เทรนด์ใหม่ “ซี.พี.-ทียู-ปตท.” บุกตลาด “Future Food” แสนล้าน

อาหารอนาคต (future food) โดยเฉพาะอาหารประเภทโปรตีนทางเลือก หรือ plant base food กำลังเป็นสินค้าที่ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายในวงการอาหาร นับจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)

คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ของโลกเพิ่มขึ้น 30% ภายใน 15 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งการผลิตเนื้อสัตว์จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ทำให้ผู้บริโภคที่รักษ์สุขภาพและสิ่งแวดล้อมหันมาเลือกรับประทานอาหารสุขภาพมากขึ้น

“นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และประธานกลุ่มอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า โปรตีนทางเลือกที่ผลิตจากพืช เช่น ถั่ว เห็ด สาหร่าย ข้าวโอ๊ต อัลมอนด์ ในรูปแบบที่หลากหลาย เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น

ซึ่งจริง ๆ แล้ว เราคุ้นเคยกับอาหารประเภทนี้มานานแล้ว นับจากโปรตีนเกษตร ในกลุ่มผู้ทานมังสวิรัติ ซึ่งภายหลังนวัตกรรมการผลิตอาหารกลุ่มนี้ทำให้สินค้าโปรตีนจากพืช มีรสชาติ กลิ่น และสีเหมือนกับผลิตภัณฑ์จากสัตว์

“ตลาดโปรตีนทางเลือกตามข้อมูล Euro Monitor ปี 2019 (2561) มีมูลค่าถึง 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4.8 แสนล้านบาท เติบโต 105% โดยเฉลี่ย ซึ่งสหรัฐเป็นตลาดที่มียอดขายสินค้าแพลนต์เบสสูงมากถึง 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 11.4% ต่อปี สูงกว่ายอดขายปลีกอาหารโดยรวมของสหรัฐ ขณะที่ไทยมีมูลค่าการค้าอยู่ที่ 28,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มจะเติบโตเฉลี่ย 10% หรือเพิ่มขึ้นเป็น 45,000 ล้านบาทในปี 2024 (2567) หรือ 3 ปีข้างหน้า”

ทั้งนี้ ภาครัฐได้ให้การสนับสนุนภาคธุรกิจในการลงทุนเรื่องนี้ในเชิงนวัตกรรม เช่น หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย (บพข.) ภาครัฐ และผู้ประกอบการออกเงินร่วมกันในการพัฒนานวัตกรรมโดยทั่วไปจะต้องไปจับกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ด้วย นอกจากนี้ยังมีสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) เป็นต้น

“ซีพีเอฟ-ซีพีแรม” ลุยก่อน

หากโฟกัสที่ประเทศไทยจะเห็นว่ามีทั้งผู้ผลิตแบรนด์ไทยและต่างชาติมุ่งเข้ามาทำตลาด เช่น สัปดาห์ที่ผ่านมาซีพีแรม บริษัทในกลุ่ม ซี.พี.ก็มีการส่งผลิตภัณฑ์ข้าวกล่อง VG for Love ลงสู่ตลาด เจาะกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคพืช โดยมีเป้าหมายจะทำรายได้ 120 ล้านบาท

ขณะที่ นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ plant-based คาดว่าจะเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ เป็นโปรตีนทางเลือกจากถั่วเหลือง ทั้งนี้ ซีพีเอฟมีนโยบายมุ่งสู่การพัฒนาอาหารอนาคต (future food) โดยเฉพาะการพัฒนาอาหารเสริม รวมถึงส่วนผสมที่มีคุณค่าทางโภชนาการ nutrition หรือคุณค่าทางโภชนาการ

TU เปิดตัวโปรตีนทางเลือก

เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เปิดเผยว่า ภายในปี 2568 หรืออีก 5 ปี บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตเฉลี่ยปีละ 5% โดยคาดว่าจะมีรายได้ 1.6 แสนล้านบาท

ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นรายได้ที่มาจากธุรกิจใหม่ ๆ และนวัตกรรมจากสตาร์ตอัพ ซึ่งในปีนี้จะเริ่มเห็นการลงทุนโปรตีนทางเลือก (plant-based food) อาหารทางเลือกของผู้บริโภคที่ใส่ใจอาหารเพื่อสุขภาพ และได้เปิดตัวแบรนด์ OMG Meat (โอเอ็มจี มีท) โปรตีนจากพืช (plant-based meat and seafood) แบรนด์น้องใหม่ที่ไม่ใช้เนื้อสัตว์

คาดว่าปี 2564 จะมีรายได้จากกลุ่มธุรกิจใหม่ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และภายในอีก 5 ปีจะสามารถเพิ่มรายได้ 1,000 ล้านบาท ซึ่งโอกาสของธุรกิจนี้เป็นเทรนด์บริโภคที่มีอัตราการเติบโตสูง รวมทั้งกำไรสูงกว่าธุรกิจอาหารกระป๋องอีกด้วย

เป้าหมายของทียูไม่ใช่เพียงตอบโจทย์คนรุ่นใหม่สาย flexitarian ที่มีแนวโน้มหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ด้วยการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง หรือเลือกทานเป็นบางประเภท เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า การลดบริโภคเนื้อสัตว์ นอกเหนือจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเนื่องมาจากการทำปศุสัตว์ ซึ่งส่งผลต่อสภาวะโลกร้อนแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงจากโรคที่มาจากการรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง

สอดคล้องกับเป้าหมายของไทยยูเนี่ยนที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน และความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล ทั้งนี้ OMG Meat มีทั้งรูปแบบอาหารทะเลจากพืช ได้แก่ หอยจ๊อปู ขนมจีบปู เนื้อปู นักเก็ต และรูปแบบไม่ใช่อาหารทะเล อย่างเนื้อหมู ไก่ จากพืช ได้แก่ ซาลาเปาหมูแดง และนักเก็ตไก่ ในราคา 70-150 บาท มีวางจำหน่ายแล้วที่กูร์เมต์มาร์เก็ตและเดอะมอลล์ทุกสาขา

พร้อมกันนี้ได้ลงทุนในสตาร์ตอัพ 6 บริษัทด้วยกัน ทั้งนี้ ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนอีก 2 แห่งที่เน้นธุรกิจใหม่ ๆ ในการนำนวัตกรรมเข้ามาเป็นหลักในการทำธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน ปีที่ผ่านมาบริษัทได้ลงทุนในสตาร์ตอัพ 4 บริษัท

โดยสามบริษัทแรกจากโครงการสเปซ-เอฟ ได้แก่ มันนา ฟู้ดส์ บริษัทโปรตีนทางเลือก อัลเคมี ฟู้ดเทค ธุรกิจนวัตกรรมอาหารสำหรับผู้ป่วย และบริษัทไฮโดรนีโอ บริษัทเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ส่วนบริษัทที่สี่คือ วิสไวร์ส นิวโปรตีน อีกหนึ่งบริษัทเงินทุนสัญชาติสิงคโปร์ ที่ทำธุรกิจบริหารกองทุนที่มองหาโอกาส ความร่วมมือและร่วมลงทุนในเทคโนโลยีอาหาร

ปตท.จับโอกาส อาหารนิวทริชั่น

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้นำธุรกิจพลังงานอย่างเครือ ปตท.ยังให้ความสนใจลงทุนด้านนี้ โดยตั้งบริษัท อินโนบิก เอเซีย ขึ้น ซึ่ง “นายบุรณิน รัตนสมบัติ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทมองเห็นโอกาส อาหารนิวทริชั่น หรืออาหารอนาคต (ฟิวเจอร์ฟู้ด) ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงราคาได้ ซึ่งอาจจะเป็นอาหารที่มีคุณสมบัติเป็นยา อาหารสำหรับผู้ป่วย หากเราทำสำเร็จ ประเทศในเอเชียอีกกลุ่มหนึ่งก็เป็นกลุ่มกำลังเติบโต

