หอการค้าชุบชีวิต SME แสนราย ใช้ “ใบสั่งซื้อ” ค้ำประกันเงินกู้

เงิน

“หอการค้า” ออกโรงอุ้มเอสเอ็มอีกว่าแสนราย ช่วยซัพพลายเออร์ห้าง-ค้าปลีก ตั้ง ญนน์-กอบกาญจน์ ทำงานแก้ปัญหาสภาพคล่อง ถกสมาคมธนาคารไทย คิกออฟมาตรการ “ใช้ใบสั่งซื้อ” ค้ำประกันสินเชื่อ มั่นใจดีเดย์ปล่อยกู้ได้ พ.ค.นี้ สมาพันธ์เอสเอ็มอีวอนขยายวงสู่เอสเอ็มอีที่เป็นคู่ค้าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ลุ้นประคองธุรกิจฝ่าโควิด 2 ปี ต่อลมหายใจแรงงาน ลด NPL

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หอการค้าฯหารือแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นนโยบายเร่งด่วน ในช่วง 99 วันแรกหลังจากที่เข้ารับตำแหน่งประธาน

ถกสมาคมแบงก์ใช้ออร์เดอร์กู้เงิน

นายสนั่นกล่าวว่า หอการค้าฯจะหารือกับนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในสัปดาห์นี้ โดยเรามีโมเดลจะนำเรื่อง digital transformation มาใช้สำหรับกลุ่มค้าปลีกเพื่อช่วยเหลือซัพพลายเออร์ ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา โดยมี นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น ในฐานะกรรมการหอการค้าไทย เป็นประธาน ร่วมกับนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เป็นผู้นำทีมศึกษาเชิงลึก

“ตัวอย่าง ถ้าเป็นซัพลายเออร์ส่งสินค้าให้กลุ่มเซ็นทรัล แล้วมีออร์เดอร์ แต่ไม่มีเงินซื้อวัตถุดิบ ไม่มีเงินจ้างแรงงาน สามารถนำออร์เดอร์ไปเป็นหลักประกันในการกู้เงินกับธนาคาร เมื่อถึงเวลาชำระหนี้ กลุ่มเซ็นทรัลก็จ่ายเช็คไปที่ธนาคารผู้ปล่อยกู้ได้ โดยจะนำประเด็นนี้หารือกับ ประธานสมาคมธนาคารไทย ว่ามีกฎระเบียบอะไรเกี่ยวข้องบ้าง คาดว่าหลังการหารือจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนพฤษภาคมนี้”

ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินการได้สำเร็จ โครงการนี้น่าจะช่วยเอสเอ็มอีได้นับแสนราย ซึ่งการช่วยเหลือเพื่อให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินธุรกิจ จ้างงานอยู่ได้ ย่อมดีกว่าการปล่อยให้เอกชนล้มตายไป หรือกลายเป็นหนี้เสียเอ็นพีแอลประเทศก็เพิ่มขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดคนก็จะตกงาน

กอบกาญจน์ขอได้สินเชื่อเร็วขึ้น

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ทางหอการค้าฯจะคิกออฟโครงการในเร็ว ๆ นี้

“ในมิติของแบงก์อาจจะไม่มีข้อมูล หรือมีข้อมูลเดิม ๆ ทำให้อาจจะมองว่าเอสเอ็มอีรายนั้นเป็นผู้ที่ไม่มีความเหมาะสมที่จะปล่อยสินเชื่อ เคยติดอยู่ในแบล็กลิสต์ แต่เรามองว่าเอสเอ็มอีรายนั้นมีสถานะที่ดีขึ้นแล้ว แต่ยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดระลอก 3 ก็อยากจะช่วยให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้เร็วขึ้น ก็จะใช้ข้อมูลของสมาคมค้าปลีกมาช่วยยืนยัน ขณะนี้กำลังเวิร์กดีเทลกันอยู่”

นางกอบกาญจน์กล่าวว่า การพิจารณานั้นก็จะขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแต่ละราย และสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ซึ่งอาจจะปล่อยสินเชื่อได้หรือไม่ หรือได้วงเงินเท่าไร เพราะต้องยอมรับว่าการปล่อยสินเชื่อนั้นจะสร้างภาระความรับผิดชอบให้กับสถาบันการเงินแต่ละราย

“ผยง” ถกสมาคมค้าปลีก

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือตามข้อเสนอของสมาคมค้าปลีกนั้น สมาคมอยู่ระหว่างการหารือธนาคารสมาชิก เรื่องข้อมูลที่ธนาคารจำเป็นต้องใช้ในการพิจารณาช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ที่ขาดสภาพคล่อง ทั้งเรื่องกระบวนการและประเด็นด้านกฎหมาย ซึ่งจะมีการหารือเพิ่มเติมกับสมาคมค้าปลีกต่อไป ในเรื่องรายละเอียดข้อมูลและกระบวนการที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องดำเนินการเพิ่มเติม

โดยการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพ แต่ขาดสภาพคล่อง หรือรอเรียกเก็บเงินตามออร์เดอร์จากลูกค้า สามารถใช้บริการ Factoring เข้ามาตอบโจทย์ได้ พร้อมบริการ e-Factoring เพื่อให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ บนต้นทุนที่เหมาะสม โดยสมาคมอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ร่วมกับ ITMX

นอกจากนี้ธนาคารยังมีบริการสินเชื่ออื่น ๆ เพิ่มเติมที่ช่วยเสริมสภาพคล่องให้ SMEs ได้อีก เช่น การให้วงเงินเบิกเกินบัญชี (OD) กับบริษัทที่รู้ประวัติคู่ค้า เป็นต้น

