40 เอกชนผุดส.การค้าชีวมวล ร้องรัฐดูแลราคา-แก้กม.สวนป่า

นายวัฒนพงษ์ ทองสร้อย ผู้ก่อตั้งสมาคมการค้าชีวมวลไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้กลุ่มผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล เช่น ไม้สับ ซังข้าวโพด แกลบ ฯลฯ เพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า ได้ยื่นขอจัดตั้ง “สมาคมการค้าชีวมวลไทย” กับกระทรวงพาณิชย์แล้ว ในเบื้องต้นมีสมาชิกในสมาคมแล้วรวม 40 ราย จากที่มีผู้ผลิตในระบบรวมทั้งสิ้นกว่า 200 ราย การจัดตั้งสมาคมครั้งนี้เพื่อร่วมกันผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกันแก้ไขประเด็นที่เป็นอุปสรรค คือ 1) แก้ไขพระราชบัญญัติสวนป่า ที่กำหนดไว้ว่า ไม่ว่าจะเป็นสวนป่าของภาครัฐหรือเอกชนนั้น ในกรณีที่จะมีการแปรรูปไม้จะต้องยื่นขออนุญาตต่อกรมป่าไม้ ซึ่งค่อนข้างใช้เวลา

2) ต้องการให้ภาครัฐดูแลราคาเชื้อเพลิงชีวมวลทั้งหมดให้เป็นธรรมมากขึ้น เพราะแม้ว่าจะเป็นของเหลือใช้จากภาคเกษตร แต่ก็มีต้นทุน เช่น การขนส่ง การแปรรูป และอื่น ๆ และ 3) การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า FiT (Feed in Tariff) ที่ปรับลดลง ทำให้ราคาเชื้อเพลิงชีวมวลถูกบีบให้ขายราคาต่ำ เช่น ราคาไม้สับในปัจจุบันอยู่ที่ 1,250-1,300 บาท/ตันเท่านั้น ซึ่งไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่เกิดขึ้น เช่น ค่าแรง ที่แม้จะกำหนดค่าแรงขั้นต่ำไว้ 300 บาท ในขณะที่ค่าแรงที่ต้องจ่ายจริงอยู่ที่มากกว่า 350 บาท

ทั้งนี้ มองว่าตลาดเชื้อเพลิงชีวมวลยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากมูลค่าตลาดรวมที่มีอยู่ 50,000 ล้านบาท เพราะภาครัฐมีนโยบายที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มอีกร้อยละ 40 ในขณะที่ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (2558-2579) หรือ AEDP (Alternative Energy Development Plan) ที่ใช้ในปัจจุบันมีสัดส่วนพลังงานทดแทนร้อยละ 25 เท่านั้น ซึ่งหากภาครัฐต้องการส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าควรดูแลให้ครบทั้งห่วงโซ่ตั้งแต่ผู้ปลูก ผู้ผลิต ไปจนถึงโรงไฟฟ้า

“ขณะนี้การใช้เชื้อเพลิงชีวมวลไม่ได้จำกัดแค่การใช้ในโรงไฟฟ้าเท่านั้น ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมที่เดิมใช้น้ำมันเตา และถ่านหินได้หันมาใช้เชื้อเพลิงชีวมวลมากขึ้น เพราะการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่รอบโรงงาน ซึ่งเมื่อมองประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับทั้งในเรื่องของการผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังลดผล
กระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย”