จุรินทร์ เตรียมแผนกู้คลองสุเอซยืดเยื้อ เปลี่ยนเส้นทางวิ่ง ช้าลง 10 วัน

จุรินทร์

จุรินทร์ รองนายกฯ-รมว.พาณิชย์ สั่ง. เตรียมแผนรับมือปัญหาเรือ Ever-Given ปิดเส้นทางเดินเรือส่งออกคลองสุเอซอัมพาต เปลี่ยนเส้นทางกูดโฮปทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา-อ้อมยุโรป ทำให้การส่งสินค้าล่าช้า 10 วัน

วันที่ 27 มีนาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ติดตามการกู้เรือสินค้ากรณีเรือ Ever-Given ติดขวางคลองสุเอช เป็นเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ เสียหลักเกยตื้น ระหว่างนี้กำลังมีความพยายามเร่งกู้เรือเพื่อให้การเดินเรือสามารถเดินหน้าไปได้ ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

นายจุรินทร์กล่าวว่า ระหว่างนี้กระทรวงพาณิชย์ ได้ประสานงานกับผู้ส่งออก สายการเดินเรือ และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศแล้วว่า หากการกู้เรือยืดเยื้อ จะแก้ปัญหาโดยการเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือใหม่ในการขนส่งสินค้า จากเดิมที่ผ่านคลองสุเอซไปยุโรป และภูมิภาคอื่น จะเปลี่ยนไปใช้เส้นทางผ่านแหลมกูดโฮป ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ก่อนอ้อมไปยุโรป จะต้องใช้เวลามากขึ้นประมาณ 10 วันและค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน จะประสานงานกับผู้นำเข้าและส่งออก ขอขยายเวลาการส่งสินค้า เพราะติดปัญหาเรือขวางสุเอซ โดยให้สำนักงานส่งเสริมการค้าประจำประเทศอียิปต์เป็นตัวกลางในการประสานงาน เนื่องจากเป็นห่วงเรื่องค่าขนส่งที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้สำนักงานพาณิชย์ต่างประเทศ มีการติดตามอย่างใกล้ชิดและประสานงาน ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ จะหารือแนวทางช่วยเหลือภาคเอกชนต่อไป

รายงานจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุด้วยว่าเรื่อง กรณี เรือ Ever-Given ติดขวางคลองสุเอซ ปัญหาที่เห็นได้ชัดขณะนี้คือ ราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวขึ้น เนื่องจากคลองสุเอซเป็นช่องทางสำคัญในการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นสัดส่วนราว 5-10% การขนส่งทั้งโลก รวมทั้งปริมาณการค้าราว 12% ของโลกที่ผ่านคลองสุเอซ

กระทรวงพาณิชย์ ประเมินผลในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งออกของไทยไปภูมิภาคแอฟริกาตอนเหนือโดยเฉพาะอียิปต์ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับต้นของไทยและเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่ง เบื้องต้นคาดว่าจะส่งผลกระทบกับสินค้าที่อยู่ระหว่างการส่งมอบในเดือนมีนาคม ที่จะเกิดการติดขัดและล่าช้าออกไป โดยสินค้าสำคัญ ได้แก่ สินค้าอาหารแปรรูป ปลาทูนากระป๋อง ชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราวประมาณ 30% ของการส่งออกของไทยมาอียิปต์

อย่างไรก็ดี สำหรับการส่งออกในเดือนเมษายนของไทยที่จะส่งไปอียิปต์ น่าจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวมากนัก เนื่องจากผู้ซื้อชะลอคำสั่งซื้อออกไปเพื่อรอดูผลการเริ่มใช้งานระบบการแจ้งข้อมูลการนำเข้าสินค้าล่วงหน้า (ACI) ที่รัฐบาลอียิปต์ประกาศเริ่มใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ หลายฝ่ายยังไม่แน่ใจเกี่ยวแนวทางการปฏิบัติและวิธีในการส่งเอกสารซึ่งจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ส่งออก/ชิปปิ้งไทยที่จะต้องส่งเอกสารผ่านระบบ blockchain แทนการส่งผ่าน courier service ในรูปแบบเดิม ๆ

นอกจากนี้เหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสินค้าไทยที่ขนส่งผ่านคลองสุเอซเพื่อส่งต่อไปภูมิภาคอื่นโดยเฉพาะยุโรป ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยเช่นเดียวกัน

ดังนั้นข้อเสนอแนะเพื่อรองรับการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ให้คอยติดตาม ประสานงานและแก้ไขปัญหาพร้อมรายงานความคืบหน้า