ค้าออนไลน์-ขายเวชภัณฑ์ ดันยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่ โต 20%

จดทะเบียนธุรกิจเดือนแรกยอดพุ่ง
ภาพโดย Sozavisimost from Pixabay

การจดทะเบียนธุรกิจ เดือนมีนาคม 2564 ทะลุ 8,841 ราย โต 46% ดันยอดสะสมไตรมาส 1 โต 20% “พาณิชย์” ชี้ผลจากนโยบายกระตุ้น การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน การค้าปลีกออนไล “ค้าออนไลน์-ค้าส่งสินค้าเวชภัณฑ์” ตั้งใหม่เพียบ จับตาโควิดระลอก 3 ฉุดเศรษฐกิจยอดจดทะเบียนธุรกิจไตรมาส 2

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนมีนาคม 2564 พบว่า มีจำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่จำนวน 8,841 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 19,426.89 ล้านบาท โดยเป็นการจดทะเบียนสูงสุดตั้งแต่มีการจดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งเพิ่มขึ้น 46% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 6,066 ราย ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 667 ราย คิดเป็น 8% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 366 ราย คิดเป็น 4% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจบริการด้านอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 232 ราย คิดเป็น 3%

ขณะที่ ธุรกิจจัดตั้งใหม่ไตรมาส 1/2564 พบว่ามีจำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ จำนวน 23,389 ราย เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2563 จำนวน 13,162 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 10,227 ราย คิดเป็น 78% และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2563 จำนวน 19,415 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 3,974 ราย คิดเป็น 20% ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 1,872 ราย คิดเป็น 8% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 948 ราย คิดเป็น 4% และธุรกิจบริการด้านอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหารจำนวน 556 ราย คิดเป็น 2%

สำหรับธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนมีนาคม 2564 มีจำนวน 790 ราย ซึ่งมีโดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 5,550.37 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลง 17% หรืออยู่ที่ 947 ราย ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 68 ราย คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 67 ราย คิดเป็น 8% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 31 ราย คิดเป็น 4%

ธุรกิจเลิกประกอบกิจการไตรมาส 1/2564 มีจำนวน 2,478 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 19,827.65 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลง 22% ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 220 ราย คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 153 ราย คิดเป็น 6% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 86 ราย คิดเป็น 3%

ปัจจุบันธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ ณ เดือนมีนาคม 2564 จำนวน 789,851 ราย มูลค่าทุน 19.33 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 193,374 ราย คิดเป็น 24.48% บริษัทจำกัด จำนวน 595,190 ราย คิดเป็น 75.36% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,287 ราย คิดเป็น 0.16%

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของจำนวนการจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ในไตรมาสแรกของปี อาจมีผลมาจากปัจจัยหนุนด้านเศรษฐกิจที่มีสัญญาณฟื้นตัว รวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์และผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากนโยบายการผลักดันให้วิสาหกิจชุมชนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของภาครัฐ แต่ขณะเดียวกันธุรกิจบางประเภทมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นสอดรับกับพฤติกรรมของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น ธุรกิจการขายปลีกทางอินเตอร์เน็ตในไตรมาสที่ 1 มีจำนวนจัดตั้งใหม่ 1,987 ราย เพิ่มขึ้น 72% เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า

และธุรกิจขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ในไตรมาสที่ 1 มีจานวนจัดตั้งใหม่ 1,224 ราย เพิ่มขึ้น 44% เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ปัจจัยข้างต้นนี้ล้วนส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจในช่วงเวลาที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมามีสถานการณ์การแพร่ระบาดที่กลับมารุนแรงอีกครั้งเป็นปัจจัยที่สาคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและธุรกิจ อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั้งความเชื่อมั่นในการดาเนินธุรกิจและสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งจะต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

นอกจากนี้ การลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าว เดือนมีนาคม 2564 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น มีจำนวน 63 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 23 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 40 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 9,977 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จำนวนธุรกิจที่คนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น 85% (เพิ่มขึ้น 29 ราย) ในขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 165% (6,209 ล้านบาท)


นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ฮ่องกง จำนวน 6 ราย เงินลงทุน 3,213 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ จำนวน 6 ราย เงินลงทุน 77 ล้านบาท และญี่ปุ่น จำนวน 5 ราย เงินลงทุน 48 ล้านบาท ทั้งนี้ ปี 2564 (มกราคม – มีนาคม) คนต่างชาติได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ จำนวน 147 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 24,493 ล้านบาท