ส่งออกเครื่องนุ่งห่มฟื้น ไตรมาส 2 แข่งเดือด ชุด PPE-ตลาดฮ่องกงโต 88%

ตลาดเสื้อผ้า
FILE PHOTO : Markus Spiske จาก Pixabay

ภาพรวมการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ช่วง 2 เดือนแรก (มกราคม-กุมภาพันธ์) 2564 มีมูลค่า 980 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 13% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยสินค้าเครื่องนุ่งห่ม 353 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 17% ส่วนสินค้ากลุ่มสิ่งทอมีมูลค่า 628 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าคาดว่าแนวโน้มการส่งออกสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในไตรมาส 1 จะติดลบเล็กน้อย หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งยังเป็นช่วงที่มีการส่งออกอยู่เกือบเป็นปกติ “โควิด-19” มาเริ่มเกิดในช่วงเดือนมีนาคม 2563 และเริ่มส่งผลให้การส่งออกถดถอยชัดเจนในไตรมาส 2 ปี 2563

“แนวโน้มไตรมาส 2 ปีนี้ตัวเลขส่งออกน่าจะดีกว่าปีก่อนเล็กน้อย คาดว่าจะสามารถผลักดันการส่งออกเติบโต 5-10% แต่ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องจับตามอง อย่างไรก็ตามเท่าที่ดูตัวเลขผู้ผลิตรายใหญ่ช่วงไตรมาส 3-4 จะดีดตัวขึ้นเยอะซึ่งจะช่วยให้ภาพรวมการส่งออกมากกว่าปีที่ผ่านมาแน่นอน เพราะตอนนี้ลูกค้าเริ่มจองกำลังการผลิตเข้ามาจนเกือบเต็มแล้ว”

ในช่วง 2 เดือนแรก หากแยกตามชนิดสินค้าหลัก ๆ จะพบว่ากลุ่มเครื่องนุ่งห่มจากใยสังเคราะห์ (man made fiber) มูลค่า 109 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เครื่องนุ่งห่มจากผ้าฝ้ายมูลค่า 91 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

เสื้อผ้าที่ทำจากวัสดุสิ่งทออื่น ๆ มูลค่า 72 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนกลุ่มชุดชั้นในมูลค่า 36 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่มเสื้อผ้าเด็กมูลค่า 23 ล้านเหรียญสหัฐ ลดลง 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีเพียงกลุ่มกางเกงใน ถุงน่อง ถุงเท้า ไท ที่ส่งออกมูลค่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

“แนวโน้มตลาดชุด PPE ปีนี้ยังดีกว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็มีการแข่งขันผลิตเพิ่มขึ้นทำให้กำลังการผลิตล้นตลาด บุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่นิยมใช้ชุด PPE แบบใช้แล้วทิ้ง สำหรับแบบ disposable ทางสาธารณสุขซื้อไปเตรียมความพร้อมเพิ่มเป็นระยะ ราคาชุด PPE ในปีนี้จึงปรับลดลง” นายยุทธนากล่าว

สำหรับตลาดส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มสำคัญ 5 ตลาดหลัก คิดเป็นสัดส่วนรวม 85% ของการส่งออกประกอบด้วย สหรัฐ มูลค่า 133 ล้านเหรียญสหรัฐลดลง 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สหภาพยุโรป 72 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ญี่ปุ่นมูลค่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อาเซียน 14 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และตลาดจีนมูลค่า 19 ล้านเหรียญสหรัฐลดลง 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ฮ่องกง เป็นตลาดเดียว “ขยายตัว”ถึง 88% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่า 13 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ตลาดฮ่องกงเติบโตสูงมากถึง 88% แต่ในเชิงมูลค่าตลาดนี้ยังมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก เท่าที่ตรวจสอบพบว่ามีการนำเข้าสินค้ากระจายในหลายหมวดสินค้า คงต้องดูต่อเนื่องประมาณ 1-2 เดือนว่าเป็นผลจากปัจจัยใดที่ทำให้ตลาดนี้เพิ่มขึ้นและจะเป็นการเพิ่มในระยะยาวหรือไม่”