กพช. เปิดเสรีก๊าซเฟส 2 แก้วิกฤต

ก๊าซธรรมชาติ

วิกฤตก๊าซธรรมชาติเริ่มส่งสัญญาณรุนแรงขึ้น จากทั้งความวุ่นวายในเมียนมาซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญ ความไม่แน่นอนของการผลิตก๊าซแหล่งหลักในประเทศไทย โดยเฉพาะกรณีที่ ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ ผู้รับสัญญาสัมปทานรายใหญ่ของแหล่งเอราวัณยังไม่สามารถเข้าไปเตรียมความพร้อมในพื้นที่ได้

รวมถึงปริมาณก๊าซในแหล่งผลิตสำคัญที่ลดลงอย่างมากนำมาสู่ความกังวลเกี่ยวกับการจัดหาก๊าซรองรับความต้องการใช้ในการผลิตเชื้อเพลิง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2564 ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติเห็นชอบเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติระยะ 2 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งจะช่วย “ลดต้นทุนการผลิตพลังงานไฟฟ้า”

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า “แนวทางการส่งเสริมการแข่งขันการนำเข้าเปิดให้ทั้งกลุ่มผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติจากผู้ซัพพลายเดิม (old supply) และ shipper ที่จัดหา LNG เพื่อนำมาใช้กับไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบที่เป็น new supply คือ ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท หินกองพาวเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด”

และให้ ปตท.บริหารจัดการทั้งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศ จากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) แหล่งจากเมียนมา และ LNG ที่นำเข้าสัญญาเดิม 5.2 ล้านตันต่อปี โดยกำหนดให้นำก๊าซในอ่าวไทยมาใช้ในโรงแยกก๊าซก่อน และให้ ปตท.เปิดประมูล LNG Spot Flexible ราคาถูกกว่าสัญญาและเงื่อนไขเดิม (pool gas) ภายใต้กำกับของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทั้งด้านปริมาณและเงื่อนไข”

สำหรับ shipper ที่จัดหา LNG เพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบ ภาคอุตสาหกรรมและกิจการของตนเอง คือ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ และ บมจ.บี.กริม แอลเอ็นจี ซึ่ง กกพ.เป็นผู้พิจารณาให้เป็นไปตามรูปแบบการส่งเสริมนี้ คาดว่าจะเริ่มช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้

“ในระยะ 2 กำหนดให้ LNG Terminal และท่อส่งก๊าซเปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้ และเชื่อมต่อได้ ให้ ปตท.แยกธุรกิจท่อเป็น TSO นิติบุคคลให้เสร็จใน 15 เดือน พร้อมกำหนดปริมาณการนำเข้า LNG ส่วนเฟส 3 จะก้าวสู่ระบบเทรดดิ้ง จึงต้องวางระบบการเปิดเสรีให้ชัดเจน”

นอกจากนี้ ยังพิจารณาโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับโครงการโรงไฟฟ้าตามแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 จากศักยภาพของโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซ และ LNG Terminal ทั้งที่มีอยู่และที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับโรงไฟฟ้าในเขตนครหลวง 5,420 เมกะวัตต์ จากแผนเดิมที่ 2,600 เมกะวัตต์

โดยให้ กฟผ.ปรับรูปแบบการลงทุนจากโครงการ FSRU ในอ่าวไทยเป็นร่วมลงทุนกับ ปตท.สัดส่วน 50 : 50 ในโครงการคลัง LNG แห่งที่ 2 ที่ ต.หนองแฟบ จ.ระยอง และรับทราบแผนการส่งออกเที่ยวเรือ LNG สำหรับสัญญาระยะยาวของ ปตท.ที่สามารถนำรายได้ส่งรัฐได้ 580 ล้านบาท


รวมถึงกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศระยะ 5 ปี (2564-2568) ให้ กกพ.ไปจัดทำรายละเอียดต่อไป