5 ปี “ทุเรียน” จ่อแซง “ข้าว-ยาง”

ทุเรียน
แฟ้มภาพประกอบข่าว

จากผลการศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2564-2568) โลกส่งออกทุเรียนเพิ่มขึ้น 134.5% เป็น 1,812,201 ตัน จีนยังคงเป็นผู้นำเข้าทุเรียนเบอร์ 1 นำเข้าเพิ่มขึ้น 95.1% จากปี 2563 เป็น 938,882 ตัน

ไทยครองแชมป์อันดับ 1 ส่งออก 1,044,672 ตัน (57.65%) ในปี 2568 และมีโอกาสเพิ่มผลผลิต 83% หรือ 2,028,490 ตัน ซึ่งคาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น 68.3% หรือ 1,044,672 ตัน มากกว่าอินโดนีเซียที่คาดว่าจะผลิตได้ 1,581,388 ตัน ส่งออก 159,720 ตัน มีสัดส่วนการบริโภคในประเทศ 99.9% ส่งออก 0.1%

และมองถึงแนวโน้มราคาทุเรียนหมอนทองที่เกษตรกรขายได้ที่สวน (เฉลี่ยทั้งประเทศ) ในปี 2564-2568 ประมาณ 126 บาท/กก. จึงน่าห่วงว่าการผลิตทุเรียนของไทยจะต้องขยายพื้นที่ไปรุกพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นหรือไม่

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าโอกาสที่การส่งทุเรียนจะแซงข้าวได้ เพราะปัจจุบันไทยส่งออกทุเรียนปีละ 1 แสนล้านบาทใกล้เคียงกับข้าว

“ทุเรียนมีโอกาสแซงหน้าข้าวมากกว่ายาง เพราะไทยส่งออกยางพาราปีละ 5 แสนล้าน แต่ในส่วนของยางยังมีมูลค่าแฝงอุตสาหกรรมโดยรวมยังสูงกว่า”

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญจะรักษาการเติบโตของทุเรียน คือ ต้องแปรรูปเพิ่มการสร้างมูลค่าเพิ่มทุเรียน และต้องขยายตลาดทุเรียนให้มากขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะจีน แม้ว่าตลาดจีนมีความต้องการทุเรียนขยายตัวอย่างก้าวกระโดดก็ตาม

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการผลิตทุเรียนคู่แข่งจากมาเลเซีย เวียดนาม และ CLMV จะทำตลาดแย่งส่วนแบ่งทุเรียนไทยได้มากน้อยแค่ไหน และความเสี่ยงอีกอย่าง คือ ทุเรียนไทยต้องมีคุณภาพ และต้องแก้ปัญหาเรื่องการตัดทุเรียนอ่อน

ส่วนแนวโน้มการส่งออกทุเรียนปีนี้มีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและราคา ปัจจัยจากเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นตลาดหลักในการส่งออกมีอัตราเติบโตมาก ในไตรมาส 1 เศรษฐกิจจีนเติบโต 18.3% อย่างไรก็ตาม ไทยต้องระวังความเสี่ยงทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คู่แข่ง การตัดทุเรียนอ่อนไปขาย

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ช่วง 5-6 ปีนี้พื้นที่ปลูกยางพาราลดลงอย่างมาก มีเกษตรกรมาแจ้งโค่นยางทั้งเพื่อปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น อาทิ ทุเรียน หรือพืชอื่น ๆ

ประกอบกับในช่วง 6 ปีที่ผ่านมามีนโยบายลดพื้นที่ปลูกยางพาราเพื่อให้เกษตรกรปรับพื้นที่ปลูกพืชผสมผสาน ในข้อนี้เป็นหนึ่งในมาตรการปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสม ลดความเสี่ยงราคาผันผวน ซึ่งปัจจุบันมีการบริหารจัดการไปแล้วกว่า 8,000 ไร่ จากเป้าหมาย 2 ล้านไร่ หรือ 4 แสนไร่ต่อปี

“การปลูกยางต้องให้มีการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri-Map) ให้มีมาตรฐานชาวสวนยางที่มีองค์ความรู้เรื่องการจัดการสวนยางแบบใหม่ อาทิ เรื่องระยะการปลูก จำนวนต้น ต้องสอดคล้องรับรองมาตรฐานการจัดการสวนยางยั่งยืนระดับสากล การโค่นยางปรับเป็นพื้นที่ปลูกแบบผสมผสาน อนาคตพื้นที่เหล่านี้จะถูกกำหนดรูปแบบราคาเฉพาะพื้นที่ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ทำให้เกษตรกรเริ่มปรับลดพื้นที่ปลูกแต่ให้มีมาตรฐานมากขึ้น”