ไทยลุ้นหลุดบ่วงมาตรา 301 สหรัฐถอดพ้นบัญชีดำ PWL

อานิสงส์ “นายกฯตู่” นำคณะพบทรัมป์ ลุ้นข่าวดี USTR ทบทวนสถานะละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตาม ม.301 นอกรอบ มีสิทธิหลุดบัญชีประเทศถูกจับตามองเป็นพิเศษ-PWL สถานะที่ดีขึ้นเป็น WL ภาคเอกชนสหรัฐทั้งหนัง-เพลงหนุนถอดไทยออกจากบัญชี จี้ใช้กฎหมายเข้ม โชว์คดีตัวอย่างเอาผิด 10 เว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ ดันรายได้บอกซ์ออฟฟิศพุ่ง 15%

กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานการแก้ไขปัญหาทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้มาตรา 301 เสนอต่อ ครม.เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยรายงานฉบับดังกล่าวถูกเขียนขึ้นภายหลังจากที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เปิดทบทวนสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญานอกรอบ (Out of Cycle Review : OCR) เพื่อพิจารณาปรับสถานะของประเทศไทย ซึ่งถูกจัดอยู่ในบัญชีประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List หรือ PWL) อยู่ในปัจจุบัน

โดยการเปิดพิจารณานอกรอบ หรือ OCR ครั้งนี้ ถือเป็นการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ จากปกติที่ USTR จะเปิดพิจารณาทบทวนสถานะประเทศคู่ค้าตามมาตรา 301 แห่ง กม.การค้าในเดือนเมษายนของทุกปี แต่รอบนี้ได้เปิดทบทวนนอกรอบ OCR ในวันที่ 21 กันยายน 2560 พร้อมทั้งจัดเปิดรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนสหรัฐสิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม และปิดรับฟังความเห็นของรัฐบาลไทยไปเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา คาดว่า USTR จะประกาศผลการทบทวนสถานะนอกรอบอย่างเป็นทางการภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

ล่าสุดมีรายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เข้ามาว่า ผลการรับฟังความเห็นเบื้องต้นจากภาคเอกชนสหรัฐหลายกลุ่มให้การสนับสนุนที่จะปรับสถานะประเทศไทยออกจากบัญชี PWL มาอยู่ในบัญชีประเทศที่ถูกจับตามอง หรือ Watch List : WL ซึ่งเป็นสถานะที่ดีกว่า เนื่องจากรัฐบาลไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจัง อีกทั้งมีสัญญาณที่ดีจากสหรัฐหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะภาครัฐและเอกชนเดินทางเยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2-4 ตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้บรรยากาศการเมืองและเศรษฐกิจระหว่าง 2 ประเทศดีขึ้น จนนำมาสู่การที่ USTR ตัดสินใจเปิดการทบทวนนอกรอบในปีนี้

เจ้าของลิขสิทธิ์เชียร์ไทย

นายเทียนชัย ปิ่นวิเศษ ผู้อำนวยการ โมชั่นพิคเจอร์ส แอสโซซิเอชั่น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ MPA ซึ่งเป็นกลุ่มตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์สหรัฐในไทย กล่าวว่า MPA ได้จัดทำรายงานและความเห็นเสนอต่อพันธมิตรด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ (IIPA) เพื่อขอให้ USTR ปรับสถานะของประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกจับตามอง หรือ WL ซึ่งเป็นการยืนยันความเห็นเดิมเมื่อครั้งที่มีการทบทวนการจัดอันดับรอบก่อน (เดือนเมษายน 2560) เนื่องจากรัฐบาลไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่องและจริงจังโดยเฉพาะ การแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ในมาตรา 20 ซึ่งจัดให้มีการ “ปิดเว็บไซต์” ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ถือเป็นมาตรการ “site blocking” ที่น่าพอใจ เพราะการปิดเว็บไซต์ละเมิดจากเดิมรัฐบาลไทยจะเน้นเฉพาะเรื่องความมั่นคงเท่านั้น ประกอบกับการพบกันระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้บรรยากาศระหว่าง 2 ฝ่ายดีขึ้น นอกจากนี้เท่าที่ทราบความเห็นในกลุ่มลิขสิทธิ์เพลง โดยเฉพาะกลุ่ม TECA ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับความเห็นของ MPA

“ตอนนี้สหรัฐกำลังจับตามองการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ซึ่งขณะนี้กระทรวงดีอีอยู่ระหว่างการดำเนินคดีตัวอย่าง (test case) กับเว็บไซต์ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาประมาณ 10 เว็บ ซึ่งเป็นเว็บที่ละเมิดภาพยนตร์ไทย ว่าการใช้กฎหมายมีช่องโหว่ใดหรือไม่ ทั้งนี้หากการบังคับใช้กฎหมายในคดีตัวอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยทำให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศมีความมั่นใจมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาปัญหาการละเมิดทางอินเทอร์เน็ตก็มีส่วนทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเสียหาย ผู้ผลิตขาดทุนจำนวนมาก ทำให้อุตสาหกรรมนี้ไม่สามารถผลิตภาพยนตร์คุณภาพดี ๆ ได้” นายเทียนชัยกล่าว

ด้านกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการถอดเว็บละเมิด (notice and take dawn) ด้วย ซึ่งทางสมาพันธ์เห็นว่า ควรปรับปรุงให้เข้มข้นเป็นเช่นเดียวกับที่ทางสหภาพยุโรปใช้ คือ มาตรการ notice and stay dawn หมายถึง เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ แม้ว่าจะปลดเว็บไซต์นั้นไปแล้ว ก็ต้องตรวจสอบไม่ให้มีการนำกลับมาใช้ละเมิดซ้ำอีก ซึ่งหากประเทศไทยทำได้ก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพมาก

