ต่างชาติแห่พบ “สุริยะ” ลุ้น…เทงบฯลงทุน ไตรมาส 2

รถอีวี

โควิด-19 กระทบธุรกิจอย่างหนัก ภาคการลงทุนแทบหยุดนิ่ง นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาหลายประเทศต้องชะลอการตัดสินใจลงทุน แต่เมื่อมี “วัคซีน” จึงเริ่มเห็นการขยับของนักลงทุนอีกครั้ง นับจากปลายปี 2563 ถึงช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 มีนักลงทุนจากนานาประเทศเดินสายเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่ายรถยนต์

ค่ายรถจี้วางสเต็ปหนุน EV

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เริ่มมีการปลดล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผ่อนคลายให้กิจการร้านค้าเปิดดำเนินการตามปกติ ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีในมุมบวก จะเห็นได้ชัดอย่างการที่บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) ได้เข้ามาพบเพื่อหารือถึงทิศทางการลงทุนในอนาคต

“เอกชนยอมรับว่าการที่รัฐบาลไทยสนับสนุนนโยบายการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ถือเป็นเรื่องที่ดีเป็นแนวโน้มที่ทั่วโลกกำลังมุ่งไป มิตซูบิชิเป็นผู้ผลิตรถกระบะจำนวนมากเพื่อการส่งออก และยังเน้นผลิตรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV) ดังนั้น ก่อนที่ประเทศไทยจะก้าวไปสู่ EV อย่างเต็มรูปแบบ รัฐบาลจะต้องสนับสนุน PHEV และรถกระบะอย่างเต็มที่โดยไม่ทิ้งส่วนใดส่วนหนึ่งไป”

แน่นอนว่าถึงไทยจะมีเป้าหมายที่จะมีการใช้รถ EV ในปี 2573 สัดส่วนที่ 30% นั้น ระหว่างทางนายสุริยะได้อธิบายอย่างชัดเจนว่า จำเป็นที่ต้องวางสเต็ปการไปสู่ EV ในแต่ละปีไว้ด้วย เช่น ช่วง 2-3 ปีแรกจะต้องมีสัดส่วนที่ 10% มีสถานีชาร์จกี่แห่ง ต้องวางโครงสร้างพื้นฐานด้านบริการให้ครบเสียก่อน จากนั้นในปีถัด ๆ มาจะค่อย ๆ เพิ่มทีละ 10% จนในที่สุดก็จะถึงเป้าหมายที่ 30% เพราะหากไปทุ่มในปี 2573 ที่ 30% เลยน่าจะเป็นเรื่องยาก

ขณะที่ “บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ส” ภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย ไม่เพียงเข้าพบนายสุริยะแต่ยังพบนายกรัฐมนตรีเพื่อตอกย้ำถึงการให้ไทยเป็นฐานลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้า EV ในอาเซียน กระแส EV ในไทยถึงจะยังไม่เกิดขึ้นทันที แต่เมื่อสัญญาณของนักลงทุนชัดเจนเท่ากับว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสฟื้นตัว

อัดสิทธิประโยชน์

ปัจจัยที่จะช่วยให้การตัดสินใจสำหรับนักลงทุน คือ “สิทธิประโยชน์” ที่ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดที่ 8 ปี สำหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เป็นประเภทที่ใช้นวัตกรรม บวกกับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ อย่างการยกเว้นอากรนำเข้า

แต่กระนั้นสิทธิประโยชน์เป็นเพียงแค่ส่วนเดียว เพราะแท้จริงแล้วนักลงทุนยังพิจารณาถึงองค์ประกอบอื่น เช่น ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานบุคลากรหรือผู้เชี่ยวชาญที่จะนำมาใช้ในอุตสาหกรรม

“ญี่ปุ่น” ครองแท่นเบอร์ 1

เมื่อเร็ว ๆ นี้ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO Bangkok) และคณะกรรมาธิการวิจัยทางเศรษฐกิจของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ (JCC) ก็ได้เข้าพบนายสุริยะเช่นเดียวกัน ได้มีการรายงานสรุปผลการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ประจำครึ่งปีหลัง 2563 ที่ชี้ว่ากลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นยังคงให้ความสำคัญขยายการลงทุนในประเทศไทยและยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ซึ่งจากตัวเลขของบีโอไอก็ยังพบว่าญี่ปุ่นยังคงเป็นประเทศที่ลงทุนในไทยสูงที่สุดในปี 2563 มีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมถึง 211 โครงการ มูลค่า 75,946 ล้านบาท คิดเป็น 36% ของโครงการลงทุนต่างประเทศทั้งหมด

พานาโซนิคจ่อขยายโรงงาน

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทพานาโซนิคในประเทศไทย คือนักลงทุนรายใหญ่ที่ล่าสุดได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจใหม่ของพานาโซนิคในประเทศไทย ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

โดยส่งสัญญาณข่าวดีในการเตรียมขยายโรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ใน จ.ขอนแก่น พร้อมสร้างคลังสินค้าเพิ่มเติมที่ จ.สมุทรปราการ

จับตาทุนยุโรป-สหรัฐ

ขณะที่ประธานหอการค้าเยอรมัน-ไทยได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งเยอรมันสนใจจะร่วมมือสนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียว (green industry) และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) โดยมีความเห็นว่าการส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะช่วยให้ภาคธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

ที่สำคัญได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศ โดยสนับสนุน “กฎหมายอากาศสะอาด “(clean air act) ที่ต้องแก้ไขลงลึกถึงสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง วางมาตรการต่าง ๆ อย่างจริงจัง

ฝั่งประธานสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (USABC) และคณะนักธุรกิจผู้แทนบริษัทชั้นนำของสหรัฐเข้าพบเพื่อสนับสนุนรัฐบาลไทยในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลและยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 การพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5


อีกทั้งส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ด้วยการใช้วัตถุดิบหมุนเวียนมากขึ้น