ส่วนหนึ่ง คือ อาหารคนสูงวัย เพราะกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย อาทิ ไทย ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ มีโอกาสอีกมากหากเราสามารถเปลี่ยนอาหารที่ขายราคาไม่สูงมากให้เป็นอาหารเฉพาะกลุ่ม เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เป็นยา เป็นประโยชน์ เป็น 1 ใน new S-curve ที่สำคัญ

หนุนสร้าง Ecosystem

ฝั่งรัฐบาล นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (first S-curve new S-curve) โดยมีพืชแห่งอนาคต (future crop) เพื่อตอบสนองการผลิตอาหารแห่งอนาคต (future food) ที่มีแนวโน้มความต้องการของตลาดเติบโตอย่างต่อเนื่อง หากการผลิตอาหารยังคงดำเนินไปในรูปแบบเดิม การสนับสนุนการบริโภคโปรตีนจากพืชจึงเป็นหนึ่งในแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด

“ตลาดโปรตีนทางเลือกในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่สำหรับตลาดสินค้าประเภทดังกล่าวในระดับโลกนั้นถือว่ามีแนวโน้มการเติบโตที่สูง โดยปัจจุบันตลาดโปรตีนทางเลือกของโลกนั้นมีขนาดถึง 12,800 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังมีแนวโน้มว่าจะเติบโตในช่วงระหว่างปี 2562-2568 ถึง 6.8% เฉลี่ยต่อปี ซึ่งไทยมีโอกาสอีกมาก”

นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF หนึ่งในพันธมิตรโครงการอาหารแห่งอนาคต (Future Food) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า สิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องวางปัจจัยสำคัญในระบบ ecosystem ให้ชัดเจน

โดยจะเห็นว่า สิงคโปร์มีการพัฒนาระบบให้รองรับอุตสาหกรรมนี้อย่างมาก จึงเป็นเรื่องสำคัญกับการลงทุนที่ต่อเนื่อง และการลงทุนใหม่ ๆ โดยเฉพาะงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ โดย BOI จะต้องพิจารณามาตรการสนับสนุน กระตุ้นการลงทุน อาทิ เว้นภาษี 10 ปี เนื่องจากการลงทุนของอุตสาหกรรมนี้ต้องอาศัยเงินลงทุนค่อนข้างสูง ทั้งเรื่องของเทคโนโลยี วิจัย และต้องใช้ระยะเวลาในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

มากไปกว่านั้น รัฐควรให้ความรู้ เปิดใจประชาสัมพันธ์ว่า “โปรตีนทางเลือก” ส่งผลดีต่อสุขภาพในทางตรง ส่วนในทางอ้อมยังสามารถลดโลกร้อน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

NRF ผนึก ก.เกษตร อัพเกรด “ฟิวเจอร์ฟู้ด”

การยกระดับภาคการเกษตรเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ไทยถือเป็นผู้ผลิตอาหารสำคัญในฐานะครัวโลก ล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดทำโครงการอาหารอนาคต (Future Food) ขึ้น เพื่อพัฒนาต่อยอดสินค้าเกษตรของไทยไปสู่การผลิตโปรตีนจากพืช (plant based protein)

นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ในฐานะหนึ่งในพาร์ตเนอร์โครงการนี้ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ปัจจุบันมูลค่าตลาดอาหารโปรตีนจากพืช (plant-based food) ทั่วโลก 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นไปแตะ 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใน 10 ปี

แดน ปฐมวาณิชย์
แดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF

จากที่ผู้บริโภคเห็นข้อดีของวัตถุดิบอาหารจากพืชและใส่ใจการรับประทานอาหารเพื่อดูแลสุขภาพ โดยใช้วัตถุดิบจากพืชมาผลิต เช่น ขนุน ถั่วเหลือง ถั่วลันเตา มะเขือยาว เห็ด สาหร่าย เป็นต้น คาดการณ์ว่าหลังจากนี้เทรนด์นี้จะมีการสร้างนวัตกรรมทำให้รสชาติเนื้อสัมผัส และกลิ่นเหมือนโปรตีนมากที่สุด ในราคาเท่ากับเนื้อสัตว์เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น

