ราคาเหล็กโลกทะยาน 2 เท่า รับเหมาอ่วมต้นทุนเพิ่ม 37%

เหล็ก

ส.อ.ท.ชี้ดีมานด์เหล็กโลกฟื้น ดันราคาพุ่ง 2 เท่า ทำนิวไฮ 1,400 เหรียญสหรัฐ/ตัน “จีน-ญี่ปุ่น” ดูดซื้อวัตถุดิบเหล็กต้นน้ำกระทบการผลิตเหล็กเกรดพิเศษของไทย ด้านโรงเหล็กแผ่นในประเทศปรับขึ้นราคาตาม กระทบรับเหมาก่อสร้างโอดต้นทุนพุ่ง 37.5% แต่อุตสาหกรรมรถยนต์ยังพอไหวปริมาณผลิตเหล็กตึงตัวไม่ถึงกับขาดเหล็กเกรดพิเศษ

นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวถึงราคาสินค้าเหล็กของโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยประเทศจีนราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนเมื่อกลางปี 2563 ต่ำสุดตันละ 420 เหรียญสหรัฐ แต่ขณะนี้ราคาเสนอขายสูงขึ้นถึง 2.2 เท่า หรือตั้งแต่ตันละ 910-925 เหรียญ ส่วนสหรัฐนั้นราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนขึ้นสูงสุดในโลกถึงตันละกว่า 1,400 เหรียญแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ความต้องการเหล็กของภูมิภาคต่าง ๆ ปรับตัวดีขึ้นเกือบทั่วโลก ในขณะที่การผลิตเหล็กโลกเพิ่มตามไม่ทัน โดยเฉพาะปีนี้เศรษฐกิจจีนยังขยายตัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการเข้ามาแย่งซื้อเหล็ก ทำให้ราคาเหล็กสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบ ที่จีนนำเข้ามากที่สุด

ในส่วนของประเทศไทย ภาพรวมปีนี้ความต้องการใช้เหล็กของไทยน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 6% หรือคิดเป็น 17.5 ล้านตัน ดังนั้นจะมีสินค้าเหล็กบางตัวอาจขาดแคลนในระยะสั้น แต่หากผู้ใช้เหล็กมีการวางแผนการใช้เหล็กและประสานกับโรงงานผู้ผลิตเหล็กในประเทศให้มี lead-time การสั่งซื้อวัตถุดิบและการผลิตทันเวลาก็น่าจะคลี่คลายปัญหาได้

“ราคาจำหน่ายเหล็กในประเทศคงต้องปรับขึ้นตามราคาวัตถุดิบในตลาดโลกที่ขยับขึ้น ไม่เช่นนั้นเราคงไม่สามารถซื้อวัตถุดิบได้แน่ แต่ราคาเหล็กที่ขึ้นไปจะเป็นไปตามราคาวัตถุดิบ อย่างของจีสตีล ทำเหล็กเส้นที่ใช้เศษเหล็ก ราคาเศษเหล็กในตลาดโลกตอนนี้ขยับขึ้นไปเยอะเลย ส่วนเหล็กเกรดพิเศษที่ใช้ผลิตรถยนต์ ปรากฏอุตสาหกรรมรถยนต์ในญี่ปุ่นฟื้นตัวดีมาก โรงงานเหล็กในญี่ปุ่นเลยเน้นผลิตป้อนอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศเป็นหลัก และส่งออกน้อยลงทำให้ราคาสูงขึ้น

ปกติเหล็กเกรดนี้ เหล็กนำเข้าจากญี่ปุ่นจะครองตลาดในไทยเป็นหลัก ผู้ผลิตในไทยมีส่วนแบ่งตลาดต่ำมาก พอญี่ปุ่นส่งออกน้อยลง สินค้าก็เลยขาด และที่สำคัญ ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้-ไต้หวัน ถ้ามีเหล็กแผ่นพอส่งออกก็จะส่งออกไปจีนเป็นลำดับแรก เพราะจีนให้ราคาสูงมาก ซึ่งปีที่แล้วจีนนำเข้าสินค้าเหล็กเพิ่มขึ้นเป็น 6 เท่า จนการนำเข้าเหล็กของจีนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เหล็กขาดแคลนและราคาสูง” นายนาวากล่าว

โรงเหล็กปรับขึ้นราคา

รายงานจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยเข้ามาว่า ราคาเหล็กทรงแบนของจีนปรับตัวขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ โดยเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน (HRC) เหล็กแผ่นรีดเย็น (CRC) และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (HDG) ในช่วงปลายเดือนมีนาคมปรับตัวขึ้น 8.6% 3.3% และ 5.5% หรือ 789 เหรียญ 869 เหรียญ และ 913 เหรียญ/ตัน ตามลำดับ ขณะที่ผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาวก็ปรับขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ ทั้งเหล็กเส้น billet และ wire rod ปรับขึ้นอีก 5% 12.2% และ 4% หรือ 726 เหรียญ 731 เหรียญ และ 731 เหรียญ/ตัน ตามลำดับ

