ดร.ธนวุฒิ นัยโกวิท “ทัพหน้า” ฝ่าวิกฤตค้าไทย-เมียนมา

ดร.ธนวุฒิ นัยโกวิท
ดร.ธนวุฒิ นัยโกวิท อัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายการพาณิชย์ (ทูตพาณิชย์) สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
สัมภาษณ์พิเศษ

2 เดือนหลังจากที่ “มินอ่อง ลาย” พล.อ.ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กระทำรัฐประหารด้วยการควบคุมประธานาธิบดีและที่ปรึกษาแห่งรัฐ พร้อมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี ปรากฏสถานการณ์ในเมียนมาก็เข้าสู่ความรุนแรง มีผู้เสียชีวิต

และล่าสุดได้มีการเผาห้างสรรพสินค้า 2 แห่ง “Gandamar Wholesale Shopping Center” กับ “Ruby Mart” ในย่างกุ้ง ท่ามกลางสถานการณ์เหล่านี้ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ดร.ธนวุฒิ นัยโกวิท” อัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายการพาณิชย์ (ทูตพาณิชย์) สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

การค้าไทย-เมียนมา

การค้าไทย-เมียนมา ในปี 2563 มีมูลค่าการค้า 6,593 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลง 13% เมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะที่ปี 2564 ช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) 1,091 ล้านเหรียญ ลดลง 12%

ตัวเลขการค้าที่ลดลงนี้เป็นผลมาจากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เมื่อเดือนเมษายน 2563

ระลอกแรก จากนั้น “ล็อกดาวน์” มาตลอด จนเจอการระบาดระลอกที่สองในเดือนสิงหาคม 2563 จนถึงปัจจุบันจากการปิดประเทศ ภาคการท่องเที่ยวได้รับความกระทบกระเทือนโรงแรมภาคบริการต่าง ๆ ปิด มีการเวิร์กฟรอมโฮม ระลอกสองมีคนติด COVID-19 เป็นแสนคน ตายไป 3,000 กว่าคน

พอมาถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีก โดย พล.อ.อาวุโส มินอ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปีภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2008 มอบให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดมาจัดการบริหาร

มีการตั้งคณะบริหารแห่งรัฐ (Administration Council State) โดยมีทหาร พลเรือน และตัวแทนของชาติพันธุ์ร่วมด้วย และตั้งคณะรัฐมนตรีรวมถึงแต่งตั้งสภาบริหารภาค และของรัฐขึ้นมาบริหารงานทั้ง 7 ภาค 7 รัฐ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

“ทางสภาบริหารแห่งรัฐได้ประกาศว่าจะยังคงดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเหมือนที่รัฐบาลชุดเดิมได้ดำเนินการไว้ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นกับนักลงทุนต่างชาติที่ได้ลงทุนไว้ จะไม่มีการยกเลิกเปลี่ยนแปลงโครงการใด ๆ ส่วนโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนค้างไว้ ทางรัฐบาลก็จะเร่งพิจารณาอนุมัติโดยเร็ว”

ลงทุน-ค้าชายแดนเปิดปกติ

การขอรับส่งเสริมการลงทุนของเมียนมาจะต้องทำผ่าน MIC หรือ Myanmar Investment Commission ซึ่งขณะนี้ สภาบริหารแห่งรัฐ ได้มีการตั้งบอร์ด MIC ชุดใหม่ ซึ่งคล้ายกับ BOI ของไทย ทุกโครงการลงทุน ต้องมายื่นเรื่องที่นี่ โดยเมียนมาจะให้สิทธิพิเศษ “ยกเว้น” ภาษีนำเข้าเครื่องจักรสำหรับโรงงานเดิมที่ขยายโรงงาน

ส่วนอุตสาหกรรมใหม่อาจได้สิทธิประโยชน์ tax holiday คือ ไม่ต้องเสียภาษีเลย 5 ปี ซึ่งจะมี 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ปิโตรเคมี เกษตร ประมง สิ่งทอ เป็นต้น โดยตัวเลข FDI ที่ขอรับการส่งเสริมจาก MIC ปี 2563 มีมูลค่า 80 ล้านเหรียญ (2,500 ล้านบาท) ในปี 2564 ล่าสุดปีนี้มีการขอรับส่งเสริมมูลค่า 33 ล้านเหรียญ หรือ 1,000 ล้านบาท ตัวเลขนี้ยังไม่ได้มีการแยกเป็นรายโครงการ

