“แสงชัย” นำสมาพันธ์ SMEs ปั้นกองทุนฟื้นฟู NPL รายย่อย

แสงชัย ธีรกุลวาณิช
แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย
สัมภาษณ์พิเศษ

ปัจจุบันเอสเอ็มอีทั่วประเทศกว่า 3.14 ล้านราย ยังต้องต่อสู้ฝ่าวิกฤตโควิด-19 แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายช่วยเหลือสภาพคล่องเงินกู้ซอฟต์โลนมาช่วย ปลดล็อกเกณฑ์ให้ แต่ต้องยอมรับว่าความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ยังถูกตั้งกำแพงด้วยกฎระเบียบเดิมของสถาบันการเงิน หนีไม่พ้นที่สุดท้ายเอสเอ็มอีบางรายอาจต้องกลายเป็นหนี้เสีย หรือ NPL

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช” ประธานสมาพันธ์ SME ไทย ซึ่งได้รับเลือกตั้งขึ้นมารับตำแหน่งใหม่ ถึงแนวทางแก้ปัญหาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ภายใต้ภารกิจที่ต้องการให้ SMEs “อยู่รอด อยู่เป็น อยู่เย็น และอยู่ยาว”

ปัญหาถูกแบงก์ปฏิเสธ

เป้าหมายของเราต้องการให้ SMEs สามารถอยู่ได้ในวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นหนี้ NPL ที่ไม่เพียงถูกปฏิเสธก่อนที่จะเข้าถึงแหล่งทุน ด้วยหลักเกณฑ์คุณสมบัติที่ไปต่อไม่ได้ของสถาบันการเงินแทบจะทุกแห่ง

เช่น ปกติการกู้แบงก์จะดูยอดขายทั้งปี ณ ปีล่าสุด สมมุติมี SMEs รายหนึ่งมีรายได้ ยอดขาย และกำไรดีมาตลอดจนถึงปี 2562 แต่พอเข้าปี 2563 เจอโควิด-19 ทำให้ผลประกอบการรายได้ต่าง ๆ ขาดทุน แบงก์ใช้ยอดผลประกอบการเพียงแค่ปีเดียว คือปี 2563 ที่ขาดทุนมาพิจารณาไม่ปล่อยกู้ ทั้งที่ปีอื่น ๆ กำไรมาโดยตลอด เอสเอ็มอีกลุ่มนี้จึงไม่สามารถเข้าไปใช้เงินกู้สถาบันการเงินได้ ต้องหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบทั้งที่รู้ว่าดอกเบี้ยสูงกว่า 20% แต่จะทำอย่างไรได้เมื่อแบงก์ไม่ปล่อย จะปล่อยให้กิจการล้มก็ไม่ได้

เราก็เข้าใจที่แบงก์ต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ ป้องกัน NPL ซึ่งจะกระทบการเงินของแบงก์เอง หรืออย่างซอฟต์โลนที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 500,000 ล้านบาท มาช่วย SMEs จากโควิด-19 รอบแรกเมื่อปี 2563 ปล่อยสินเชื่อได้เพียง 130,000 ล้านบาท มีผู้กู้ประมาณ 70,000 ราย สะท้อนว่า SMEs ก็ยังคงไม่สามารถเข้าถึงอยู่ดี เพราะติดปัญหาหลักเกณฑ์เดิม ๆ ติดล็อกมาตลอด ขณะที่รัฐกำลังเร่งดำเนินการช่วยเหลือ เกณฑ์เหล่านี้แบงก์ต้องปลดล็อก

สมาพันธ์เคยเสนอว่ารัฐต้องมีการช่วยเหลือทางออกจากกฎเกณฑ์ของแบงก์ จึงจะดึง SMEs เส้นเลือดของเศรษฐกิจไทยให้พ้นเส้นตายได้โดยจะต้องแบ่งแยก สำหรับในรายที่ไปต่อไม่ได้จริง ๆ ต้องยอมให้ตาย แต่บางรายยังมีทางออก มีโอกาสที่จะฟื้นกลับมาได้

ชงตั้งกองทุน NPL

ในเร็ว ๆ นี้เตรียมเสนอโมเดลให้กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพ สนับสนุนจัดตั้งกองทุนฟื้นฟู NPL เพื่อการพัฒนา mSMEs ซึ่งคอนเซ็ปต์คือกลุ่มที่มีหนี้ NPL รวมถึงหนี้นอกระบบ ให้มีโอกาสไปต่อ แข็งแรงขึ้น โดยมีสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารรัฐเป็นผู้ดูแล

โครงสร้างการบริหาร คือ มีสถาบันพัฒนาสินทรัพย์ NPL เพื่อการฟื้นฟู ดึงสินทรัพย์ของเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้ที่มีมาบริหารจัดการให้เกิดมูลค่า โดยการตั้งศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงินขึ้นมา เพื่อดูระบบบัญชี และการประนอมหนี้

