โควิดฉุดการ์เมนต์วิกฤตหนัก ซาบีน่า-ไนซ์กรุ๊ป ชูออนไลน์เพิ่มยอดขาย

บิ๊กการ์เมนต์ “ซาบีน่า-ไนซ์กรุ๊ป” แนะเอกชนปรับตัว หันทำตลาดออนไลน์ให้สอดรับพฤติกรรมการค้าของผู้ซื้อยุคใหม่ หลังเทรนด์โลกเปลี่ยนแบรนด์เนมดังแห่ขายออนไลน์ มั่นใจกระตุ้นยอดขายโต 10-15%

ในปี 2563 เป็นปีแรกที่การส่งออกเครื่องนุ่งห่มไทยติดลบ 17.24% ผลพวงจากโควิด-19 ทำให้การจับจ่ายทุกอย่างชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ

ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหา หลายค่ายปรับตัวไปผลิตหน้ากากอนามัย เพื่อส่งออกชดเชยรายได้หลัก และล่าสุดในช่วง 2 เดือนแรก ยอดส่งออกยังติดลบ 17%

นายบุญชัย ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) หรือ SABINA ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชุดชั้นในแบรนด์ “ซาบีน่า” เปิดเผยระหว่างงานเสวนา “เจาะทิศทาง วางอนาคต อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย”

ซึ่งจัดโดยสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยว่า จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการค้าปลีกในกลุ่มการ์เมนต์ ยอดขายหายไปกว่าครึ่ง ซึ่งรวมไปถึงตัวผลิตภัณฑ์ของบริษัทด้วย

“ผู้บริโภคมีพฤติกรรมชะลอการใช้จ่ายและซื้อน้อยลง เนื่องจากกังวลเรื่องของค่าใช้จ่ายประจำวัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจากมาตรการต่าง ๆ ภาครัฐทำให้ยอดขายดีขึ้น จึงคาดว่าปีนี้จะมีเป้าหมายขยายตัว 10-15%”

ทั้งนี้ บริษัทได้ปรับกลยุทธ์ทางการตลาดโดยมุ่งเน้นทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ที่เข้าถึงผู้ซื้อมากขึ้น

“การปรับกลยุทธ์ทางการตลาดล้อไปกับมาตรการรัฐ สิ่งที่สำคัญที่บริษัทปรับตัวคือ การขายในรูปแบบออนไลน์ อีคอมเมิร์ซมากขึ้น จากเดิมมีพนักงาน 2 คนที่ดูขายออนไลน์ แต่ตอนนี้เพิ่มเป็น 30 คน

ซึ่งก็สอดรับกับพฤติกรรมของผู้ซื้อ ทำให้ยอดขายเติบโต ปัจจุบันอยู่ที่ 900 ล้านบาท และช่องทางการขายสำคัญที่อยากแนะนำผู้ขาย ขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ ช้อปปี้ลาซาด้า เฟซบุ๊ก ซึ่งต้องปรับตัวเองตลอดเพื่อเพิ่มรายได้และผ่านวิกฤตนี้”

ส่วนในระยะยาวมีแผนปรับลดสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ 9-10% เนื่องจากผลกระทบกระจายไปทั่วโลก กระทบเศรษฐกิจทำให้ปรับสัดส่วนการผลิตเพื่อการส่งออกลดลง อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงรักษาการเติบโตในกัมพูชา เวียดนาม ซึ่งมีตัวแทนจำหน่ายอยู่อย่างต่อเนื่อง

“สินค้าของบริษัทไม่ได้พึ่งพานักท่องเที่ยว ดังนั้น ยอดขายยังคงเติบโตไปได้อยู่ เมื่อรัฐออกมาตรการต่าง ๆ ออกมาก็จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าล้อไปกับมาตรการรัฐ ส่งผลให้ยอดขายโดยเฉพาะต่างจังหวัดโตขึ้น”

พร้อมกันนี้ บริษัทเน้นการนำเข้าเพื่อจำหน่ายมากขึ้น ซึ่งเป็นการปรับกลยุทธ์เป็นลดต้นทุน แรงงาน ค่าเงิน รวมไปถึงสิทธิพิเศษทางภาษีด้วย และเมื่อมีจังหวะดีก็จะพัฒนาสร้างแบรนด์เพื่อรองรับตลาดด้วย

นายประสพ จิรวัฒน์วงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไนซ์กรุ๊ป ผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬารายใหญ่สุดของประเทศให้กับแบรนด์ดังของโลก เช่น อาดิดาส ไนกี้ พูมา เป็นต้น

กล่าวว่า จากปัญหาโควิด-19 ทำให้กิจกรรมกีฬาหลายรายการเมื่อปีที่ผ่านมาหยุดและยกเลิกไป ทั้งฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ยูโร 2020 รายการวิ่ง บาสเกตบอล เทนนิส หรือแม้กระทั่งกีฬาโอลิมปิก ส่งผลให้ยอดขายในช่วงปีที่ผ่านมา 3-7 เดือนชะลอตัว คำสั่งซื้อถูกยกเลิก