“การค้าชายแดน มีด่านหลัก ได้แก่ ด่าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย, ด่าน อ.แม่สอด จ.ตาก, ด่านบ้านพุน้ำร้อน และด่านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี กับด่านผ่อนปรนทางการค้าที่สิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ และด่านที่ จ.ระนอง ซึ่งมีมูลค่าการค้าประมาณ 80% ของมูลค่าการค้าทั้งหมด ตอนนี้ทุกด่านยังเปิดปกติและมีการเปิดเพิ่มด้วยหลังโควิด”

ผลเคอร์ฟิว-กฎอัยการศึก

ตอนนี้ทางเมียนมาประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกจากบ้านตอน 2 ทุ่มทั่วประเทศ และมีการประกาศกฎอัยการศึก จะต้องกลับบ้านเร็วกว่านั้น คือ ก่อนพระอาทิตย์ตกดินตอน 6 โมงเย็นใน 2 เมืองใหญ่ คือ ย่างกุ้ง กับมัณฑะเลย์ รวมไปถึงการหยุดงานประท้วง ที่เรียกว่า CDM หรือ civil disobedience movement ตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ. ทำให้ร้าน-บริษัท-โรงงาน ธนาคารเอกชนก็ปิดทำการบางสาขา ทำให้เงินที่จะออกมาใช้จ่ายทำได้ยากขึ้น ส่วนใหญ่เบิกผ่าน ATM หรือโมบายแบงกิ้ง

“แม้ตอนนี้บางธุรกิจยังประกอบธุรกิจได้ แต่การประกาศเคอร์ฟิวทำให้ต้องร่นเวลาจากเคยเปิดถึง 1-2 ทุ่ม ตอนนี้ 4-5 โมงเย็นก็ต้องปิดแล้ว ช่วงเวลาในการจับจ่ายใช้สอยสั้นลงก็ส่งผลต่อการหมุนเวียนในภาคเศรษฐกิจ”

ค่าเงินจ๊าตอ่อน

ส่วนค่าเงินไทยแลกเงินจ๊าตเปลี่ยนประมาณ 10% จากก่อนวันที่ 1 ก.พ. อยู่ที่ 44 บาทต่อจ๊าต ตอนนี้ 47 บาทต่อจ๊าต ขณะที่จ๊าตแลกเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 15-18% จาก 1,280 เป็น 1,550 จ๊าตต่อดอลลาร์

“ความต้องการเงินดอลลาร์สูงมากในตลาด เพราะในบางธุรกิจจำเป็นต้องแลกเป็นดอลลาร์ในการซื้อ จึงทำให้เงินดอลลาร์เป็นที่ต้องการมาก ส่วนการค้าชายแดนก็ยังรับเป็นบาทอยู่บ้าง การจะได้ดอลลาร์มาก็ต้องยอมเสียแพงขึ้น แต่ไม่ต้องห่วง เขาไม่จ่ายช้าเพราะกลัวค่าเงินจะแพงขึ้นไปอีก ปกติที่นี่ไม่มีการทำประกันเรื่องความผันผวนค่าเงิน แต่หากผู้ส่งออกต้องการประกันความเสี่ยง สามารถทำผ่านเอ็กซิมแบงก์และธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ ก็มีบริการ”

เผาห้าง-ตุนสินค้ารอขาย

ปกติคนเมียนมาชอบตุนสินค้าอยู่แล้ว ยิ่งตอนนี้ตุนเยอะขึ้นไปอีก เพราะมองว่าแทนที่จะเก็บเงินไปฝากธนาคารก็ซื้อทอง สินค้าอุปโภคบริโภคทุกอย่างไปเก็บไว้ เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นก็สามารถเอาไปขายต่อแปลงเป็นเงินได้ทั้งหมด

