เอกชนชี้สินค้าไทย 600 ตู้ค้างบนเรือ Ever-Given รอขนส่ง

Photo by - / Suez CANAL / AFP

“จุรินทร์” สั่งการทูตพาณิชย์ อียิปต์ ติดตามปัญหาเรือ Ever-Given รับกระทบต่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ขณะที่ผู้ส่งออก ชี้สินค้าไทยในเรือปัญหามีอยู่ 600 ตู้ติดค้าง ส่วนเรือขนส่งสินค้ากว่า 300 ลำลอยค้าง พร้อมตู้สินค้ากว่า 8 แสนตู้รอขนส่ง

วันที่ 29 มี.ค. 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สำหรับกรณีเรือสินค้า Ever-Given ติดขวางคลองสุเอช ซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่ 400 เมตร เสียหลักเกยตื้น และอยู่ระหว่างเร่งกู้เรือเพื่อให้การเดินเรือสินค้าสามารถเดินหน้าไปได้นั้น

เบื้องต้น ตนได้สั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ประจำประเทศอียิปต์ ติดตามสถานการณ์ซึ่งก็มีการรายงานมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนจะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการค้า การส่งออกหรือไม่ อยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบ โดยขึ้นอยู่ว่าจะสามารถเปิดการเดินเรือได้เร็วหรือไม่

“แต่ยอมรับว่าจากรณีนี้ ส่งผลกระทบมากสุดคงเป็นเรื่องของการขนส่งน้ำมันที่ใช้เส้นทางคลองสุเอซ โดยคาดว่าจะมีผลต่อราคาน้ำมัน และเชื่อมโยงไปยังต้นทุนการผลิตสินค้าในทุกประเทศ รวมถึงไทย และหากสินค้าตกค้างนาน เปลี่ยนเส้นทางเดินเรือไปทางอฟริกาใต้เพื่อส่งสินค้าไปยุโรป ซึ่งใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 5-10 วัน อาจจะมีผลกระทบต่อการส่งออกในระยะยาว”

อย่างไรก็ดี สำหรับความกังวลเรื่องของการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์จากกรณีที่เกิดขึ้น ก็อยู่ระหว่างการประสานและหาทางแก้ไข หรือปรับสินค้าบางรายการใช้เรือเบ้าเพื่อลดการเบียดเสียดการใช้ตู้ในการขนส่งสินค้า ส่วนปัญหาเรื่องของการส่งมอบสินค้าอาจจะล่าช้า เชื่อว่าผู้ส่งออกคงมีการประสานไปยังผู้นำเข้าได้ เนื่องจากเหตุการณ์นี้เป็นเหตุสุดวิสัย ผู้นำเข้าคงเข้าใจ และหากมีปัญหาต้องการความช่วยเหลือ พร้อมประสานทูตพาณิชย์ได้

รายงานจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุด้วยว่าเรื่อง กรณี เรือ Ever-Given ติดขวางคลองสุเอซ ปัญหาที่เห็นได้ชัดขณะนี้คือ ราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวขึ้น เนื่องจากคลองสุเอซเป็นช่องทางสำคัญในการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นสัดส่วนราว 5-10% การขนส่งทั้งโลก รวมทั้งปริมาณการค้าราว 12% ของโลกที่ผ่านคลองสุเอซ

ประเมินผลในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งออกของไทยไปภูมิภาคแอฟริกาตอนเหนือ โดยเฉพาะอียิปต์ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับต้นของไทย และเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่ง เบื้องต้นน่าจะส่งผลกระทบกับสินค้าที่อยู่ระหว่างการส่งมอบในเดือน มี.ค. ที่จะเกิดการติดขัดและล่าช้าออกไป

โดยสินค้าสำคัญ ได้แก่ สินค้าอาหารแปรรูป ปลาทูน่ากระป๋อง ชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราวประมาณ 30% ของการส่งออกของไทยมาอียิปต์ ส่วนการส่งออกในเดือน เม.ย 2564 ไปอียิปต์ไม่น่าได้รับผลกระทบ

เนื่องจากผู้ซื้อชะลอคำสั่งซื้อออกไปเพื่อรอดูผลการเริ่มใช้งานระบบการแจ้งข้อมูลการนำเข้าสินค้าล่วงหน้า (Advance Cargo Information System: ACI) ที่รัฐบาลอียิปต์ประกาศเริ่มใช้ในวันที่ 1 เม.ย. 2564 ที่จะถึงนี้ เพราะหลายฝ่ายยังไม่แน่ใจเกี่ยวแนวทางการปฏิบัติและวิธีในการส่งเอกสาร ซึ่งจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ส่งออก ชิปปิ้งไทยที่จะต้องส่งเอกสารผ่านระบบ blockchain แทนการส่งผ่าน courier service ในรูปแบบเดิม ๆ

นางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า จากการติดตามปัญหาขณะนี้เรือ Ever-Given สามารถลอยขึ้นมาได้แล้ว เนื่องจากมีการขุดทรายไปกว่า 27,000 คิว เพื่อให้เรือลอยตัวขึ้น ทั้งนี้ เพื่อที่จะให้สามารถเปิดทางให้เรือขนส่งสินค้าที่ลอยรำอยู่ทั้ง 2 ฝั่งกว่า 300 ลำสามารถผ่านไปได้ ซึ่งหากสามารถเปิดทางได้ 1 เส้นทาง จะทำให้เรือสินค้าก็เชื่อว่าจะสามารถระบายเรือสินค้าได้ในระดับหนึ่ง

“การเปิดเส้นทางเดินเรือ 1 เส้นทางได้ ก็จะทำให้เรือขนส่งสินค้าที่ลอยลำผ่านไปได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูว่าจะเปิดได้มากน้อยแค่ไหน หากเป็นเรือขนาดเล็กเชื่อว่าไม่มีปัญหา แต่สำหรับเรือขนาด 400 เมตร ซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่ บรรจุตู้สินค้าได้ 24,000 ตู้ อาจจะผ่านลำบาก เพราะความกว้างของคลองสุเอซไม่ได้กว้างมาก ดังนั้น การจัดการจราจรเพื่อให้เรือผ่านไปได้ ก็ต้องมีการจัดระเบียบด้วยเช่นกัน”

ขณะนี้เรือ 300 ลำ ที่ลอยลำอยู่ขนส่งล่าช้าออกไปแล้ว 1 อาทิตย์ และมีตู้สินค้าที่ตกค้างในอยู่ประมาณ 800,000-1,000,000 ตู้ ส่วนมีสินค้าไทยมีประมาณเท่าไรก็อยู่ระหว่างการติดตามอยู่ แต่สำหรับตู้สินค้าไทยที่อยู่บนเรือ Ever-Given มีอยู่ประมาณ 600 ตู้ สินค้าส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้าที่ส่งออกไปยุโรป เช่น สินค้าอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ถ้าหากสามารถเปิดให้เดินเรือได้ใน 1-2 วันนี้ ก็เชื่อว่าผู้ส่งออก สายเดินเรือ ยังคงใช้คลองสุเอซในการขนส่งสินค้า แต่หากใช้เวลานานในการแก้ไขผู้ส่งออกก็ต้องประเมินก่อนว่าจะเปลี่ยนเส้นทางขนส่งหรือไม่ เรือที่ติดปัญหาจะแก้ไขได้เร็วหรือไม่ เพราะการเปลี่ยนเส้นทางย่อมมีเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่าย ค่าระวางเรือด้วยและระยะเวลาในการส่งออกที่เพิ่มขึ้น และเสียโอกาสในการแข่งขันด้วย