พาณิชย์ประสานเอกชนตรวจเข้มแรงงานหลังสงกรานต์ กันแพร่เชื้อโควิดระบาด

“พาณิชย์” ประสานภาคเอกชนตรวจเข้มแรงงาน ก่อนกลับเข้ามาทำงานหลังสงกรานต์ และยังเป็นการป้องกันการผลิตชะงัก จนกระทบส่งออก พร้อมมอบทูตพาณิชย์แจงผู้ซื้อ-ผู้นำเข้า สร้างความเชื่อมั่นสินค้าอาหารไทยปลอดโควิด-19
         
นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ประสานงานไปยังสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และภาคเอกชนที่อยู่ในสายการผลิต

ให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบแรงงานที่กลับเข้ามาทำงานในโรงงาน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังจากที่จะเริ่มการทำงานใหม่ เมื่อพ้นช่วงหยุดยาวสงกรานต์ เพราะขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 เริ่มมีความรุนแรงขึ้น จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากยิ่งขึ้น

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

“โดยขอให้ภาคเอกชนเพิ่มความเข้มงวด โดยเฉพาะโรงงานผลิตสำคัญ ประกอบกับแผนรองรับการขาดแคลนแรงงานจากสถานการณ์นี้ อาจกระทบต่อการผลิต เพราะเมื่อการผลิตชะงัก ก็จะกระทบต่อการส่งออกได้ แม้เหตุการณ์เหล่านี้ ยังไม่เกิดขึ้น เพราะเชื่อว่าเอกชนมีความระมัดระวังและมีประสบการณ์ตลอดทั้งปีอยู่แล้ว จากการติดตามที่ผ่านมา ภาคเอกชนสามารถที่จะป้องกันแรงงานติดเชื้อได้เป็นอย่างดี ทำให้สินค้าไทยได้รับความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐาน และมีความต้องการสินค้าไทยเพิ่มขึ้น”

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังได้สั่งการด้วยว่าให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ทั้ง 58 แห่งที่ประจำอยู่ใน 41 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดที่เป็นเป้าหมายการส่งออกสินค้าอาหาร ทำการชี้แจงผู้ซื้อ ผู้นำเข้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าอาหารไทยปลอดโควิด-19 และให้ติดตามท่าทีของแต่ละประเทศอย่างใกล้ชิด

รวมทั้งให้หาทางเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับสินค้าอาหารไทย ทั้งการจัดกิจกรรมกระตุ้นการบริโภคอาหาร และการเจรจาธุรกิจออนไลน์เพื่อจำหน่ายสินค้าอาหารไทย เพราะเป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการในช่วงสถานการณ์โควิด-19

ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ได้มีความร่วมมือระหว่าง 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์ ในการรับรองการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออกโดยคุมเข้มตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ กระบวนการผลิต ไปจนถึงการส่งออก