ธุรกิจโล่งรัฐไม่สั่งล็อกดาวน์ คุมเข้ม 9 มาตรการทั่วประเทศ

Photo by Mladen ANTONOV / AFP

ศบค.ยกระดับมาตรการคุมโควิด ธุรกิจโล่งไม่ล็อกดาวน์-ไม่เคอร์ฟิว งัดแผนคุมเข้ม 18 จังหวัดโซนสีแดง กทม.-ปริมณฑล-ภูเก็ต-เชียงใหม่ สงขลา-ระยอง ฯลฯ ขอความร่วมมือไม่ออกนอกเคหสถาน 23.00 น.ถึง 04.00 น. อุดจุดเสี่ยง สั่งปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ อาบอบนวดทั่วประเทศ 14 วัน สกัดแพร่เชื้อ ส่วนเซเว่นปิดห้าทุ่ม หอการค้าประเมินการบริโภคจับจ่ายลดลง 20-30%

วันที่ 16 เม.ย. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ว่าวัคซีนจำนวนหนึ่งที่ยังไม่มากนักได้ฉีดให้คนกว่า 5 แสนกว่าคน และจะได้รับมากขึ้นในระยะต่อไป จะฉีดให้ทั่วถึงคน 60% ของประเทศ

สั่งเร่งฉีดวัคซีนใน 1 เดือน

ในเรื่องการฉีดวัคซีน 1.3 ล้านโดสของซิโนแวก ส่วนแอสตร้าเซนเนก้า 1.5 ล้านโดส จะเข้ามาในเดือน มิ.ย.แต่วันนี้ได้สั่งการแล้วว่าต้องวางแผนเป็นรายสัปดาห์ และจะฉีดทุกกลุ่ม 1 เดือน ทั้งยืนยันว่าไม่มีการเคอร์ฟิว ไม่ล็อกดาวน์

ศบค.เคาะเปิด-ปิดกิจการ

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.แถลงว่า ที่ประชุม ศบค.มีมติเห็นชอบร่างข้อกำหนด ข้อ 1 ห้ามดำเนินการหรือจัดกิจการกิจกรรมหรือที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค (1) ห้ามการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภทเพื่อจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากทำให้เสี่ยงต่อการแพร่โรค

(2) ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลกว่า 50 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่

ข้อ 2 ปิดสถานบริการ สถานที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อทั่วราชอาณาจักร โดยคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัด เช่น ผับ บาร์ คาราโอเกะ รวม 14 วัน

ข้อ 3 กำหนดพื้นที่สถานการณ์ กำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ จำแนกตามพื้นที่ดังนี้ (1) พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) 18 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม ภูเก็ต นครราชสีมา นนทบุรี สงขลา ตาก อุดรธานี สุพรรณบุรี สระแก้ว ระยอง และขอนแก่น และระดับที่ 2 พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 59 จังหวัดที่เหลือ

ข้อ 4 มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามพื้นที่สถานการณ์ กำหนดมาตรการควบคุมที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน สำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม เพื่อให้เปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน

มาตรการพื้นที่ควบคุมสูงสุด 1.ให้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มในร้านได้ไม่เกิน 21.00 น. และจำหน่ายได้ถึง 23.00 น. (ซื้อกลับบ้าน) 2.ห้ามบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน 3.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ เปิดได้ถึง 21.00 น.

4.ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน เปิดได้ไม่เกิน 23.00 น. 5.สนามกีฬา ออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส เปิดได้ไม่เกิน 21.00 น.