แหล่งข่าวจากวงการค้าเหล็กกล่าวว่า ราคาเหล็กแผ่นในประเทศจากผู้ผลิตทั้ง 2 ราย ได้ปรับขึ้นราคาไปอีก กก.ละ 3.50 บาท หรือจากเดิม กก.ละ 24.70 บาท ปรับขึ้นเป็น 28 บาทกว่า/กก. นอกจากนี้ เหล็ก H beam-I beam ก็ปรับราคาขึ้นไปอีก กก.ละ 50 สตางค์ ขณะที่เหล็กเส้นราคายังคงอยู่ที่ กก.ละ 22-23 บาท/กก. เนื่องจากในประเทศมีโรงงานเหล็กเส้นล้นเกิน ทำให้ผู้ผลิตต้องแข่งขันทางด้านราคามากกว่าเหล็กแผ่นหรือเหล็กม้วน

รับเหมาโอดเหล็กพุ่ง 37.5%

ด้าน นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า จากการที่ราคาเหล็กโลกปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อราคาเหล็กใช้ก่อสร้างในประเทศต้องปรับราคาตามไปด้วย 37.5% จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 16 บาท/กก. เป็น 22 บาท/กก. ทำให้ต้นทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้นไปด้วย

“เหล็กใช้ในประเทศเป็นการนำเข้าเศษเหล็กจากต่างประเทศเข้ามาผลิตในประเทศ เมื่อราคาโลกผันผวน ราคาขายในประเทศจะผันผวนตามไปด้วย แม้ว่ารับเหมาจะสามารถขอค่า K ชดเชยได้ตามสัญญา แต่ได้ไม่เกิน 4% เท่านั้น ขณะที่ต้นทุนก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้นไปมาก แต่ตอนนี้ยังไม่ได้รับรายงานจากบริษัทที่เป็นสมาชิกสมาคมว่ามีการทิ้งงานแต่อย่างใด”

นายพลพัฒ กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ กล่าวว่า เหล็กที่ใช้ในงานก่อสร้างมีการปรับราคาจากเดิม 16-17 บาท/กก. เป็น 21-22 บาท/กก. โดยบริษัทได้เจรจากับซัพพลายเออร์ขอ “ล็อก” ราคาเดิมไว้ เพื่อคุมต้นทุนการก่อสร้าง ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือกว่า 30 โครงการ มูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท

ส่วน นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น กล่าวว่า บริษัทประสบปัญหาต้นทุนก่อสร้างสูงขึ้นจากเหล็กที่มีการปรับราคา ต้องบริหารจัดการไปตามสภาพ เนื่องจากเป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้นจะเลือกจังหวะการซื้อ บริหารการซื้อด้วยเงินสด บริหารจัดการทางด้านวิศวกรรมให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด เข้าไปดูขั้นตอนการผลิตของเหล็กต้นทางว่า มีขั้นตอนไหนที่จะสามารถลดต้นทุนได้บ้าง และต้องการให้ภาครัฐมีค่า K ชดเชยให้กับเอกชนผู้รับเหมาด้วย

ยานยนต์ชี้สต๊อกยังพอ

นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เหล็กปรับราคาขึ้นในระยะสั้นจะไม่ได้ส่งผลต่อภาคการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ สอดคล้องกับ นายกรกฤช จุฬางกูร ประธานบริหาร บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปกติโรงงานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ หรือ OEM จะมีการประเมินราคาวัตถุดิบไว้สูงกว่าความเป็นจริง เพื่อกระจายความเสี่ยงไว้ส่วนหนึ่งแล้ว และกระบวนการสั่งซื้อในภาคการผลิตจำเป็นต้องสั่งซื้อล่วงหน้าจากต่างประเทศเป็นเวลา 3 เดือน ดังนั้นในช่วงสั้น ๆ นี้จะไม่เกิดผลกระทบแน่นอน

น.ส.ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานอาวุโส กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท กล่าวว่า สถานการณ์เหล็กขาดแคลนหรือมีราคาปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากกำลังการผลิตรถยนต์ทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว ดังนั้น แต่ละประเทศจึงมีการกันเหล็กไว้ใช้เอง ส่วนโควตาส่งออกก็เลือกประเทศที่ราคาเหล็กดีกว่าก่อน เช่น แอฟริกา แต่อย่างไรก็ดี ซัพพลายเหล็กก็จะถูกเลือกป้อนส่งอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นทางเลือกแรก เพราะมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าอยู่แล้ว แต่ก็จะต้องซื้อในราคาที่สูงขึ้น โดยราคาเหล็กค่อย ๆ ปรับขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว จนถึงไตรมาส 3 ของปีนี้ คาดการณ์ว่าจะขึ้นราว ๆ 10 บาทต่อกิโลกรัม

“สถานการณ์นี้ทำให้ซัพพลายเหล็กตึงตัว แต่ไม่ถึงกับขาดแคลนจนกระทบภาพรวมการผลิตรถยนต์ของประเทศ”