ถกปมขึ้นภาษีข้าวสาลี27%วุ่น รัฐหวั่นกระทบต้นทุนผลิต-ส่งออกพุ่ง

พาณิชย์ถกเกษตรฯ-คลัง แก้ปมวัตถุดิบอาหารสัตว์ หากขึ้นภาษีนำเข้าข้าวสาลี 27% ยกเลิกมาตรการ 3 ต่อ 1 ปลายปีนี้ ดันต้นทุนอาหารสัตว์พุ่ง หวั่นกระทบผู้ส่งออกกุ้ง-เกษตรกร-ผู้ผลิตอาหารคน “อภิรดี” นำคณะลงพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ติดตามสถานการณ์ผลผลิตข้าวโพดปี”60/61

รายงานข่าวระบุว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมการค้าภายในได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมประมง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ เพื่อให้ความเห็นกรณีพิจารณายกเลิกมาตรการบังคับให้ซื้อข้าวโพด 3 ส่วน เพื่อนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน หรือ (มาตรการ 3 ต่อ 1) ในปลายปีนี้ แล้วให้มีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าข้าวสาลี 27% เท่าเดิม แต่ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุป

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า กรมการค้าภายในวิเคราะห์ว่า หากปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าข้าวสาลีเป็น 27% จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตอาหารสุนัขและแมว จากปัจจุบันใช้ข้าวสาลี กก.ละ 11.18 บาท หากรวมภาษีนำเข้าเพิ่มเป็น 14.20 บาท ซึ่งมีปริมาณการใช้ข้าวสาลีในสูตรอาหารสัตว์ 8-45% จะทำให้ต้นทุนอาหารสุนัขและแมวที่จำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นตันละ 338.74 บาท, อาหารสุนัขส่งออกเพิ่มขึ้นตันละ 1,491.90 บาท และอาหารแมวส่งออกเพิ่มขึ้นตันละ 571.46 บาท ส่วนอาหารสัตว์อื่นจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจาก กก.ละ 7 บาท รวมภาษีเป็น กก.ละ 8.89 บาท ปริมาณการใช้ข้าวสาลีในสูตรอาหารสุกร 30-40% ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นตันละ 756 บาท และส่วนอาหารสัตว์ปีกใช้ 20-30% ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นตันละ 567 บาท

ส่วนกรมประมงวิเคราะห์ว่า การขึ้นภาษีนำเข้าข้าวสาลีจะกระทบต่อการเลี้ยงกุ้งและสัตว์น้ำวัยอ่อน เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และเป็นสารยึดเกาะ หากมีการเก็บภาษีนำเข้าข้าวสาลีตามอัตราตามสภาพ (specific rate) กก.ละ 2.75 บาท จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตอาหารกุ้ง ซึ่งใช้ข้าวสาลีสัดส่วน 10% และ 20% ราคาเพิ่มขึ้น 0.28 และ 0.55 บาทขึ้นไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้เลี้ยงกุ้ง

ขณะที่ผลผลิตกุ้ง 80% ส่งออกที่เหลือ 20% บริโภคภายในประเทศ ดังนั้น จะส่งผลให้ต้นทุนส่งออกสูงขึ้น แต่ผู้ประกอบการสามารถนำเข้าวัตถุดิบตามความตกลงจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ซึ่งภาษีนำเข้าเป็น 0%

ส่วนมาตรการดูแลการนำเข้ากากข้าวโพดที่เหลือจากการผลิตเอทานอล (DDGS) ได้มีการสอบถามไปยังสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง ซึ่งให้ความเห็นว่า จีนไม่ได้มีมาตรการห้าม/ระงับการนำเข้า DDGS แต่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบตามประกาศ 118 เรื่องการตรวจสอบกักกันโรคควบคุมดูแลคุณภาพของอาหารสัตว์ และวัตถุเจือปนในอาหารสัตว์นำเข้า-ส่งออก ขณะที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ระบุว่า ปัจจุบันภาษีนำเข้า DDGS ของเวียดนามอยู่ที่ 0% แต่มีบางประเทศเก็บภาษี 1-5% และกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม ได้ออกประกาศระงับการนำเข้า DDGS จากสหรัฐ เนื่องจากตรวจสอบพบศัตรูพืชกักกันที่ต้องควบคุม นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ถึงเดือนกันยายน 2560 จึงออกประกาศอนุญาตให้มีการนำเข้าได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมได้พิจารณาข้อดี-ข้อเสีย 2 ด้าน คือ หากขึ้นภาษีแล้วราคาข้าวสาลีนำเข้า สูงกว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ จะส่งผลให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ข้าวโพดในประเทศมากขึ้น เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้มีการปลูกมากขึ้น หรือไม่ผู้ผลิตอาหารสัตว์อาจจะไม่ใช้ข้าวโพด แต่หันไปใช้วัตถุดิบ DDGS แทนก็ได้ แต่ข้อเสียคือ ผู้ใช้ข้าวสาลีนำเข้าเพื่อผลิตอาหารคนที่ไม่สามารถหาวัตถุดิบอื่นมาแทนได้ จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น อาจทำให้สินค้าปลายทางมีราคาสูงตาม ผู้ผลิตกุ้งแปรรูปจะสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน

หรือกรณีที่ 2 หากขึ้นภาษีข้าวสาลีแล้วราคาข้าวสาลีนำเข้ายังต่ำกว่าราคาในประเทศ รัฐเสียรายได้จากภาษีนำเข้า ปริมาณการนำเข้าข้าวสาลียังเพิ่มขึ้น ทั้งจากผู้นำเข้ารายเดิม และผู้ใช้รายใหม่ที่หันมานำเข้าข้าวสาลีเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดมีรายได้ลดลง ผลกระทบด้านศักยภาพในการแข่งขันของผู้ผลิตกุ้ง ผลกระทบต่อผู้ผลิตอาหารที่ไม่สามารถใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนข้าวสาลีมีต้นทุนสูงขึ้น ราคาสินค้าปลายทางสูงขึ้น

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการดูแลการนำเข้าข้าวสาลีสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ ที่มีการตั้งประเด็นว่าควรจะปรับขึ้นภาษีนำเข้าข้าวสาลีกลับไปที่ระดับเดิม และยกเลิกมาตรการ 3 ต่อ 1 นั้น อยู่ระหว่างการศึกษา ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

สำหรับสถานการณ์ราคาข้าวโพดปี 2560/2561 ขณะนี้ยังทรงตัวอยู่ในระดับ กก.ละ 8 บาท ตามที่กรมการค้าภายในได้ขอความร่วมมือ โดยตนจะเดินทางพร้อมคณะนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะลงพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ ระหว่างวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2560 เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิต การจำหน่ายข้าวโพด โดยขณะนี้เป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด แต่เท่าที่ติดตามสถานการณ์ราคาจำหน่ายข้าวโพดขณะนี้ยังอยู่ในระดับ กก.ละ 8.00 บาทตามที่กระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือ