“นอร์ทอีสฯ” จ่อซื้อยาง 2 แสนตัน เดินตาม TOR กยท. หลังเหมาประมูลสต๊อก

ยางพารา

กยท.จ่อทำสัญญาขายยางเก่าเก็บ 1 แสนตันสัปดาห์หน้า ด้านผู้ชนะ “นอร์ทอีส รับเบอร์” เตรียมซื้อยางเพิ่ม 1 แสน+1 แสน ตามเงื่อนไข “วงการยาง” ตั้งข้อสังเกตทีโออาร์จ่ายก่อน 30% เป็นภาระทางการเงินทำให้คนประมูลน้อย คาดรัฐขาดทุน 40 บ./กก.

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูลยางแผ่นรมควันอัดก้อน ยางแท่ง STR 20 และยางอื่น ๆ จำนวน 104,763.35 ตัน ของโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง

โดยจะเซ็นสัญญากับ กยท. ในสัปดาห์หน้า และจะเริ่มรับมอบยางในสต๊อกให้แล้วเสร็จในเดือนพ.ค.นี้ ก่อนที่ผลผลิตใหม่จะออกสู่ตลาด

“การประมูลต้องไม่ให้เกิดผลกระทบต่อราคายาง และต้องช่วยลดภาระและค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ยางลอตนี้เป็นยางเก่าที่มีอายุ 9 ปี เสื่อมสภาพ การนำไปใช้งานจึงแตกต่างจากยางใหม่ ต้องนำไปแปรสภาพก่อน เพื่อใช้ประโยชน์ กยท.จึงตั้งคณะกรรมการบริหารสต๊อกยาง เพื่อตรวจสอบปริมาณ กำหนดหลักเกณฑ์และการตรวจสอบคุณภาพ”

“รวมถึงจ้างบริษัทผู้ประเมินอิสระทำการตรวจสอบคุณภาพ และมูลค่าสต๊อกยาง เพื่อให้การระบายสต๊อกเป็นไปอย่างเหมาะสมและโปร่งใส ทั้งยังกำหนดให้ผู้ชนะต้องซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางอีก 1 เท่าของปริมาณยางที่ประมูล ภายใน 1 ปี นับจากที่ลงนามในสัญญา”

แหล่งข่าวจากวงการยางระบุว่า หากพิจารณาตามหลักเกณฑ์การประมูล จะพบว่ามีผู้ประกอบการหลายรายที่มีคุณสมบัติผ่านตามหลักเกณฑ์ แต่มีเพียงบริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) เท่านั้นที่ร่วมประมูล นั่นอาจจะเป็นเพราะตามทีโออาร์กำหนดให้ผู้ชนะประมูลต้องจ่ายเงินทันที 30% ของมูลค่ายาง และต้องรับมอบให้เสร็จภายใน 1 เดือน

ซึ่งอาจจะเป็นแรงกดดัน เป็นภาระทางการเงินให้ผู้ประกอบการ และสต๊อกยางนั้นเก็บรักษามานานถึง 9 ปี ผู้ประกอบการไม่มั่นใจในเรื่องคุณภาพ

ส่วนราคาประมูลคาดการณ์ว่า หากขายในราคาที่ใกล้เคียงกับราคาตลาด กก.ละ 60 บาท จะขาดทุนจากราคาตลาดเมื่อ 9 ปีก่อน กก.ละ 40 บาท หากขาย 1 แสนตัน จะขาดทุนอย่างน้อย 4,000 ล้านบาท แต่ก็ยังดีกว่าเก็บไว้จนทำให้มูลค่ายางเป็นศูนย์

ส่วนผลกระทบราคาตลาดนั้น ไม่กระทบมากนัก โดยล่าสุด หลังจากการประมูล ราคายังคงทรงตัว (ตามตาราง)

ตารางราคายาง

ด้านนายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทเพิ่งทราบจากทาง กยท.วันนี้ (22 เม.ย.) ว่าชนะการประมูลยาง 100,000 ตัน ซึ่งบริษัทมีความพร้อมที่จะทำตามเงื่อนไขที่ กยท.กำหนดให้ผู้ชนะประมูลต้องซื้อยางจากเกษตรกร 1 แสนตัน ภายใน 1 ปี

“การประมูลซื้อยาง 100,000 ตัน ไม่ได้มากสำหรับเรา เพราะโดยปกติบริษัทใช้วัตถุดิบยาง ปีละ 400,000-500,000 ตัน หากเราซื้อจากเกษตรกรเพิ่ม 100,000 ตันก็เท่ากับเรามีวัตถุดิบ 200,000 ตัน ก็ยังไม่พอต้องซื้อเพิ่มอีก”

ในส่วนของคุณภาพยางที่เก่าเกือบ 10 ปีนั้น เราไม่ห่วง เพราะถึงอย่างไร ก็ต้องนำมาปรับปรุงเป็นยางเอสทีอาร์จึงจะสามารถใช้เป็นวัตถุดิบเราได้

“ราคาซื้อยังไม่สามารถเปิดเผยได้จนกว่าจะมีการทำสัญญา ทาง กยท.จะเป็นผู้เปิดเผยเอง ยืนยันได้ว่าในการประมูลก็มีการแข่งขันราคากันหลายราย”

ส่วนกรณีที่มีการเปรียบเทียบราคารับซื้อกับราคาขายนั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะซื้อ กก.ละ 120 บาท เท่ากับราคารับซื้อในอดีต แต่เรามั่นใจว่าการเข้าไปช่วยรับซื้อยางเก่าจะเป็นการช่วยประเทศให้ลดภาระการเก็บสต๊อก และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรวงการยางที่กำลังจะมีผลผลิตออกมา

อนึ่ง NER จัดตั้งเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.​2561 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,001 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดบริษัทเพิ่งประสบเหตุเพลิงไหม้โรงงานที่ จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2563 แต่ไม่ได้เสียหายมากนัก ทั้งยังมีคำสั่งซื้อสัญญาระยะยาว (long term contract) ให้ผู้ผลิตยางรายใหญ่จากจีน 2 ราย คือ LLIT และ Triangle Tyre รวม 72,000 ตัน/ปี