ม.หอการค้า ชี้โควิดยืดเกิน 2 สัปดาห์ เศรษฐกิจสูญ 4 แสนล้าน

เศรษฐกิจ-ตรอกข้าวสาร
REUTERS/Soe Zeya Tun

ม.หอการค้า ไม่หนุนล็อกดาวน์ แนะ 3 ทางรอด ใช้มาตรการกึ่งล็อกดาวน์คุมโควิด ระลอก 3 ใน 14 วัน เร่งฉีดวัคซีน พร้อมอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.8 แสนล้าน ยังประคองจีดีพีทั้งปี 64 โต 2.5-3% แต่หากคุมไม่อยู่ใน 2 สัปดาห์ ความเสียหายเศรษฐกิจเพิ่มทะลุ 4แสนล้าน ฉุดจีดีพีต่ำกว่ากว่าเป้า

วันที่ 27 เมษายน 2564 ผศ.ดร.ธนวรรน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวหลัง แถลงข่าว โพล “สถานภาพแรงงานไทย ปีที่ 2564 : กรณีศึกษากลุ่มตัวอย่างแรงงานไทย ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน” ว่า หอการค้าฯ ยังประเมินว่า

เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวตามกรอบเดิมที่วางไว้ 2.5-3.0% โดยได้พิจารณาครอบคลุมถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 แล้ว

“ที่ประเมินคงตัวเลขจีดีพีเท่าเดิม จากการที่คาดการณ์หากรัฐบาลสามารถควบคุมความเสียหายจากการแพร่ระบาดระลอก 3 ซึ่งประเมินตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย.2564 วันที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุด 2,800 คน บวกไปอีก 14 วันถึงวันที่ 9 พ.ค. 2564 หรือภายใน 2 สัปดาห์ ให้ตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ไม่เกิน 2,000 คน ก็จะทำให้การจับจ่ายใช้สอยหดลง 30-40% หรือ ประมาณ 6,000-8,000 ล้านบาทต่อวัน”

“รวมมูลค่าความเสียหายโดยรวม ยังอยู่ในกรอบเดิมที่ประเมินไว้ที่ 3 แสนล้านบาท บวกกับรัฐบาลนำเงินกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่บอกว่ามี 3.8 แสนล้านบาทมาใช้ได้ก็จะหักล้างความเสียหายได้”

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายใน 2 สัปดาห์ ความเสียหายโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 แสนล้านบาท หรือเพิ่มมาอีก 1 แสนล้านบาท ซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบต่อจีพีดี

ไม่หนุนล็อกดาวน์ หวั่นกระทบเศรษฐกิจ

“การคุมโควิดเข้มข้นแบบที่ประกาศปัจจุบัน อาจจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงบ้าง แต่ยังเดินหน้าไปได้ระดับหนึ่ง โดยปกติคนไทยใช้จ่ายต่อวันที่ 20,000 ล้านบาทตอนนี้ที่ไม่มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์จะเสียหาย 6,000 ล้านบาท แต่ถ้าใช้มาตรการล็อกดาวน์จะเสียหายวันละ 10,000 ล้านบาท ซึ่งการใช้มาตรการกึ่งลอกดาวน์ บวกกับยอดส่งออกที่เพิ่มขึ้นมาช่วยประคองสถานการณ์ ซึ่งเราคิดว่าตัวเลขส่งออกจะขยายตัว 5-8% ซึ่งคาดว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 อาจจะขยายตัว 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ติดลบ 12%”

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องดำเนินการ 3 ด้าน คือ หยุดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด -19 ให้เร็ว เร่งการจัดหาและกระจายวัคซีน เพื่อเสริมความเชื่อมั่น และเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามที่รัฐบาลเตรียมเงินไว้ประมาณ 3.8 แสนล้านบาท

กู้เพิ่มได้อีก แสนล้านถ้าจำเป็น

ต่อคำถามที่ว่ารัฐบาลควรกู้เงินเพิ่มอีกหรือไม่ นั้น รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวว่า จากข้อมูลขณะนี้มองว่า ยังไม่จำเป็นต้องกู้ เรายังมีเงิน 3.8 แสนล้านบาท ยกเว้นแต่รัฐบาลต้องการใช้เงินเพื่อเป็นหลักประกัน หรือเยียวยาก็สามารถกู้เงินเพิ่มได้ ซึ่งนั่นจะทำให้ระดับเพดานหนี้ของไทยขยับขึ้นตาม เช่น หากกู้อีก 1.5 ล้านล้านบาท เพดานหนี้จะขยับจาก 60% เป็น70% หากกู้ 1ล้านล้านบาท เพดานหนี้จะขยับ ขึ้นจาก 60% เป็น 67% แต่ก็จะมีส่วนช่วยให้จีดีพีขยับเพิ่มขึ้น

ดึงเงินออมคนรวยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนประเด็นการดึงเงินออมจากคนชั้นกลางและคนที่มีรายได้สูงมาใช้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น สามารถดำเนินการได้ โดยรัฐบาลน่าจะมีข้อมูลอยู่แล้วว่าผู้ที่มีบัญชีเกิน 1 ล้านบาท มีจำนวนเท่าไรแล้วคนกลุ่มนั้นนำเงินไปใช้ทำอะไรบ้าง จากนั้นกำหนดมาตรการทางด้านภาษีออกมาช่วยจูงใจให้ดึงเงินออมาออกมาใช้จับจ่ายช่วยชาติฟื้นเศรษฐกิจ

ตัวอย่างมาตรการดึงเงินออม เช่น การใช้มาตรการเที่ยวคนละครึ่ง รัฐบาลช่วยจ่ายเสริม และกระจายการใช้มาตรการไปสู่โรงแรมระดับสามดาวบ้าง หรือการต่อมาตรการชิม ช้อป ใช้ เดิมกำหนดเพดานคนละ 30,000 บาทก็ต้องเพิ่มเป็น 50,000 – แสนล้านบาท หรือการเพิ่มเรื่องการลดหย่อนภาษีจากการซื้อประกันชีวิตเพิ่มเป็น 3 แสนบาท การซื้อกองทุน SSF เพิ่มจาก 2 แสนบาท เป็น 5 แสนบาท เป็นต้น