ส.แบงก์ปล่อยกู้เสริมสภาพคล่อง

แหล่งข่าวธนาคารพาณิชย์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้สมาคมธนาคารไทย (TBA) และสมาคมหอการค้า และสมาชิกภายใต้สมาคมค้าปลีก เช่น ซีพี ออลล์ เดอะมอลล์ กรุ๊ป เซ็นทรัล กรุ๊ป เป็นต้น กำลังทำงานร่วมกันภายใต้แผนงาน “Connect the Dots” การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใน 99 วันแรก โดยการเชื่อมข้อมูลร่วมกัน เพื่อให้ธนาคารสมาชิกร่วมปล่อยสินเชื่อให้กับสมาชิกที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่อยู่ภายใต้สมาคมค้าปลีก

โดยเบื้องต้นในการประชุมร่วมกัน 2 ครั้ง ธนาคารสมาชิกพยายามจะหาผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับลูกค้า โดยโครงสร้างการปล่อยสินเชื่อจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

1.การคำนวณยอดซื้อขายย้อนหลังของเอสเอ็มอีในช่วงที่ผ่านมา เพื่อคำนวณวงเงินการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งจะเป็นลักษณะการปล่อยสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน (working capital) หรือบางส่วนเข้าคุณสมบัติสินเชื่อฟื้นฟูของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารก็จะใช้วงเงินดังกล่าวในการปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี

และ 2.การปล่อยสินเชื่อลักษณะแฟกตอริ่ง (factoring) โดยมีการส่งสินค้าเรียบร้อยแล้ว

SMEs ชี้ช่วยประคองธุรกิจ 2 ปี

ด้านนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการของหอการค้าไทย โดยโครงการนี้มีลักษณะสอดคล้องกับข้อเสนอเรื่อง P/O factoring ที่ทางสมาพันธ์เคยเสนอสถาบันการเงินภาครัฐมาปล่อยสินเชื่อก่อนหน้านี้

แต่อย่างไรก็ตาม อยากให้ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมเอสเอ็มอีในห่วงโซ่การผลิตของภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจทั้งหมด หรือกำหนดสำหรับเอสเอ็มอีที่เป็นคู่ค้าของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ไม่ควรเน้นเฉพาะกลุ่มที่เป็นคู่ค้าของผู้ประกอบการค้าปลีกเท่านั้น

“ช่วงแรกสมาพันธ์เคยเสนอขอมาตรการ P/O factoring คือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้ใบสั่งซื้อมาจากคู่ค้าให้สามารถนำใบสั่งซื้อสินค้าไปขอสินเชื่อได้ 50% จากวงเงินคำสั่งสั่งซื้อ เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถนำเงินไปซื้อวัตถุดิบ จ้างแรงงาน ขับเคลื่อนการผลิตได้ ธุรกิจจะได้ไม่เป็นหนี้เสีย และแบงก์ได้รายได้จากค่าธรรมเนียม เช่น หากใบ P/O เขียน 100 บาท แบงก์อาจจะหักค่าธรรมเนียม 2 บาท หรือ 2% และมีดอกเบี้ย”

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาอนุญาตให้นำ P/O ไปขอสินเชื่อ อาจจะทำให้แบงก์ไม่มั่นใจ เพราะ P/O ถือเป็นแค่ใบจองซื้อ ไม่ใช่ใบสั่งซื้อ ไม่ใช่ใบ invoice จึงมีความเสี่ยง แต่นี่จะถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ ทำให้เอสเอ็มอีมีเงินทุนหมุนเวียนมาใช้ประคองกิจการในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยไม่ต้องปิดกิจการหรือเป็นหนี้เสีย

นายแสงชัยกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างมาก โดยหลังจากเกิดการแพร่ระบาดโควิดระลอก 3 สถานการณ์ตั้งแต่ต้นเดือนมา คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีไม่ต่ำกว่า 1 แสนราย ถ้าหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อจะส่งผลกระทบขยายวงกว้างมากขึ้น

“ผมแบ่งเอสเอ็มอีเป็นกลุ่ม 5 จ. คือ กลุ่มเจ๋ง ผลประกอบการดี ธุรกิจไปได้ช่วงโควิด เช่น พวกอีคอมเมิร์ซ อีเพย์เมนต์ ดิจิทัล กลุ่มจ๋อย คือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้ยอดขายลดลง 20-80% รายได้หดแต่อยู่ได้ กลุ่มเจ็บ คือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิดระลอก 1-2 กำลังจะเปิดกิจการแต่ก็มาเจอกับโควิดระลอก 3 นั่นคือพวก 31 กิจการ

กลุ่มเจ๊ง คือ กลุ่มที่ผลประกอบการไม่ไหวแล้ว แต่ยังสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ และกลุ่มจบ คือ ไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ เป็น NPL ซึ่งการเข้ามาช่วยเหลือสภาพคล่องด้วยการเติมทุนให้เป็นสปอต ถือเป็นการจำกัดความเสียหาย ให้โอกาสผู้ประกอบการกลุ่มที่อาจจะมีโอกาสฟื้นตัวได้หลังโควิด สามารถประคองธุรกิจได้ ซึ่งก็จะเป็นการรักษาไม่ให้เกิด NPL และส่งผลต่อแบงก์และเศรษฐกิจ”