“กยท.” โละสต๊อกยางเก่าแสนตัน ชาวสวนหวั่นทุบราคาดิ่ง 5บ./กก.

FILE PHOTO : Jonathan KLEIN / AFP

กยท.เปิดประมูลโละสต๊อกยางเก่า 1.04 แสนตัน “ศรีตรัง” เมินร่วมชี้จังหวะเหมาะเพราะเป็นช่วงหยุดกรีด มั่นใจพ่อค้าแย่งซื้อผู้ว่าการ กยท.ฟันธงปี’64 สารพัดปัจจัยบวก ดีมานด์จีนพุ่ง-อานิสงส์ถุงมือยางส่งออกดีต่อเนื่องดันราคาตลาดพุ่ง ด้านชาวสวนหวั่นประมูลทุบราคาดิ่ง 5 บ./กก.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ออกประกาศเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2564 ให้ยื่นข้อเสนอซื้อยางแผ่นรมควันอัดก้อน ยางแท่ง STR 20 และยางอื่น ๆ แบบ “เหมาคละคุณภาพและคละโกดัง” รวมปริมาณยาง 104,763.35 ตัน ใน 17 โกดัง โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจลงทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิร่วมเสนอราคาซื้อ ตั้งแต่วันที่ 9-20 เม.ย. 2564 ทั้งนี้ กยท.กำหนดคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูลดังนี้

1.ต้องเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย และมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท

2. ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเป็นนิติบุคคลที่เคยมีผลงานประมูลยางโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางในหน่วยงานภาครัฐ รวมทุกสัญญามีมูลค่าไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท

3. เป็นบริษัทที่มีโรงงานผลิตและแปรรูปยาง STR20 และมีปริมาณการผลิตปี 2563 กว่า 200,000 ตัน 4.ไม่เคยผิดสัญญาซื้อขายโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง หรือฟ้องร้องดำเนินคดีกับ กยท.

หลักเกณฑ์การประมูล ผู้เสนอราคาสูงสุดจะเป็นผู้ชนะ และต้องเข้าทำสัญญากับ กยท.ภายในวันที่ 22-30 เม.ย. 2564 ขณะเดียวกันจะต้องชำระเงินในวันทำสัญญา 30% ของมูลค่ายางทั้งหมด ส่วนที่เหลือให้ชำระเป็นงวด ๆ ตามจำนวนที่รับมอบ จนครบกำหนดตามสัญญาภายในระยะเวลาที่กำหนด ภายใน 28 พ.ค. 2564 ดำเนินการรับมอบให้แล้วเสร็จภายใน 31 พ.ค. 2564 ซึ่งผู้ซื้อต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมถึงค่าใช้จ่ายในกรณีที่รับมอบล่าช้ากว่ากำหนดทั้งหมดด้วย

โละสต๊อก 1.04 แสนตัน

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กยท.เปิดขายสต๊อกยาง 1.04 แสนตัน เป็นยางเก่าที่เก็บรักษามาตั้งแต่ปี 2553-2555 เพราะมองว่าช่วงเวลานี้สถานการณ์ราคายางค่อนข้างดี ประกอบกับเป็นการขายในช่วงฤดูปิดกรีดยาง อีกทั้งสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้ปริมาณยางออกสู่ตลาดลดลง มีผลผลิตน้อย การระบายสต๊อกช่วงนี้จะกระทบต่อราคาตลาดน้อยที่สุด ที่สำคัญทุกอย่างจะต้องบริหารจัดการให้จบก่อนเปิดกรีดยางฤดูใหม่ หรือก่อนผลผลิตฤดูกาลใหม่ภายในเดือน พ.ค.นี้