ข้อ 5 งดหรือหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยไม่จำเป็น ข้อ 6 ขอความร่วมมือเลื่อนหรืองดการจัดกิจกรรมสังสรรค์ งานเลี้ยงหรืองานรื่นเริง

ข้อ 7 ราชการเวิร์กฟรอมโฮม และขอความร่วมมือเจ้าของกิจการเอกชนสลับวันทำงาน

ข้อ 8 จัดหาสถานที่เพื่อใช้เป็นสถานที่รองรับ ดูแลรักษา และแยกกัก กักกันตัวผู้ติดเชื้อหรือผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าติดเชื้อโดยด่วน โดยขอความร่วมมือสถานศึกษา มหาวิทยาลัย โรงแรม หอประชุม

ข้อ 9 ให้ ศปก.ศบค.พิจารณาประเมินสถานการณ์เพื่อปรับเปลี่ยนระดับพื้นที่สถานการณ์และมาตรการควบคุมแบบบูรณาการ

ให้มีผลตั้งแต่หลังเที่ยงคืน วันที่ 18 เมษายน 2564 เป็นต้นไป

หอการค้าหวั่นทุบมู้ดจับจ่าย

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า กรณีที่รัฐบาลจะมีมาตรการในการควบคุมมากขึ้นในพื้นที่ควบคุมสูงสุดจะทำให้ประชาชนมีความวิตกกังวล และส่งผลให้การบริโภคหดตัว 20-30% มากกว่าที่เคยคาดว่าจะหดตัวลง 5-10% หรือมูลค่า 100,000-150,000 ล้านบาท/เดือน ส่วนพื้นที่สีแดงเข้มจะหดตัวถึง 40-50%

อย่างไรก็ตาม หากัฐบาลมีเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 300,000-400,000 ล้านบาท ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตเป็นบวกได้

ถก 40 ซีอีโอฟื้นเศรษฐกิจ

โดยในวันที่ 19 เมษายนนี้ จะมีการประชุมระบบทางไกลระหว่างคณะกรรมการหอค้าไทยกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ใน 40 บริษัทใหญ่ของไทย เพื่อหารือถึงแนวทางการฟื้นเศรษฐกิจ หลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในรอบใหม่ รวมถึงขอความร่วมมือตามภารกิจเร่งด่วนที่หอการค้าไทยต้องการดำเนินการให้เกิดขึ้นภายใน 99 วัน

กกร.จ่อทบทวนตัวเลข ศก.ใหม่

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 21 เม.ย.นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะมีการพิจารณาทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจปี 2564 จากมาตรการล่าสุดที่ทาง ศบศ.พิจารณาออกมาในวันนี้ (16 เม.ย.) ว่าจะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร ส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง เบื้องต้นยังคาดการณ์ว่า จีดีพีไทยมีโอกาสขยายตัวเป็นบวกได้ แต่จะถึงบวก 4% ตามเป้าหมายหรือไม่ ต้องมาพิจารณาดูอีกครั้ง

โควิดทุบมู้ดจับจ่าย-กำลังซื้อ

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป เจ้าของแบรนด์ร้านอาหาร อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่น เซ็น อากะ ร้านอาหารญี่ปุ่น ปิ้งย่าง, มูฉะข้าวหน้าล้น, ออน เดอะ เทเบิล อาหารสไตล์ฟิวชั่น, อาหารตามสั่ง เขียง ฯลฯ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ 3 ที่ขยายวงกว้าง

ทำให้รัฐบาลต้องมีประกาศเลื่อนระยะเวลาปิดศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ เป็นเวลา 21.00 น. มีผลทำให้บรรยากาศการจับจ่ายไม่คึกคักเท่าที่ควร เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลและกลัวจะติดเชื้อ เนื่องจากมีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก นอกจากนี้ ปัจจัยกำลังซื้อก็ยังน่าเป็นห่วง เมื่อมีการระบาดรอบที่ 3 ผู้คนเริ่มประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอน

สำหรับร้านอาหารที่อยู่ภายในศูนย์การค้า จากเดิมห้างปิด 4 ทุ่ม ต้องปรับมาปิด 3 ทุ่ม ซึ่งเวลาปิดเร็วขึ้นเพียง 1 ชั่วโมง ระยะสั้นไม่ค่อยมีผลมากนัก ต้องรอดูระยะยาวต่อไป

ค้าปลีกไอทีงัดแผนสำรอง

ในส่วนตลาดค้าปลีกไอที นายสมยศ เชาวลิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ.ไอ.บี. คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของเครือข่ายร้านค้าปลีกสินค้าไอที “เจ.ไอ.บี” กล่าวว่า บริษัทได้เตรียมแผนสำรองเพื่อพยุงยอดขายกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ไว้เช่นกัน โดยมีการเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลให้พนักงานในแต่ละสาขา

