วิสาหกิจชุมชน แห่ตั้งบริษัทปลูกข้าวเจ้า ดันยอดจดทะเบียน ก.พ. พุ่ง 13%

ข้าว

กรมพัฒฯ เผยยอดจดทะเบียนบริษัทตั้งใหม่ ก.พ. 2564 มีจำนวน 7,265 ราย เพิ่มขึ้น 13% หลังคนมั่นใจทำธุรกิจ เศรษฐกิจฟื้น เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 มาตรการรัฐช่วย ขณะที่ธุรกิจปลูกข้าวเจ้า ติด 1 ใน 3 ตั้งใหม่สูงสุด ทั้งปีไม่ต่ำกว่า 64,000-65,000 ราย

วันที่ 30 มี.ค. 2564 นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า สถิติการจดทะเบียนนิติบุคคลเดือน ก.พ. 2564 มีจำนวน 7,265 ราย เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 2564 ลดลง 0.3% เทียบกับ ก.พ. 2563 เพิ่มขึ้น 13% มีทุนจดทะเบียน 19,717.90 ล้านบาท

โดยบริษัทตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 570 ราย คิดเป็น 8% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 283 ราย คิดเป็น 4% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจปลูกข้าวเจ้า จำนวน 225 ราย คิดเป็น 3%

ทศพล ทังสุบุตร

“ธุรกิจปลูกข้าวเจ้า ขึ้นมาแซงธุรกิจร้านอารหาร ภัตตาคาร ที่เป็นธุรกิจติด 1 ใน 3 ที่มีการจดทะเบียนใหม่ เดิมธุรกิจนี้ทำการจดทะเบียนในชื่อสมาชิก เสียภาษีบุคคลธรรมดา แต่เพราะการสนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชนหันมาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมากขึ้น ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ส่งผลให้มีการเข้ามาจดทะเบียนมากขึ้นเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ”

ส่วนยอดรวมบริษัทตั้งใหม่ 2 เดือนปี 2564 (ม.ค.-ก.พ.) มีจำนวน 14,548 ราย เพิ่มขึ้น 9% มีทุนจดทะเบียน 50,648.04 ล้านบาท

ทั้งนี้ การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่สูงเกิน 7,000 ราย 2 เดือนติดต่อกัน แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของการทำธุรกิจ เพราะคนมั่นใจเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น มั่นใจในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเริ่มมีการฉีดวัคซีน และยังมาตรการสนับสนุนของรัฐบาลที่ให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี รวมทั้งจะมีการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวฟื้นตัว

สำหรับบริษัทเลิกกิจการในเดือน ก.พ. 2564 มีจำนวน 583 ราย เทียบกับ ม.ค. 2564 ลดลง 47% เทียบกับก.พ. 2563 ลดลง 28% มีทุนจดทะเบียนเลิก 6,366.74 ล้านบาท โดยธุรกิจ 3 อันดับที่เลิกมาก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 53 ราย คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 33 ราย คิดเป็น 6% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 16 ราย คิดเป็น 3% ส่วนยอดรวมเลิกกิจการ 2 เดือนปี 2564 มีจำนวน 1,688 ราย ลดลง 24% มีทุนจดทะเบียนเลิก 14,277.28 ล้านบาท

นายทศพล กล่าวว่า แนวโน้มการจดทะเบียนในเดือน มี.ค.2564 จะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง เพราะคนเริ่มมั่นใจในการลงทุนทำธุรกิจ คาดว่ายอดรวมจดทะเบียนตั้งใหม่ไตรมาสแรก จะอยู่ที่ระดับ 19,000-20,000 ราย ส่วนไตรมาสที่ 2 ก็จะยังดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และยอดรวมทั้งปี จะยังเป็นไปตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ที่ 64,000-65,000 ราย

ทั้งนี้ ล่าสุด ณ วันที่ 28 ก.พ.2564 มีธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 781,829 ราย มูลค่าทุน 19.26 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 190,849 ราย คิดเป็น 24.41% บริษัทจำกัด จำนวน 589,969 ราย คิดเป็น 75.43% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,284 ราย คิดเป็น 0.16%

การลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าวเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น มีจำนวน 34 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 16 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 18 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 3,768 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 11 ราย เงินลงทุน 1,475 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ จำนวน 5 ราย เงินลงทุน 58 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา จำนวน 4 ราย เงินลงทุน 114 ล้านบาท