แจงกัมพูชาปลดล็อกนำเข้า “หมู” ปศุสัตว์ผนึกพาณิชย์ย้ำไทยปลอด ASF

หมู pig
FILE PHOTO : RONALDO SCHEMIDT / AFP

กัมพูชาปูด “หมูไทยติด ASF” ตั้งกำแพงจำกัดนำเข้าจาก 11 บริษัท “ปศุสัตว์-ทูตพาณิชย์” ประสานเสียงแจงไทยปลอด ASF พร้อมยกระดับคุมเข้ม “โซนสี” คาดต้นเหตุ เขมรหวังกดราคาหมู ด้านสมาคมผู้เลี้ยงสุกรหวั่นกระทบตลาดกัมพูชาหลุดเป้า 1.4 ล้านตัว เร่งหาทางส่งเข้าเวียดนามโดยตรง

นส.พ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวภายหลังจากหน่วยงานสุขภาพสัตว์และการผลิตราชอาณาจักรกัมพูชา (GDAHP) ได้แจ้งว่า ตรวจพบเชื้ออหิวาต์แอฟริกันในสุกร หรือ ASF ในหมูที่นำเข้าจากประเทศไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จนนำไปสู่การใช้มาตรการจำกัดการนำเข้าหมูจากไทย ด้วยการอนุญาตให้ผู้ส่งออกไทยเพียง 5 ราย สามารถส่งหมูไปกัมพูชาได้นั้น

ล่าสุด กรมปศุสัตว์ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว พบว่าเป็นการพบเชื้อ ASF จากหมูที่ลักลอบนำเข้า ซึ่งไม่ใช่หมูจากประเทศไทย ทางฝ่ายไทยยืนยันว่า ยังไม่มีการแพร่เชื้อ ASF ในประเทศไทย พร้อมทั้งอธิบายแนวทางการป้องกันและเฝ้าระวังโรค ASF ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตลอดเกือบ 3 ปี ส่งผลให้ยอดส่งออกหมูมีชีวิตเพิ่มขึ้น 340% โดยเฉพาะหมูที่ส่งออกไปกัมพูชากว่า 58% จนทำให้กัมพูชาอนุมัติให้ผู้ส่งออกไทยส่งออกหมูไปเพิ่มขึ้นอีก 6 ราย รวมทั้งหมด 11 ราย

“หลายฝ่ายคาดว่า ที่กัมพูชาออกมาตรการจำกัดจำนวนผู้นำเข้า-ส่งออกนั้นเป็นเพราะราคาหมูในกัมพูชาปรับสูงขึ้นมาก หลังจากเกิดโรค ASF และมีการนำหมูจากไทยที่ส่งผ่านไปขายยังเวียดนาม ทำให้ปริมาณหมูลดลง ราคาก็แพงขึ้น ทางเราร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงไปทางกัมพูชา ซึ่งให้ข้อมูลว่า พบในหมูลักลอบนำเข้า แต่ไม่ได้มาจากไทย เราย้ำว่าได้เพิ่มมาตรการคุมเข้ม ASF เหมือนกับการคุมโควิด มีการจัดโซนนิ่งพื้นที่ มียุทธศาสตร์หมูสะอาด ซึ่งตอนนี้กัมพูชาได้ผ่อนปรนให้ผู้ส่งออกไทยโดยไม่มีการจำกัดปริมาณโควตาแล้ว”

สำหรับผู้ส่งออกไทย 11 รายที่ได้รับอนุญาต ส่วนใหญ่เป็นโบรกเกอร์ ประกอบด้วย บริษัท Kham Khun Transport, Next Plus Trading, Juntana Inter, Eastern Food Product, Eastern Grand, Wandnamyen Intertrade Ltd Partnership, Big877 Ltd Partnership, OK Rungruaeng 999 Ltd Partnership, Maethathong Farm Company Ltd, Thai Swine Export Ltd และ Jet Capital Company Ltd.

ด้านนายจิรวุฒิ สุวรรณอาจ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ กล่าวว่า ปีนี้กัมพูชายังมีความต้องการหมูจากไทย วันละ 2,000-3,000 ตัว แต่การส่งออกหมูเข้ากัมพูชาได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดจำนวนผู้นำเข้า-ส่งออก ภายหลังจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กัมพูชา ประกาศ “จำกัด” ให้เฉพาะผู้ที่มีรายชื่อได้รับการรับรองจำนวน 11 รายเท่านั้น จึงกลายเป็นปัญหา “คอขวด”

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตไทยที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชา 2 รายใหญ่ คือ เครือ ซี.พี. และเบทาโกร ได้ลงทุนตั้งโรงงานอาหารสัตว์และเลี้ยงหมู ถือเป็นผู้เลี้ยงรายใหญ่ในลำดับท็อป 5 ในกัมพูชา สามารถทำตลาดภายในได้

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ผลจากมาตรการดังกล่าว ประกอบกับการบริโภคที่หดตัวช่วงโควิด ทำให้การส่งออกหมูมีชีวิตไปยังตลาดกัมพูชา ซึ่งเดิมเป็นตลาดส่งออกสุกรมีชีวิตอันดับ 1 ของไทย ลดลงจากปีก่อนที่เคยส่งออกได้ 1.4 ล้านตัว อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกได้ปรับวิธีการหาทางส่งออกตรงข้ามไปเวียดนามแทน จากเดิมที่ส่งผ่านกัมพูชา โดยการเปิดตลาดผ่านช่องทางด่านด้าน จ.มุกดาหาร


ทั้งนี้ ข้อมูลกรมปศุสัตว์ระบุว่า ปี 2563 ไทยส่งออกหมูมีชีวิตรวม 2.45 ล้านตัว มูลค่า 16,814 ล้านบาท โดยตลาดกัมพูชาอันดับ 1 ปริมาณ 1.49 ล้านตัว มูลค่า 9,856 ล้านบาท ส่วนข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า มีการส่งออกสุกรแช่แข็งและแปรรูป ปี 2563 มูลค่า 3,420 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 265% จากปี 2562 โดยฮ่องกงเป็นตลาดอันดับ 1 มูลค่า 3,246 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 356% และกัมพูชาเป็นอันดับ 2 มูลค่า 59.91 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 259%