สมาคมการค้าปุ๋ยกัดฟันตรึงราคา ตลาดโลกป่วนอินเดียทุ่มซื้อแม่ปุ๋ยล้านตัน

ปุ๋ยเคมี

โลกป่วน “อินเดีย” กว้านประมูลซื้อแม่ปุ๋ย ดันราคาตลาดโลกพุ่งตันละ 200 เหรียญ “สมาคมการค้าปุ๋ยฯ” ยอมตรึงราคาทั่วประเทศตามมติกรมการค้าภายใน ด้านก.เกษตรฯ ผุดโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมได้ประชุมร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และ ธ.ก.ส. เพื่อติดตามสถานการณ์ปัญหาราคาปุ๋ยสูงขึ้นโดยพบว่าราคาปุ๋ยในตลาดมีการปรับราคาสูงขึ้น จากเดือนมกราคม 2564 โดยเฉพาะปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ที่สูงขึ้นอย่างมาก (ตามตาราง)

เนื่องจากวัตถุดิบแม่ปุ๋ยยูเรียฟอสเฟต และโพแทสเซียม ซึ่งส่วนใหญ่ 97% ไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ได้มีการปรับราคาสูงขึ้น ภายหลังจากประเทศอินเดียได้เปิดประมูลนำเข้าแม่ปุ๋ยลอตใหญ่ 1 ล้านตัน และจากการที่ประเทศจีน ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าหลักของประเทศไทยได้มีนโยบายชะลอการส่งออกแม่ปุ๋ย เพื่อเตรียมใช้สำหรับเพาะปลูกในรอบใหม่

ประกอบกับค่าระวางเรือขนส่งและต้นทุนราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นเป็น 64.55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลจากเดิมในปี 2563 ที่ 42.21 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นด้วย

“ที่ประชุมได้ขอความร่วมมือผู้จำหน่ายปุ๋ยให้ตรึงราคาออกไประยะหนึ่งจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย หลังอินเดียรับมอบปุ๋ยแล้ว และจีนสต๊อกไว้เพียงพอแล้ว โดยระหว่างนี้ขอให้เกษตรกรซื้อปุ๋ยเท่าที่จำเป็น และซื้อด้วยเงินสด เพราะจะได้ราคาที่ถูกกว่าการซื้อแบบเงินเชื่อ โดยรัฐจะสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ ขณะเดียวกัน จะจัดหาปุ๋ยราคาถูกให้ โดยขอให้ผู้ผลิตที่มีศักยภาพผลิตปุ๋ยผสมระหว่างปุ๋ยอินทรีย์กับปุ๋ยเคมี”

“รัฐจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วน เช่น ค่าบริหารจัดการ ค่าขนส่ง ค่าบรรจุ เป็นต้น ซึ่งจะมีการหารือในรายละเอียดและความพร้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนสรุปเสนอกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป”

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ กรมการค้าภายในจะติดตามราคาจำหน่ายอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการนำเข้า และเข้มงวดการปิดป้ายแสดงราคาจำหน่าย หากพบการฉวยโอกาสปรับราคากักตุนหรือจำหน่ายสินค้าในราคาแพงเกินสมควร จะมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีที่ไม่ปิดป้ายแสดงราคาจะมีโทษสูงสุดปรับไม่เกิน 10,000 บาท

ด้านนายกองเอก เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทยและที่ปรึกษาอาวุโส บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี เปิดเผยว่า สัปดาห์นี้สมาคมจะทำหนังสือไปยังสมาชิก ผู้ประกอบการค้าปุ๋ยทั่วประเทศ ซึ่งมีประมาณ 60 ราย เพื่อขอความร่วมมือให้ตรึงราคาปุ๋ยทั้งจำหน่ายปลีก และจำหน่ายในราคาส่งออกไประยะหนึ่ง ตามมติที่ประชุมกรมการค้าภายในขอความร่วมมือ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงปุ๋ยราคาถูก

อย่างไรก็ดี การตรึงราคาจะดำเนินการได้นานเท่าไร ยังตอบไม่ได้ เนื่องจากทิศทางราคาปุ๋ยปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจัยต้นทุนของวัตถุดิบนำเข้า เช่น แม่ปุ๋ยยูเรีย แม่ปุ๋ยฟอสเฟต และแม่ปุ๋ยโพแทสเซียม ที่นำเข้าจากต่างประเทศ 97% แหล่งนำเข้าหลักมาจากจีน การดำเนินโยบายของจีนมีผลต่อการส่งออก และอีกด้านหนึ่งอินเดียซึ่งถือว่าเป็นคู่แข่งผู้นำเข้าแม่ปุ๋ยรายใหญ่

มีนโยบายสนับสนุนเกษตรกร ทำให้ความต้องการทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้น จึงมีผลต่อราคา ซึ่งเมื่อแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจนรับไม่ไหว ทางสมาคมจะกลับไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกอีกครั้ง

สมาชิกสมาคมกว่า 60 ราย ไม่นับรวมผู้ประกอบการค้าปลีก รายย่อย ที่จำหน่ายปุ๋ยให้กับเกษตรกรทั่วประเทศซึ่งมีอีกมากกว่า 100 ราย ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องเข้าติดตามดูแลการจำหน่ายปุ๋ย เพราะจะมีเรื่องของการขนส่งกระจายไปแต่ละพื้นที่ก็เป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ราคาปุ๋ยเคมีในท้องตลาดปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ทำให้ประเทศผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ เช่น จีน สหรัฐอเมริกา ใช้ปุ๋ยเคมีในประเทศมากขึ้น จึงส่งออกน้อยลง

ส่งผลกระทบต่อไทยซึ่งต้องนำเข้าแม่ปุ๋ย 98% ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และราคาปุ๋ยเคมีในท้องตลาดปรับตัวสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกรโดยตรง ประกอบปัจจุบันเกษตรกรไทยมีพฤติกรรมใช้ปุ๋ยมากเกินความจำเป็น

ล่าสุดกระทรวงเกษตรฯมีโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (one stop service) ช่วยลดภาระต้นทุนปุ๋ยเคมี ด้วยการจัดทำค่าวิเคราะห์ดิน เพื่อคำนวณปริมาณปุ๋ยที่ต้องการใช้ ปริมาณแม่ปุ๋ย N P K


และจัดหาเครื่องผสมปุ๋ยให้แก่ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) เป้าหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรพึ่งพาตนเอง ใช้ปุ๋ยให้ถูกต้องเหมาะสมกับดินและชนิดพืช ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น