พร้อมขยายทีมการตลาดดิจิทัลเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีประมาณ 100 คน และปรับรูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์รูปแบบใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการขายออนไลน์ รวมถึงเตรียมเปิดสาขาชั่วคราวนอกห้างสรรพสินค้าอีก 5 แห่งในกรุงเทพฯ เพื่อเป็นจุดจำหน่ายและให้บริการลูกค้า คาดว่าจะทำให้ยอดขายโดยรวมของบริษัทยังเติบโตต่อได้

ร้านอาหาร ผับ บาร์ กระทบอ่วม

นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจถนนข้าวสาร เปิดเผยว่า หลังจากภาครัฐประกาศมาตรการเคอร์ฟิวใน 18 จังหวัดพื้นที่สีแดง ปิดให้บริการสถานการบันเทิง ผับ บาร์ รวมถึงร้านอาหารสามารถเปิดให้บริการได้ถึง 21.00 น.ว่า จะกระทบธุรกิจร้านอาหาร ผับ บาร์ ทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง

รวมถึงแท็กซี่ ร้านค้าแผงลอย ทั้งระบบจำนวนหลายแสนคนตกงาน ไม่มีรายได้ ต้องปิดกิจการในที่สุด เฉพาะแรงงาน และนายจ้างที่ได้รับผลกระทบในปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารในเขตข้าวสารก็มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นรายที่อาจตกงาน

“ปัจจุบันถนนข้าวสารเปิดให้บริการ 20% หรือ 10 ล้านบาทต่อวัน จากหลักร้อยล้านบาท”

อย่างไรก็ตาม แม้มาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง แต่ก็พร้อมปฏิบัติตาม แต่รัฐควรมีมาตรการเยียวยา เช่น เว้นภาษีรายได้ประจำปี

เอกชนค้านปิดเกาะภูเก็ต

รายงานข่าวจากจังหวัดภูเก็ตเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน เมื่อ 15 เม.ย. 2564 ได้พิจารณามาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 โดยภาครัฐเสนอให้ปิดจังหวัด หรือปิดพื้นที่เสี่ยงซึ่งเป็นแหล่งแพร่เชื้อ แต่ภาคเอกชนไม่เห็นด้วย

นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ถ้าไม่ฉีดวัคซีนจะเกิดโรคอีกได้ น่าจะตัดคำว่าล็อกดาวน์ออกก่อน เชียงใหม่ชี้ล็อกดาวน์ท่องเที่ยววูบ

นายพัลลภ แซ่จิว ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยในทำนองเดียวกันว่า โควิด-19 ระลอกล่าสุดถือว่าหนักมากสำหรับเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเชียงใหม่ ทั้งนี้ มูลค่าการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ช่วงก่อนเกิดโควิดมีมูลค่าราว 1.2 แสนล้านบาท/ปี หรือเดือนละ 10,000 ล้านบาท คาดว่าลดเหลือเพียงเดือนละ 5,000 ล้านบาท


นางละเอียด บุ้งศรีทอง นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ (ตอนบน) กล่าวว่า เดิมคาดว่าอัตราการเข้าพักโรงแรมในเชียงใหม่ช่วงเดือน เม.ย. 2564 จะอยู่ที่ 30% แต่เมื่อเกิดโควิดระลอก 3 การเข้าพักโรงแรมในเชียงใหม่ลดลงเหลือเพียง 5% เท่านั้น หากมีการล็อกดาวน์อัตราการเข้าพักตัวเลขจะเป็นศูนย์ เพราะไม่มีการเดินทาง ทั้งนี้ จำนวนห้องพักโรงแรมทั้งหมดในเชียงใหม่อยู่ที่ 60,000 ห้อง ขณะนี้เปิดให้บริการเพียง 30% และถ้าการแพร่ระบาดลดลงภายใน 2 เดือนจะค่อย ๆ ฟื้นตัว