ส่งผลกระทบต่อยอดส่งออกลดลง 40-45% แต่ในช่วงครึ่งปีหลัง(ปี 2563)จากนั้นสถานการณ์ดีขึ้น และด้วยความที่ลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นแบรนด์สินค้าระดับโลก มีความมั่นคงทางการเงิน ศักยภาพตลาดยังดี แม้กิจกรรมต่าง ๆ หยุดหรือยกเลิกไป แต่หากสินค้าที่มีการสั่งซื้อแล้ว

ผู้ซื้อยังรับสินค้าและรับผิดชอบ เนื่องจากมีเรื่องของวัตถุดิบ สินค้าที่ผลิตไปแล้วจึงทำให้บริษัทยังมีรายได้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่าลูกค้าแบรนด์ดังได้ปรับกลยุทธ์ใหม่ ทำการค้าออนไลน์มากขึ้นเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าผ่านช่องทางการค้าออนไลน์ของตัวเองเช่น ไนกี้ ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนสมาชิกลูกค้าจาก 150 ล้าน เป็น 500 ล้านคน เพื่อเพิ่มยอดการขายสินค้า

“แม้ว่ากิจกรรมทางด้านกีฬาในรายการใหญ่จะหยุดหรือยกเลิก แต่ผู้บริโภค ประชาชนทั่วไปก็ยังสนใจกีฬา และการออกกำลังกาย ดังนั้น ความต้องการสินค้ายังคงมี แบรนด์สินค้าหันมาทำกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดผ่านรูปแบบออนไลน์

ซึ่งในปีนี้คาดว่ายอดการขายจะเติบโตเพิ่มขึ้นในหลายแบรนด์ ในภาพรวมเชื่อว่าจะโตถึง 50-80% และเมื่อการค้าออนไลน์โต คำสั่งซื้อสินค้าของบริษัทจะดีขึ้น ส่งผลดีต่อภาพรวมรายได้ของบริษัทให้เติบโตได้ในปีนี้”

ส่วนปัญหาเรื่องของวัตถุดิบมีแนวโน้มราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะผ้าฝ้ายนั้น บริษัทไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากบริษัทซื้อวัตถุดิบเป็นลอตใหญ่และเข้าประมูลซื้อขายเป็นฤดูและสั่งซื้อในระยะยาว ทำให้ได้วัตถุดิบที่ราคาถูก และเมื่อเข้าสู่ฤดูใหม่ก็จะเข้าไปประเมินและประมูลคำสั่งซื้อใหม่ในแต่ละช่วง ซึ่งก็จะเจรจาซื้อขายใหม่อีกครั้ง

13,000 ร้านโบ๊เบ๊ระส่ำ

นายพระขรรค์ชัย ศรีภวาทิกุล นายกสมาคมชาวโบ๊เบ๊ กล่าวว่า จากปัญหาโควิดส่งผลกระทบต่อย่านการค้าส่ง-ค้าปลีก เช่น ประตูน้ำ จตุจักร แพลทินัม โบ๊เบ๊ เป็นต้น ซึ่งในย่านนี้จะมีร้านค้าประมาณ 13,000 ร้านค้า

มียอดขายแต่ละร้านประมาณ 3-10 ล้านบาท จำหน่ายทั้งไปขายในประเทศ และซื้อเพื่อนำไปขายต่างประเทศ เมื่อเจอโควิดทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่ 70% ที่เป็นลูกค้าจากต่างชาติหายไป คนไทยก็ลดการจับจ่ายทำให้ร้านค้ากว่า 90% หยุดร้านในทันที

“ย่านการค้าสำคัญส่วนใหญ่อยู่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของทั้งผลิตสินค้า ค้าส่ง-ค้าปลีกก็อยู่ที่นี่เป็นส่วนใหญ่ ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเอง เพื่อความอยู่รอดและให้มีรายได้เข้ามา แม้ผู้ประกอบการจะหาย

แต่ย่านการค้าก็ยังต้องอยู่ ทำอย่างไรเพื่อให้การค้ายังเดินหน้าไปได้ เมื่อหน้าร้านยอดขายตก เพราะไม่มีลูกค้าทั้งในประเทศและต่างชาติมาซื้อ ก็หันไปทำออนไลน์ผ่านช่องทางตัวเอง ระบบโลจิสติกส์ยังไปได้”

ล่าสุดเมื่อต้นปี 2564 หลายประเทศฝั่งยุโรป สเปน ฝรั่งเศส เยอรมนี ผ่อนคลายการจัดกิจกรรม ไม่ล็อกดาวน์ ก็มีส่วนทำให้ยอดสั่งซื้อสินค้าเข้ามา แต่ยังไม่กลับมาในทันทีจึงเป็นสิ่งที่น่าห่วงว่าร้านค้ากว่า 13,000 ร้านค้าจะทนรับภาระค่าใช้จ่าย ค่าเช่า ค่าแรงพนักงานได้อย่างไร

ทั้งนี้ ต้องการให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนโดยการเปิดประเทศนำนักท่องเที่ยวเข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้า ในย่านการค้าสำคัญด้วย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รายได้ให้กับผู้ประกอบการในย่านการค้านั้น ๆ

“ผู้ประกอบการพร้อมร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่ ในการกำหนดมาตรการดูแลป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 หากนักท่องเที่ยวเข้ามา ช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่าเมื่อมาซื้อสินค้าในย่านนี้จะปลอดภัยไม่มีการแพร่เชื้ออย่างแน่นอน”