สนพ.รื้อสูตรราคาพลังงาน หลัง “ต้นทุนพุ่ง” ดันราคาแพง

สนพ.เขย่าโครงสร้างราคาอ้างอิงไบโอดีเซล-เอทานอล หลังราคาวัตถุดิบพุ่งหวั่นระบบเดิมดันราคาปลายทางกระโดดจาก 18-20 เป็น 26 บาทต่อลิตร คาดใช้เวลาศึกษา 7 เดือน ก่อนสรุปผลให้ กบง.พิจารณาต่อไป

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มอบให้ สนพ.ศึกษาแนวทางการปรับโครงการสร้างต้นทุนของพลังงานทดแทน ซึ่งนำไปใช้กำหนดราคาอ้างอิงจำหน่ายพลังงานทดแทน

เนื่องจากสถานการณ์ราคาวัตถุดิบทางการเกษตรที่ใช้เป็นส่วนผสมของน้ำมันปรับสูงขึ้น เช่น เอทานอล ซึ่งผลิตจากกากน้ำตาลจากอ้อยมีราคาสูงขึ้นจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตอ้อยลดลงราคากากน้ำตาลก็แพงขึ้น ทางผู้ผลิตเอทานอลต้องเปลี่ยนใช้กากมันสำปะหลังแทน ผลปรากฏว่าวัตถุดิบก็ปรับราคาสูงขึ้นอีก และเมื่อมาผสมทำให้ต้นทุนการผลิตเอทานอลค่อนข้างสูง จากปกติราคา 18-20 บาทต่อลิตร ขณะนี้กระโดดไปถึง 26 บาทต่อลิตร

“ราคาผลผลิตทางการเกษตรดีขึ้นแต่ก็ยังต้องส่งเสริมการใช้เพื่อผลิตพลังงาน ซึ่งทางเราต้องมอนิเตอร์ เพราะว่าจริง ๆ จุดหนึ่งของราคาเอทานอลเราใช้ราคาอ้างอิง หมายความว่าเป็นราคาที่ได้จากการซื้อขายจริงของบริษัทผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ในขณะที่ผู้ผลิตเอทานอลก็เสนอราคาไป เขาจะรีพอร์ตมาที่เราว่าตัวเลขปลายทางสุดท้ายซื้อขายกันเท่าไร บางทีเราก็มองว่าสูงไปหรือไม่ ซึ่ง กบง.เริ่มเห็นภาพนี้แล้ว จึงให้ สนพ.ไปดูเรื่องโครงสร้างราคาที่อ้างอิงต่าง ๆ ว่าเหมาะสม หรือควรปรับสูตรใหม่ในการอ้างอิงหรือไม่”

ทั้งนี้ โดยปกติ ในส่วนของโครงสร้างราคาเอทานอลเป็นราคาอ้างอิงที่เก็บข้อมูลจากผู้ซื้อขายจริง และส่วนราคาที่กรมสรรพสามิตไปเก็บเร็กคอร์ดส่งเป็นรายงานมาทุกเดือนว่าได้ราคาซื้อขายเท่าไร โดยหลักจะนำเอาราคาที่ต่ำที่สุดเป็นตัวอ้างอิง และจะออกประกาศราคานี้ไป ซึ่งระบบนี้ทางผู้ผลิตต่าง ๆ ก็เห็นพ้องกันว่าเหมาะสม เพราะสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

จากเดิมเคยใช้โครงสร้างระบบ “คอสต์พลัส” คือ ไปดูต้นทุนผลผลิตของอ้อย มัน แล้วก็มาบวกเข้าไปในส่วนของกระบวนการผลิต ค่าขนส่ง ออกมาเป็นราคาปลายทาง ซึ่งทางผู้ผลิตมองว่า ไม่สะท้อนตลาดที่แท้จริง จึงนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง แต่จะมีเพียง “ไบโอดีเซล บี100” ที่ยังเป็นสูตรคอสต์พลัส หรือเอาราคาผลผลิตมาเลย โดยรวบรวมจากกระทรวงพาณิชย์มาบวกค่าใช้จ่ายแต่ละรายการเข้าไปเป็นราคาปลายทาง จากนั้นทางผู้ซื้อและผู้ขายเขาจะเอาราคาของ สนพ.ไปตั้งเป็นเพดานราคาในการซื้อขาย แต่ในการซื้อขายในทางปฏิบัติอาจจะถูกกว่าเล็กน้อย

“การปรับสูตรใหม่ เรากำลังศึกษาคงจะดูทั้งสองมุม คอสต์พลัสก็ค่อนข้างจะดี เพราะชัดเจน ในแต่ละรายการที่เอามาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในราคาทั้งหมด แต่ว่าก็มีความเห็นในอดีตว่า ขบวนการผลิตต่าง ๆ ที่ใส่เข้ามา มันเป็นตัวเลขที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะเวลาที่ไปทำ เราก็อาจมีที่ปรึกษาหรือลงไปสำรวจ พยายามเก็บรวบรวมให้ได้มากที่สุด หรือพยายามสอบถามผู้ผลิต ซึ่งตัวเลขอาจจะถูกบ้าง ไม่ถูกบ้าง นี่ก็จะเป็นจุดอ่อนจุดหนึ่ง”

ทั้งนี้ สนพ.อาจจะใช้เวลา 6-7 เดือน ในการทำให้ได้ข้อสรุป จากนั้นจะมาประชาพิจารณ์ ก่อนเข้า กบง.อีกครั้ง

รายงานข่าวระบุว่า ทางผู้ประกอบการทราบว่าจะมีการรีวิวโครงสร้างราคา ซึ่งบางรายมองว่าราคาปัจจุบันต่ำไป ขณะที่ทางภาครัฐมองว่าราคาปัจจุบันสูงไป ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน จึงอาจต้องมีการศึกษาที่อัพเดตเรื่อย ๆ ว่าตัวต้นทุนต่าง ๆ ที่แท้จริงคือเท่าไรแน่ หรือวิธีการที่จะอ้างอิงในอนาคตจะเปลี่ยนไปอย่างไร