“ขณะนี้อุตสาหกรรมโปรตีนจากพืช (plant-based) ขยายตัวต่อเนื่องทั้งในด้านผู้บริโภค รวมไปถึงผู้ประกอบการที่เข้ามาเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยมองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยส่งเสริมให้การบริโภค plant-based เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งประเทศไทยยังอยู่ในระยะแรกเพิ่งเริ่มสนใจ แต่ยังมีน้อย ยังไม่เป็นที่นิยม แต่ในต่างประเทศทั้งสหรัฐ สหภาพยุโรป บราซิล จีน อินเดีย เทรนด์การบริโภคโปรตีนนี้มาแรงมากเป็นตลาดใหญ่”

อย่างไรก็ตาม ไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพเป็นฮับการผลิตอาหารโปรตีนจากพืช ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
เพื่อรองรับเทรนด์การรับประทานอาหารแนวใหม่ในยุค new normal ของผู้บริโภคทั่วโลก แต่ปริมาณวัตถุดิบถั่วเหลืองในประเทศไทยซึ่งยังมีน้อย

รัฐบาลควรส่งเสริมพื้นที่ปลูก เพราะสามารถนำมาแปรรูปและพัฒนาได้อีกมาก ถือเป็นหนึ่งในการยกระดับภาคเกษตรภายใต้นโยบายที่รัฐบาลได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (new S-curve) เพื่อสร้างโอกาสและศักยภาพใหม่ให้กับประเทศ

ในส่วนของบริษัทพร้อมสนับสนุนภาครัฐ เข้าสู่ตลาดอาหารแห่งอนาคต โดยอาศัยความเชี่ยวชาญการดำเนินงานของ NRF ที่เป็นฐานการผลิตอาหารกลุ่มนี้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จากการซื้อผลผลิต โดยส่วนใหญ่บริษัทรับเป็น OEM จะเริ่มสนับสนุนสินค้าเกษตร และสนับสนุนธุรกิจการเกษตรใหม่ ๆ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ทำให้ผลิตสินค้าที่มีความหลากหลาย ผลักดันความต้องการอาหารโปรตีนจากพืชให้เติบโต

โดยบริษัทจะลงทุนก่อสร้างโรงงานให้ครอบคลุม 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย อังกฤษ จีน และอเมริกา เพื่อเป็นฐานการผลิตทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมเพื่อผลิตและส่งออกอาหารโปรตีนจากพืชไปทั่วโลก โดยมีเป้าหมายว่า ปี 2564 จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อนที่มีรายได้ 1,600 ล้านบาท หรือ 8% เฉพาะกลุ่ม plant-based food ที่คาดว่าสัดส่วนรายได้ในปีนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากกระแสตอบรับความนิยมบริโภค โดยสัดส่วนรายได้หลักมาจากตลาดส่งออก 70%

จากนั้นภายใน 5 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าสร้างรายได้เพิ่ม 3,000 ล้านบาท ภายใต้กลยุทธ์การเจาะตลาดอาหารกลุ่ม specialty food ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก และมีอัตราการเติบโตสูง โดยบริษัทจะให้ความสำคัญในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารไทยและอาหารท้องถิ่น (ethnic food) ผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช (plant-based food) และผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน (functional products)

อนึ่ง บริษัท NRF ดำเนินธุรกิจผลิตจัดหา และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปรุงรสอาหาร อาหารสำเร็จรูป เครื่องปรุงสำหรับประกอบอาหาร อาหารมังสวิรัติที่ไม่มีส่วนผสมของไข่และนม อาหารโปรตีนจากพืช อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมรับประทาน มีผลิตภัณฑ์มากกว่า 2,000 ประเภทสินค้า และมากกว่า 500 สูตร จำหน่ายไปยังกว่า 25 ประเทศทั่วโลก และได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา