองเป้าหมายที่สำคัญ 14 เมือง เข้าร่วมงานแสดงสินค้ารูปแบบไฮบริด เช่น Mirror & Mirror ในงาน China International Import Expo : CIIE ในเดือน พ.ย.นี้ และจัดงาน Top Thai Brands ในกัมพูชา เวียดนาม ญี่ปุ่น เอเชียใต้ จีน


นอกจากนี้จะจัดงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2021 ในประเทศเป็นงานแรกในเดือนพ.ค.นี้ และเจรจาในรูปแบบออนไลน์ งาน OBM Sourcing การจัดหาวัตถุดิบผลไม้สด อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม เพื่อช่วยกระจายสินค้าออกสู่ตลาด รักษาเสถียรภาพราคาผลไม้