
หอการค้า เผยเงินสะพัดสงกรานต์ 64 ต่ำสุดรอบ 9 ปี เพียง 1.1 แสนล้านบาท ชี้คนยังกลัวโควิดไม่กล้าใช้เงิน กิจกรรมส่วนใหญ่ทำบุญ อยู่กับครอบครัว
วันที่ 1 เมษายน 2564 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2564 จำนวน 1,256 ตัวอย่าง
- บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เริ่มใช้ 1 เม.ย.66 รับเงินคนละกี่บาทต่อเดือน เช็กที่นี่
- ยุบสภา บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้สิทธิ 1 เม.ย.ตามเดิมหรือไม่ คลังชี้แจงแล้ว
- กรมอุตุนิยมวิทยาเตือน 28 จังหวัด พายุฤดูร้อนถล่ม-ฟ้าผ่า-ลูกเห็บตก
พบว่า การใช้จ่ายเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ยังไม่คึกคักมากนัก มีเงินสะพัด 1.12 แสนล้านบาท ลดลง 16.6% เมื่อเทียบกับสงกรานต์ปี 2562 ต่ำสุดในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่ปี 2556 ที่มีมูลค่าการใช้จ่าย 114,119 ล้านบาท
ทั้งนี้ ไม่นับสงกรานต์ปี 2563 เนื่องจากประเทศไทยงดการจัดกิจกรรมสงกรานต์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19

จากการสำรวจ หลังจากที่รัฐบาลมีการประกาศงดกิจกรรมการเล่นสาดน้ำ ทำให้ประชาชนหันไปวางแผนทำบุญ, ทำอาหารอยู่กับบ้าน, รดน้ำดำหัวและเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ ในขณะที่การวางแผนเดินทางท่องเที่ยวยังคงใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในหลายพื้นที่ ส่งผลกับความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายเงินถึงแม้ว่าจะมีมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาล
ส่วนการสำรวจพฤติกรรมคนไทยมีการใช้จ่ายลดลง เนื่องจากต้องการประหยัด ขณะที่การเดินทางท่องเที่ยวจะเป็นระยะสั้น 3-5 วัน ซึ่งพบข้อสังเกตว่า เริ่มมีบรรยากาศการเดินทางมากขึ้น โดยเฉพาะไปเที่ยวทางภาคใต้เพิ่มขึ้นเท่าตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาล ทั้ง โครงการเราชนะ ท่องเที่ยวคนละครึ่ง ขณะที่ภาพรวมคนยังนิยมเดินทางรถยนต์ยังเป็นตัวหลัก
“ส่วนทิศทางเศรษฐกิจเวลานี้ มองว่ามาตรการของรัฐยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และคาดหวังว่าเทศกาลสงกรานต์จะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งเดิมที่หอการค้าประเมินจะมีเม็ดเงินสะพัดช่วงสงกรานต์ปี 2564 ประมาณ 140,000 ล้านบาท แต่จากผลสำรวจการใช้จ่ายครั้งนี้เม็ดเงินหายไป ราว 25,000-30,00 ล้านบาท เพราะประชาชนยังมีความกังวลต่อโรคโควิด-19 ระมัดระวังการใช้จ่าย และมองว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ทำให้บรรยากาศเศรษฐกิจยังไม่เห็นสัณญาณการฟื้นตัว และประชาชนมองว่าเศรษฐกิจปี 2564 จะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3”
นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า ส่วนทิศทางเศรษฐกิจในปีนี้มองว่ามีสัญญาณฟื้นตัวแต่ยังไม่โดดเด่น ดังนั้น รัฐบาลยังมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการคนละครึ่งเฟส 3 เร่งใช้จ่ายในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศช่วงระหว่างวัน
นอกจากนี้ มองว่ารัฐบาลยังมีความจำเป็นดูแลเรื่องของภาษี ซึ่งหอการค้าสนับสนุนให้รัฐบาลยังคงอัตราเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อยู่ร้อยละ 7 อย่างน้อยเป็นเวลา 2 ปี เพราะยังมีความจำเป็นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในเวลานี้
สำหรับแผนการเปิดแซนด์บ็อกซ์ภูเก็ต-สมุย ของรัฐบาล ด้วยการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มโดยไม่ต้องกักตัว รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความกังวล เนื่องจากคนไทยบางส่วนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19
ดังนั้น หอการค้าสนับสนุนแนวคิดของภาคเอกชนหอการค้าไทย ที่จะให้รัฐบาลมีการส่งเสริมเรื่องฉีดวัคซีน โดยการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาช่วยรัฐบาลในการเสริมฉีดวัคซีน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ดังนั้นการเปิดแซนด์บ็อกซ์ในเดือนกรกฎาคม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในจังหวัดภูเก็ตก่อน