“การเผาห้าง Gandamar ซึ่งเป็นห้างค้าส่งคล้ายแม็คโคร มีสาขาเดียว ส่วนอีกห้าง Ruby Mart เป็นห้างสินค้าแฟชั่น เหมือนประตูน้ำ-แพลทินัม แต่ไม่ใหญ่เท่า ปัญหา 2 ห้างไม่กระทบค้าปลีก เพราะในเมียนมายังมีห้างอีกแยะ ทั้งแม็คโคร ย่างกุ้ง, ซิตี้มาร์ท, โอเชียนซูเปอร์มาร์เก็ต และคอนวีเนี่ยนสโตร์ เช่น ซิตี้ เอ็กซ์เพรส มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ เฉพาะย่างกุ้งมี 300 สาขา วันสต็อปช็อปมีอีกร้อยกว่าสาขา และ ABC อีกเป็นร้อยสาขา รวมเฉพาะคอนวีเนี่ยนสโตร์มีเป็นพันสาขา ยังไม่นับรวมโชห่วยมีทุกแยกเลย”

บูมค้าออนไลน์

การค้าออนไลน์เป็นที่นิยมในหมู่คนเมือง แต่ออกไปนอกเมืองคนยังคงใช้โชห่วย-ร้านค้าขนาดเล็กอยู่ เนื่องจากยังไม่มีแบงกิ้ง ต่างจังหวัดมีน้อย ซึ่งในเมียนมาจะนิยมใช้ Facebook แต่ก็มีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเองด้วย เช่น rgo47.com, shop.com.mm, baganmart.com แต่สัดส่วนไม่ได้มากนัก

“หลังความวุ่นวายทางการเมือง เท่าที่สังเกตดู คนก็ยังไปเทรดิชั่นนอลเทรดและโมเดิร์นเทรดเป็นหลัก ปัจจุบันมีการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต มือถือ และ WiFi ทำให้ e-Commerce ในเมียนมาได้รับผลกระทบในการให้บริการซื้อขายออนไลน์ ระบบไปรษณีย์มีปัญหาจากการปิดบางพื้นที่มีเคอร์ฟิว การขนส่งก็เลยลำบาก ในเมืองยังพอส่งอีคอมเมิร์ซได้ แต่ถ้าข้ามเมือง รถขนส่งก็จะไปไม่สะดวก ทหารตำรวจก็ยังมีการปะทะกับกองกำลังบางส่วนอยู่”

ปรับแผนส่งเสริมการส่งออก

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและ สคต.ร่วมกันจัดออนไลน์บิสซิเนสแมตชิ่ง เพื่อให้ผู้นำเข้ากับผู้ส่งออกสามารถเจรจาและสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์เป็นหลัก เนื่องจากการเดินทางยังทำไม่ได้ และเราพยายามสำรวจว่า ผู้นำเข้าต้องการสินค้าประเภทไหน เพื่อจะประสานให้กับผู้ประกอบการไทยที่เป็นสมาชิก Thaitrade.com

พูดง่าย ๆ ว่าเราต้องการใช้ทุกช่องทางที่จะคอนเน็กต์ผู้ประกอบการทั้งสองฝ่าย จากนั้นการขนส่งสินค้าเขาก็สามารถใช้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์โพรไวเดอร์ ผ่านทางชายแดนได้อยู่แล้ว

ความท้าทายการค้าไทย-เมียนมา

“จริงอยู่ที่ตอนนี้สินค้าอุปโภคบริโภคมีแนวโน้มที่จะขายดี แต่จะมีสินค้าบางประเภทที่ได้รับผลกระทบ หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทำให้นักลงทุนต่างชาติ ทั้งชาติตะวันตกและชาติพันธมิตรประกาศออกมาว่า จะไม่เข้ามาสนับสนุนการทำงานร่วมกับทางรัฐบาลทหาร เช่น สหรัฐ-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ จะต้องทบทวนการลงทุน ซึ่งการลงทุนโดยตรง หรือ FDI ค่อนข้างจะเป็นเม็ดเงินหลักที่เมียนมาพึ่งพาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากพอสมควรในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา”


แน่นอนว่า FDI ลดลง จะทำให้เศรษฐกิจเมียนมาหดตัวลงเช่นกัน ซึ่งในปีก่อนจีดีพีเมียนมาติดลบ 12% จากทั้งโควิดและการเมือง ปีนี้เวิลด์แบงก์ปรับลดคาดการณ์จีดีพีว่าจะติดลบ 10% จากต้นปีที่คาดการณ์บวก 1-2% เมื่อเศรษฐกิจหดตัวลง ย่อมทำให้ความต้องการสินค้าบางเซ็กเตอร์ลดลง เมื่อนำมาถัวเฉลี่ยรวมกันแล้ว ทางเรายังมองคาดการณ์ว่าส่งผลต่อการค้าของไทยและเมียนมา