ปัจจัยบวกดันราคายางปี’64

“ผลผลิตยางลดลงต่อเนื่องโดยเดือนเมษายนนี้ลดลงจากเดือน ม.ค.ถึง 80% การที่ผลผลิตน้ำยางในตลาดน้อยลง ประกอบกับกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นหลังเทศกาลตรุษจีน ทำให้ราคายางมีแนวโน้มเป็นบวก และคาดว่าทั้งปี 2564 ระดับราคาจะมีเสถียรภาพมาก ล่าสุด ราคายางแผ่นรมควัน กก.ละ 60-70 บาท อาจปรับขึ้นได้อีก

หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย อีกปัจจัยสำคัญคือความต้องการใช้ยางในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะถุงมือยางยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นเท่าตัว จาก 370,000 ล้านชิ้น ในปีที่ผ่านมา เป็นกว่า 600,000 ล้านชิ้น ในปี 2564 บวกกับการส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างจีนเริ่มกลับมาเป็นปกติ ทั้งหมดจะส่งผลต่อราคา เป็นผลดีต่อเกษตรกรชาวสวนยาง”

สวนยางหวั่นราคาร่วง 5 บาท/กก.

อย่างไรก็ตาม นายประยูรสิทธิ์ คณานุรักษ์ ประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในฐานะตัวแทนชาวสวนยางมองว่าการที่รัฐบาลจะขายยางพาราในสต๊อกกว่า 104,000 ตัน ออกสู่ตลาด อาจมีผลกระทบกับราคายางทั้งระบบ ที่น่าเป็นห่วงและต้องจับตามองคือการโละสต๊อกยางของภาครัฐอาจทุบราคายางพาราในตลาดร่วงลงมาทันทีไม่ต่ำกว่า 5 บาท/กก.

ชาวสวนทั่วประเทศส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐบาลไม่ควรประกาศขายในตลาดเป็นการทั่วไป แต่น่าจะกำหนดแนวทางนำยางพาราในสต๊อกไปใช้ภายในประเทศ โดยกระจายเข้าสู่หน่วยงานภาครัฐเท่านั้น จะได้ไม่สร้างความเสียหายให้ชาวสวน ทั้งนี้ ปัจจุบันราคายางพาราอยู่กก.ละ 50-60 บาทถือเป็นระดับราคาที่ชาวสวนพออยู่ได้

“การที่รัฐบาลจะนำยางพาราในสต๊อกประมาณ 104,000 ตัน ซึ่งเก็บมาไม่ต่ำกว่า 4 ปีแล้ว และต้องจ่ายค่าเช่าโกดังเก็บยางประมาณปีละ 100 ล้านบาท ออกขายอาจจำเป็น แต่ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือต้องดำเนินการให้เสร็จภายในวันที่ 1 พ.ค. 2564 จะได้ไม่มีผลกระทบราคายางในตลาด เนื่องจากขณะนี้ยางพาราออกมาปริมาณน้อยมาก เพราะยังอยู่ฤดูกาลปิดหน้ากรีดยางพารา แต่ถ้าสต๊อกยางออกมาขายหลังวันที่ 1 พ.ค. จะส่งผลกระทบต่อจิตวิทยากับราคายางทันที เพราะในห้วงเดือน พ.ค.นี้ จะเริ่มเข้าสู่ช่วงเปิดหน้ากรีดยางฤดูใหม่ของแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ จากนั้นเมื่อถึงช่วงที่มีการกรีดยางพร้อม ๆ กันทั้งประเทศ ยางพาราจะออกสู่ตลาดในปริมาณสูงมากขึ้น”

ศรีตรังฯไม่ร่วมประมูล

ด้านแหล่งข่าวจากกลุ่มบริษัทศรีตรังเปิดเผยเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า บริษัทไม่ได้เข้าร่วมประมูลซื้อสต๊อกยางของ กยท. เนื่องจากขาดคุณสมบัติในเรื่องที่ไม่เคยมีประวัติเข้าร่วมประมูลยางมาก่อน อย่างไรก็ตามมองว่าการเปิดประมูลขายยางในช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ผู้สนใจจะแข่งกันเสนอราคาซื้อในระดับที่น่าจะดีกว่าการประมูลปีที่ผ่านมา