ทาทาสตีลรับอานิสงส์EEC ดันยอดขายครึ่งปีหลังพุ่ง5%

ทาทาสตีล รับอานิสงส์บูมลงทุน EEC ดันยอดขายครึ่งปีหลังเพิ่มขึ้น 5% คาดทั้งปีขายได้ 1.28 ล้านตัน เดินหน้าลงทุนขยายการผลิตเหล็กตัดและดัด เปิดตลาดไวรอทอาเซียนเพิ่ม จับตานโยบาย OBOR ฉุดดีมานด์เหล็กพุ่งสวนทางนโยบายคุมผลิตของจีน

นายราจีฟ มังกัล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาทาสตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 2561 (สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2560) มีปริมาณ 323,000 ตันจากไตรมาสก่อนที่ขายได้ 277,000 ตัน มูลค่า 5,785 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% จากไตรมาส 1/2560 และมี EBITDA กำไรก่อนหักต้นทุนทางการเงิน มีมูลค่า 432 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2561 ที่ติดลบ 33 ล้านบาท และกำไรหลังหักภาษี มูลค่า 185 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2560 ที่ติดลบ 46 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดขายช่วงครึ่งปีแรก มีปริมาณ 600,000 ตัน แม้ว่าลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณ 615,000 ตัน แต่ยอดขายสุทธิ ที่มีมูลค่า 10,394 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 9,219 ล้านบาท โดย EBITDA กำไรก่อนหักต้นทุนทางการเงิน มีมูลค่า 571 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 903 ล้านบาท (ตามตาราง)

บริษัทคาดการณ์ปริมาณในช่วงครึ่งปีหลังของปีงบประมาณ 2561 จะขยายตัว 5% จากช่วงครึ่งปีแรกที่มีปริมาณ 600,000 ตัน จะทำให้ภาพรวมทั้งปีมีปริมาณ 1.25-1.28 ล้านตัน สูงกว่าคาดการณ์เดิมที่วางไว้ 1.2 ล้านตัน จากเหล็กตัดและดัด และเหล็กลวดคาร์บอนต่ำน่าจะขยายตัวได้ดี ทางบริษัทจึงได้ลงทุนขยายกำลังการผลิตในส่วนการผลิตเหล็กเส้นตัดและดัดในโรงงาน NTS ที่ จ.ชลบุรี อีก 3,100 ตัน โดยใช้เงินลงทุน 65-70 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ในเดือนมิถุนายน 2561 (2018)

               

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยอดขายช่วงครึ่งปีหลังดีขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจของไทยจะขยายตัวขึ้น 3.6% จากแนวโน้มสถานการณ์การค้าที่ดีขึ้น การส่งออกเพิ่มขึ้น การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 3.2% ซึ่งได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จากนี้การลงทุนในภาครัฐจะฟื้นในเดือนพฤศจิกายน 2560 จากเดือนก่อนที่มีวันหยุดพิเศษ และนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC ส่งผลดีต่อการลงทุนภาคเอกชน ทำให้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น ภาคก่อสร้างที่น่าจะฟื้นตัวจากไตรมาส 2/2560 ที่ติดลบ 6% ส่วนความต้องการใช้เหล็กในประเทศ ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณ 18 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน 19.2 ล้านตัน แต่บริษัทสามารถทำยอดชดเชยจากการลดการนำเข้าเหล็กจีนได้

อย่างไรก็ตาม ยังคงติดตามปัจจัยเสี่ยงสถานการณ์การผลิตและราคาเหล็กของจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก โดยภายหลังจากจีนมีนโยบายควบคุมการผลิตเหล็กทำให้มีปิดโรงเหล็กไปคิดเป็นปริมาณการผลิต 34-40 ล้านตัน และมีการส่งออกลดลงจาก 2559 ปริมาณ 110 ล้านตันเหลือเพียง 80 ล้านคันในปีนี้ สวนทางกับแนวโน้มความต้องการใช้เหล็กเพิ่มขึ้นจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเตรียมพร้อมรับนโยบาย One Belt One Road (OBOR) ซึ่งส่งผลต่อเนื่องทำให้ราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นหลายรายการ เช่น กราไฟต์อิเล็กโทรด Ferro Alloys และแร่ magnessite ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตเหล็กด้วยเตาหลอมไฟฟ้า (EAF) สูงขึ้น เฉลี่ย 20-30 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งจะกระทบต่อประเทศอาเซียนเป็นอย่างมากเพราะส่วนใหญ่ 90% ใช้ระบบนี้ โดยปัจจัยนี้มีผลทำให้ราคาส่งออกเหล็กเส้น และบิลเลต มีโอกาสปรับไปอยู่ในระดับ 530-580 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากปัจจุบันที่ 536-564 เหรียญสหรัฐต่อตัน