“ทุเรียน” โปรดักต์แชมเปี้ยนตัวจริง

ภาพ : pixabay
คอลัมน์ สามัญสำนึก
พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

ใครจะคิดว่าวันนี้ทุเรียนหมอนทองเกรดดี ๆ พูอิ่ม ๆ อาจไม่ได้เป็นสินค้าสำหรับผู้บริโภคคนไทยอีก สืบเนื่องจากราคาส่งออกสูงลิบลิ่วต่อเนื่อง ส่งผลให้คนไทยกลายเป็นผู้บริโภคผลไม้ตกเกรด เหลือจากการส่งออก

เมื่อได้เห็นตัวเลขสถิติต่าง ๆ ก็พอจะเข้าใจ

ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และสถาบันทุเรียนไทยประมินว่า ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ตลาดส่งออกทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 521,028 ตัน ในปี 2554 เพิ่มเป็น 772,860 ตัน ในปี 2563 เพิ่มขึ้นถึง 48.3%

มองไกลไปถึงปี 2568 หรืออีกสี่ปีข้างหน้า ทั้งสองหน่วยงานประเมินว่าตัวเลขส่งออกทุเรียนจะเพิ่มขึ้นถึง 134.5% จากห้าแสนกว่าตัน เพิ่มเป็น 1,812,201 ตัน โดยที่ไทยซึ่งครองอันดับ 1 มาตลอด ยังคงครองแชมป์ต่อไปด้วยตัวเลขการส่งออก 1,044,672 ตัน (57.65%) ตามด้วยเวียดนาม 165,465 ตัน (9.13%) และมาเลเซีย 76,379 ตัน (4.21%)

โดยที่ผู้นำเข้าทุเรียนรายใหญ่ของโลกก็คือ จีน คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มจากปี 2563 ขึ้นถึง 95.1% หรือร่วม ๆ เท่าตัว เป็น 938,882 ตัน รองมาคือ ฮ่องกง นำเข้าเพิ่มขึ้น 61.4% เป็น 374,245 ตัน

ที่น่าจับตามองคือ เกาหลีใต้ และไต้หวัน แม้ว่าตัวเลขจะยังไม่มากนัก แต่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 53.3% และ 35.7% ตามลำดับ

เห็นครองตลาดมาอย่างเหนียวแน่นแบบนี้ ไม่ได้เป็นเพราะบ้านเราปลูกทุเรียนเยอะกว่าคนอื่น ประเทศที่ปลูกมากกว่าใคร ๆ คือ อินโดนีเซีย จากนั้นถึงตามด้วยไทย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ แต่ทุเรียนอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ส่งออกน้อย เพราะมีข้อจำกัดด้านคุณภาพ และมาตรฐานการส่งออก ตรงข้ามกับหมอนทองไทยที่ถูกปากคนจีนอย่างยิ่ง

ราคาที่พรวด ๆ ต่อเนื่องจาก กก.ละไม่กี่สิบบาท พุ่งเป็นหลักร้อย ทำให้ชาวไร่ชาวสวนหันมาปลูกทุเรียนยกใหญ่

สัปดาห์ก่อนวนเวียนอยู่แถว ๆ นครศรีธรรมราช หลังจากไม่ได้มาละแวกนี้นาน เห็นได้ชัดว่าสวนทุเรียน สวนมังคุด เริ่มเข้ามาแทนที่สวนยางพาราเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงภาคอีสานที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นไม่น้อย เชื่อว่าอีกไม่นาน เราน่าจะแซงหน้าอินโดนีเซีย ในแง่ผลผลิตรวมอย่างแน่นอน

แต่เรื่องนี้ประมาทไม่ได้ โดยที่ปัญหาของเรายังเป็นเรื่องเดิม ๆ สินค้าตัวไหนราคาดี ทุกคนแย่งกันค้าขาย อยากกอบโกยรายได้เข้ากระเป๋าให้เร็ว และมากที่สุด จนมองข้ามเรื่องของคุณภาพ

อย่างที่ทราบกัน แม้ว่าตลาดจีนจะเปิดประตูต้อนรับทุเรียนไทย แต่ก็มีกติกา หลักเกณฑ์ ข้อกำหนดต่าง ๆ มากมาย ต้องมีน้ำหนักและขนาดตรงตามที่ต้องการ ต้องมีใบรับรอง GAP-แหล่งที่มา ถ้าคุณภาพมาตรฐานไม่ถึงเกณฑ์กำหนด มีโอกาสถูกส่งคืนได้ง่าย ๆ

แต่ถึงแม้ผู้ซื้อจะเข้มงวด ดูเหมือนตัวกลางที่รับซื้อ และชาวสวนจำนวนหนึ่งไม่รู้สึกรู้สาถึงปัญหาที่ตามมา คงยึดคติน้ำขึ้นต้องรีบตัก

เป็นปัญหาโดยตลอดก็คือ ทุเรียนอ่อน ชาวสวนใช้สารเคมีเร่งสีผลผลิต แกะออกมาเนื้อสวยงาม แต่รสชาติ ความหวาน รวมถึงคุณภาพต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

ปล่อยไปแบบนี้คงไม่ดีแน่ ๆ

มองไกลไปในอนาคต เชื่อว่าหลายคนตั้งความหวังกับทุเรียนไทยมิใช่น้อย ในบรรดาสินค้าเกษตรทั้งหมด มีโอกาสอย่างยิ่งที่ “ทุเรียน” นี่แหละ จะกลายเป็นโปรดักต์แชมเปี้ยน แซงหน้าข้าวที่เราเคยภาคภูมิใจด้วยซ้ำ

ปีที่แล้ว ไทยส่งออกข้าว 5.72 ล้านตัน คิดเป็นรายได้เข้าประเทศแค่แสนกว่าล้าน ซึ่งน่าจะถูกแซงหน้าโดยทุเรียนในไม่ช้า

ขอเพียงอย่าการ์ดตกเรื่องคุณภาพเท่านั้น