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเด็นการให้บริการกระจายเสียงหรือบริการโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายอื่นที่ไม่ใช่โครงการข่ายกระจายเสียง หรือโทรทัศน์ OTT (Over The Top) ถือเป็นประเด็นใหม่ที่ภาคเอกชนสหรัฐให้ความสนใจว่าประเทศไทยจะมีนโยบายในการบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างไร เพราะเชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่มีปัญหาในอนาคตแน่ คล้ายกับการละเมิดโดยการนำเนื้อหา (content)ของเจ้าของลิขสิทธิ์ต่างประเทศมาเผยแพร่ใน “เคเบิลเถื่อน” ที่เคยเป็นปัญหาในอดีต ซึ่งส่งผลกระทบต่อโรงภาพยนตร์และเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างมาก

นอกจากนี้ การที่ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกด้านเครื่องหมายการค้าภายใต้ “พิธีสารมาดริด” ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้สหรัฐพอใจ เพราะจะช่วยให้จดทะเบียนคุ้มครองเครื่องหมายการค้าสามารถทำได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น

5 อันดับเว็บละเมิดลิขสิทธิ์

มีรายงานข่าวจาก MPA เข้ามาว่า Carnegie Mellon University ได้เผยแพร่ผลกระทบของการละเมิดลิขสิทธิ์กับรายได้ของ Box-Office (The Dual Impact of Movie Piracy on Box-Office Revenue : Cannibalization and Promotion) ระบุว่า รายได้ Box-office จะเพิ่มขึ้น 15% จาก 844 ล้านบาท เป็น 896 ล้านบาท “ถ้าไม่มีการละเมิดลิขสิทธิ์” ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา MPA ได้แจ้งความดำเนินคดีกับเว็บไซต์ newmovie-hd.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ติดอันดับท็อป 5 เว็บละเมิด ซึ่งขณะนี้เว็บดังกล่าวได้ปิดไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม สถิติยอดวิว เว็บไซต์ละเมิด (pirate site) เทียบกับเว็บไซต์ถูกลิขสิทธิ์ (legitimate site) ในเดือนกันยายน 2560 พบว่าคนไทยมียอดวิวในเว็บละเมิด “สูงกว่า” เว็บที่ถูกลิขสิทธิ์ถึง 10.84 เท่า หรือประมาณ 44.3 ล้านวิว เทียบกับเว็บถูกลิขสิทธิ์ที่มีผู้ชม 4.12 ล้านวิว

โดยท็อป 5 ของเว็บละเมิดลิขสิทธิ์ ได้แก่ movie2free.com มีคนไทยชม 19.9 ล้านวิว รองลงมา siambit.me 7.87 ล้านวิว, nungmovies-hd.com 6.43 ล้านวิว, 037hd.com 5.94 ล้านวิว และ kseries.co 4.21 ล้านวิว

ทั้งนี้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์ทวีความรุนแรงขึ้นมาก โดยเฉพาะใน social media “เว็บพนัน” มักใช้วิธีฉายหนังและติดแบนเนอร์ชักชวนให้คนเล่นพนันทางออนไลน์ แม้กระทั่งในช่วงพระราชพิธีสำคัญก็ยังมีการ live ภาพยนตร์ ซึ่งการใช้วิธีส่ง notice & takedown ไปยังเจ้าของแพลตฟอร์ม social media นั้น “ไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควร” มีการตั้งกลุ่มปิดและกลุ่มลับเพื่อแชร์และ live ภาพยนตร์ (รวมทั้ง content ไม่เหมาะสมอย่างอื่น) มากมาย

แก้ กม.ลิขสิทธิ์เฟส 2

ด้านนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า หลังจากกระทรวงพาณิชย์ได้บังคับใช้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 เพื่อขับเคลื่อนประเทศตามนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ในมาตรา 32/3 ซึ่งเป็นเหมือนมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนฟ้องร้องนั้น หากพบว่ามีการละเมิดในอินเทอร์เน็ตก็ให้เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถที่จะร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้เอาสิ่งที่ละเมิดลง(เทกดาวน์)

แต่หลังจากบังคับใช้ กม.ใหม่ก็ติดปัญหาว่า ถ้าเว็บไซต์นั้นมี server/ISP อยู่ต่างประเทศ การจะไปสั่งให้ถอดออกต้องไปขออำนาจศาล ศาลสั่งให้ดำเนินการภายใน 30 วัน แต่ผู้บริการอยู่ต่างประเทศ ทำให้บทบัญญัติตามกฎหมายไทยมีปัญหา “ไม่สามารถบังคับใช้ได้ในทางปฏิบัติได้” ซึ่งตอนนี้มีปัญหาอยู่ประมาณ 5-6 เคสที่ติดเงื่อนไขในทางปฏิบัติทำได้ยาก ประกอบกับข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเปลี่ยนเร็ว การคำนวณมูลค่าความเสียหายวัดได้ยาก ดังนั้นกรมจึงเสนอให้มีการแก้ไขให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพื่อจะได้ไม่ต้องไปใช้กระบวนการของศาล คาดว่าจะแก้ไขเสร็จในปีนี้


“แนวทางในการแก้ไขเบื้องต้น เราจะให้เป็นความสมัครใจของผู้ให้บริการ ISP เองว่า เมื่อได้รับแจ้งขอให้ความร่วมมือต้องเทกดาวน์ หากผู้ให้บริการ ISP ให้ความร่วมมือในการเอาลงแล้ว ถ้าต่อไปถูกฟ้องว่าละเมิดลิขสิทธิ์ โดยการไปเผยแพร่งานที่มีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ประกอบการก็จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรับผิดใด ๆ ทั้งแพ่งและอาญา” นายทศพลกล่าว