เพราะปัญหาเอสเอ็มอีบางส่วนเกิดจากขาดการวางแผนที่ดี มีศูนย์วางแผนกลยุทธ์ฟื้นฟูพัฒนาธุรกิจ ศูนย์พัฒนาการตลาดและการขายเพิ่มมูลค่า ศูนย์ตรวจสอบ ประเมินผล และรายงานสถานะ ซึ่งทั้ง 4 ศูนย์นี้ทำหน้าที่แทบจะครบทั้งหมดในการที่จะดึงให้เหล่า SMEs หรือ mSMEs ทั้งที่เป็นนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา กลับมาสู่ระบบของการเป็นผู้ประกอบการ ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ไข NPL และหนี้นอกระบบ

ในระหว่างที่ฟื้นฟู สิ่งสำคัญคือ ต้องมีสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สร้างสรรค์ สร้างระบบที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ มาถอดบทเรียนปัญหาอุปสรรค เพื่อจะได้วางแผน ประเมินผล ติดตาม mSMEs

ซึ่งแน่นอนว่าการบ่มเพาะด้วยเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ด้วยการ reskills และ upskills สำคัญมาก เพราะสิ่งนี้มันจะนำไปสู่การสร้างความแข็

งแรงให้เขา โดยอาจจะอาศัยเครือข่ายหน่วยงาน เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ดึงเขาเข้าไปอบรม

ไม่ซ้ำซ้อนกองทุนเดิม

ต้องยอมรับว่าเดิมมีแหล่งทุนหลากหลายประเภท มีกองทุนลักษณะต่าง ๆ เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) หรือธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) หรือกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ทั้งการจัดอบรมความช่วยเหลือด้านการเงินผ่านกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (กองทุน 20,000 ล้านบาท)

ซึ่งอนุมัติออกมาเมื่อปี 2560 แต่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนทุกประเภทยังมีสัดส่วนที่น้อย แต่ที่ยังไม่เห็นจำนวน NPL เอสเอ็มอี เพราะภาพรวมตัวเลขกล่องแดงที่ไปขอให้ปรับโครงสร้างหนี้ มี 11 ล้านบัญชี มันนับรวมเอกชนทุกขนาดและรัฐบาลมีการต่อมาตรการพักชำระหนี้

ลองคิดดูว่าเมื่อมาตรการพักชำระหนี้จากโควิด-19 หมดลง แล้วยังไม่มีรายได้เข้ามาทันทีอาจใช้เวลาอีกหลายเดือน ดอกเบี้ยแบงก์ก็เดินต่อไป สุดท้ายแล้วเขาก็เป็น NPL

ดังนั้น ทางออกการช่วยเหลือ SMEs นั้น รัฐตั้งกองทุนขึ้นมา นำเงินก้อนใส่เข้ามา แล้วกำหนดเงื่อนไขใหม่ ที่จะเป็นการเปิดทางให้เหล่าผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาเข้าถึงให้ได้ ปรับหลักเกณฑ์อะไรก็ตามที่เป็นการฉุดให้เขาตาย ทั้งหมดนี้เป้าหมายเพื่อที่จะสร้างนักธุรกิจขึ้นมา จาก mSMEs อยู่ที่ 3.1 ล้านราย จ้างงาน 12 ล้านคน หากพัฒนาให้เขาเข้มแข็งสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างเครือข่ายพัฒนาสู่การสร้างสตาร์ตอัพ

นอกจากนี้ เรามองว่า SMEs 1 ราย กู้เงินจากสถาบันการเงิน 1,000,000 บาท ใช้หนี้ไปแล้ว 500,000 บาท เจอวิกฤตโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดชำระหนี้ไป 3 เดือนหรือมากกว่านั้น แบงก์ควรคิดดอกเบี้ยเขาในส่วนเดือนที่เขาหยุดไป ไม่ใช่คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นคงเหลือ คือ 500,000 บาท เพราะการทำแบบนี้ยิ่งเพิ่มภาระให้เขาไปต่อไม่ไหว

เอสเอ็มอีต้องปรับตัวด้วย

ในส่วนของ SMEs ก็ต้องปรับตัวเอง โดยยกระดับขีดความสามารถ ซึ่งภารกิจหลักสมาพันธ์จะขยายฐานสมาชิก เพื่อส่งเสริมด้านความรู้ เช่น การสร้างนวัตกรรม การหาช่องทางแหล่งต้นทุนต่ำให้กับธุรกิจ การจัดทำมาตรฐานบัญชีเดียว

ด้านการตลาด ทำให้เกิดแพลตฟอร์มออนไลน์ ชูจุดเด่นสินค้าและบริการจาก SMEs ทั้ง 77 จังหวัด โดยสร้างเครือข่ายร่วมกับสถาบันการศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง