“ฟีนิกซ์ พี-วัน” ชิงแชร์ค้าน้ำมัน ชูโมเดลปั๊มคอมมิวนิตี้มอลล์

“ฟีนิกซ์ พี-วัน” ส่งปั๊มน้ำมันน้องใหม่ “Phoenix Station” สู้ศึก ชิงธงถนนสายรองนำร่องปี’64 ทั่วประเทศ 20 สาขา ดึงชุมชนร่วมปั้นไมโครสเตชั่น ยอมรับเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ต้องสร้างจุดแข็ง community mall จ่อตั้งแบรนด์คาเฟ่เองก่อนปิดดีลค้าปลีกรายดัง

นายโกศล แสงรังษี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟีนิกซ์ พี-วัน จำกัด และบริษัท พาวเวอร์ แอนด์ เอ็นเนอร์ยี่ แมเนจเมนท์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้ตั้งเป้าที่จะตั้งสถานีบริการน้ำมันภายใต้ชื่อ Phoenix Station ในปี 2564 ไว้ที่ 20 สาขาทั่วประเทศ โดยภายในเดือน ส.ค.นี้ จะเริ่มเปิดปั๊มแห่งแรกที่ อ.ศาลายา จ.นครปฐม ตามมาด้วย อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

ซึ่งรูปแบบของปั๊มจะไม่ใช่เพียงการให้บริการน้ำมัน แต่ยังมีการดึงเรื่องการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมถึงดึงชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อสร้างจุดแข็งให้กับปั๊มฟีนิกซ์

เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาปั๊ม โดยการสนับสนุนจากบริษัทพาวเวอร์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทลูก เพื่อเก็บไว้ใช้ภายในสถานีบริการ รวมถึงการเข้าไปสนับสนุนโซลาร์เซลล์ภายในหมู่บ้าน ชุมชน บริเวณใกล้เคียง ที่จะถือเป็นการมีส่วนร่วมและตอบแทนสังคม

ส่วนการติดตั้งสถานีชาร์จ EV ภายในปั๊ม เเม้ว่าขณะนี้ดีมานด์การใช้รถ EV ยังไม่มากพอแต่การวางแผนการให้บริการดังกล่าวจะต้องคิดและต้องตอบโจทย์ในอนาคต ซึ่งก็เชื่อว่านับจากนี้ภายใน 3 ปีจะเห็นการใช้รถ EV เพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะดีมานด์ยังเติบโต ดังนั้น การจะมีสถานีชาร์จ EV ไว้ให้ล่วงหน้า จึงถือเป็นการเตรียมความพร้อมไว้ให้บริการลูกค้า ส่วนปริมาณรถ EV จะมากหรือน้อยกี่คันนั้น อยู่ที่การผลักดันตามนโยบายรัฐบาล

โดยปี 2565 ตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนปั๊มให้ถึงหลักร้อยสาขาทั่วประเทศ โดยสัดส่วนจะเป็นปั๊มของบริษัทฟีนิกซ์ฯเอง 50% และที่เหลือเป็นของดีลเลอร์อีก 50% ซึ่งใช้เงินลงทุนประมาณ 30-40 ล้านบาท/ปั๊ม

“เรารู้ว่าการทำปั๊มน้ำมันมาร์จิ้นมันน้อยมาก เราเน้นตั้งในเส้นทางสายรอง จะไม่ไปแข่งกับรายใหญ่ ซึ่งเราก็มีทั้ง non-oil และ oil จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารต้นทุน แต่ยังเป็นความลับที่เรายังไม่สามารถบอกได้ว่าเตรียมทำอะไร ส่วนด้านการตลาดที่เป็นฝั่ง non-oil”

“เรากำลังเจรจาและเตรียมลงนามความร่วมมือ (MOU) กับค้าปลีกรายหนึ่ง ซึ่งเป็นรายที่เราก็รู้จักกันในตลาด ส่วนคาเฟ่ร้านกาแฟเราอาจดึงเอาผลิตภัณฑ์วัตถุดิบจากในท้องถิ่นเข้ามาเสริม โดยเราอาจจะตั้งแบรนด์ของตนเองเป็น Phoenix Cafe”

ขณะเดียวกัน บริษัทมีแผนที่จะสร้างไมโครสเตชั่น หรือปั๊มน้ำมันขนาดเล็ก เช่น ในบางหมู่บ้านหรือชุมชนจะมีปั๊มที่ขายน้ำมันเกรดต่ำไว้เติมรถเล็ก ๆ บางประเภท ฟีนิกซ์จะเข้าไปจับมือตรงนั้นพัฒนาให้เป็นปั๊มที่มีคุณภาพน้ำมันเกรดดีขึ้นมา

โดยขนาดปั๊มจะไม่ใหญ่เท่า Phoenix Station ซึ่งส่วนนั้นจะมีขนาด 3-7 ไร่ (ไซซ์ M และ L) ส่วนไมโครสเตชั่นจะเล็กลงมาอีก และใช้เงินลงทุนเพียง 2 ล้านบาทเท่านั้น

ทั้งนี้ บริษัทฟีนิกซ์ฯได้ลงนามในสัญญาซื้อน้ำมันของ ESSO กับบริษัท สยามเฆมี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำมันคุณภาพ เพื่อป้อนให้กับสถานีบริการน้ำมัน ดังนั้น Phoenix Station จึงถือว่าได้เกณฑ์ตามมาตรฐานของ
กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน และมีคุณสมบัติตามมาตรา 7 เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันคุณภาพ

“ทิศทางการใช้น้ำมันหลังจากนี้คาดว่าต้องดีขึ้น หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายจากการเริ่มฉีดวัคซีน ขณะที่ราคาน้ำมันไม่ได้ผันผวนจนเกินไป และมองว่าโครงสร้างราคาปัจจุบันฟีนิกซ์สู้ได้”

นายโชติศักดิ์ อาภาสวิริยะ ประธานยุทธศาสตร์การตลาด บริษัท ฟีนิกซ์ พี-วัน จำกัด กล่าวว่า “ทำไมเรากล้าที่จะเปิดปั๊มตอนนี้ เพราะมันคือช่วงที่น่าลงทุนที่สุด เหมาะกับผู้ที่มีความสามารถในการลงทุน ต้นทุนถูกทั้งค่าแรง ค่าวัสดุ และยังมีบุคลากรเหลือในตลาดแรงงาน ปั๊ม 1 แห่ง
ก็สามารถจ้างงานในพื้นที่ชุมชนได้ 6-7 คน เมื่อเศรษฐกิจกลับมาเราก็พร้อมเดินทันที”

สำหรับการวางตำแหน่งของ Phoenix Station ได้วางให้เป็นสถานีบริการครบวงจร แบบ community mall เข้าไปช่วยสร้างศูนย์เรียนรู้ให้กับชุมชนในชนบท เน้นเส้นทางสายรองที่คู่แข่งไปไม่ถึง คู่แข่งไม่สนใจ หรือคู่แข่งไม่คิดจะไป