ทุนไทยในเมียนมาร้องรัฐ ช่วยเงินกู้เสริมสภาพคล่อง เร่งฉีดวัคซีนชายแดนแม่สอดด่วน

“ปลัดพาณิชย์” ประชุมร่วมภาคเอกชนติดตามกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงในเมียนมา หลังสรุปข้อเสนอจากเอกชน เตรียมชง “จุรินทร์”ผลักดันมาตรการช่วยเหลือ ทั้งลดภาษีนิติบุคคล บุคคลธรรมดา ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ เร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่แม่สอด

วันที่ 26 มีนาคม 2564 นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับภาคเอกชน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจในเมียนมา รวมถึงผู้ประกอบการในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อหารือถึงผลกระทบและมาตรการช่วยเหลือ ว่า จากการประชุมหารือภาคเอกชน ขอให้ช่วยเรื่องลดภาษีนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา จากการเข้าไปลงทุน แม้จะไปทำธุรกิจในเมียนมา แต่มีรายได้ที่ไทย ก็ต้องยื่นเสียภาษี ขอให้พิจารณาประสานสถาบันการเงินปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับธุรกิจไทยที่ไปลงทุน และขอให้ช่วยประสานฉีดวัคซีนโควิด-19 ในพื้นที่แม่สอดโดยเร็วและเพียงพอ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการค้าขาย

อย่างไรก็ดี จากการหารือในวันนี้จะนำข้อสรุปที่ได้จากการหารือ และข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน นำเสนอให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อรับทราบและพิจารณาดำเนินการต่อไป

ส่วนสถานการณ์ด้านการค้า จากการหารือเห็นตรงกันว่าภาพรวมที่ด่านแม่สอด จ.ตาก การค้าขายยังเป็นปกติ มีการส่งออกนำเข้า มีรถบรรทุกสินค้าวิ่งข้ามไปมาวันละ 700-800 คัน ช่วงพีคๆ มีถึงวันละ 900 คัน ส่วนกรณีที่ตัวเลขการส่งออกในเดือนก.พ.2564 ที่ผ่านมา ลดลงถึง 29% แต่ยังสรุปไม่ได้ว่าเป็นเพราะเหตุการณ์ไม่สงบที่เกิดขึ้นหรือไม่ หรืออาจจะเป็นเพราะสาเหตุอื่น ทั้งนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ภาคเอกชนก็ยังให้ความกังวลการใช้มาตรการแซงชั่นเมียนมา จากต่างชาติจะส่งผลกระทบต่อการค้า การส่งออก โดยสินค้าบางรายการของไทยที่ไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในเมียนมา แล้วส่งออกไปยังประเทศที่แซงชั่น จะส่งออกไม่ได้ หรือธุรกิจที่ต้องใช้เทคโนโลยีจากประเทศที่แซงชั่น เช่น ธุรกิจพลังงาน ก็จะได้รับผลกระทบ

นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา (TMBC) กล่าวว่า การเข้าไปลงทุนทำธุรกิจของคนไทยในเมียนมา โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ได้รับผลกระทบหนัก ในหลายกลุ่มธุรกิจ รวมไปถึงสมาชิกของสภาธุรกิจไทย-เมียนมา กว่า 100 ราย โดยมีการประเมินว่าเศรษฐกิจของเมียนมาจะชะลอตัวลง และหากการชุมนุมยืดเยื้อ ก็ยิ่งชะลอตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง กระทบมาแล้ว 1 เดือน และกังวลปัญหาจะยาว 3-6 เดือนจะทำให้ธุรกิจลำบากมากทำให้ผู้ประกอบการต้องประคองตัวเองให้ได้มากสุดน่าจะอยู่ได้ 6 เดือน

“เอกชนไทยในเมียนมาจำเป็นต้องทำตัวเป็นกลางมากที่สุดในตอนนี้ หลายกิจการปิดกิจการชั่วคราว ซึ่งต้องประคองตัวเองไปก่อน เพื่อให้อยู่ได้ ส่วนเอกชนรายใหญ่ไม่มีปัญหายังอยู่และปรับตัวได้ อย่าง ปตท. ยังคงทำธุรกิจได้ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องของการขนส่งก๊าซหรือการทำธุรกิจในเมียนมาแต่อย่างไร แต่ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”