ส่งออก “กุ้ง-ไก่” ไทยระทึก อียูออกกฎรักษ์สิ่งแวดล้อม

ไก่สด-ส่งออก

ผู้ส่งออกอาหารไทยผงะ อียูออกแนวปฏิบัติใหม่ภายใต้นโยบาย European Green Deal หวังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตรวจสอบย้อนกลับตั้งแต่ฟาร์มยันผลิตภัณฑ์ ต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไก่-กุ้งต้องกินถั่วเหลืองที่ปลูกในพื้นที่ไม่รุกป่า ด้าน “เทสโก้” ขานรับออก “ใบรับรอง” ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกต้องไม่ได้มาจากการทำลายป่า

หลังจากที่สหภาพยุโรปได้กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงาน-สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ไปจนกระทั่งถึงการออกกฎหมายควบคุมการค้าไม้เพื่อปกป้องป่าไม้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารา

ล่าสุดสหภาพยุโรปก็ได้กำหนด นโยบายยูโรเปียน กรีน ดีล (European Green Deal) ให้ 27 ประเทศสมาชิกนำไปบังคับใช้ โดยมีแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการจัดการในเรื่องของสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง climate change ด้วยการกำหนดเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 55% ในปี 2030 และให้กลายเป็นศูนย์ในปี 2050

มีรายงานข่าวจากวงการส่งออกอาหารเข้ามาว่า ผู้ส่งออกอาหารและผลิตภัณฑ์กำลังจับตา ร่างมาตรการตรวจสอบย้อนกลับเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมในสินค้าอาหารที่ส่งเข้าไปขายตลอดห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ภายใต้ EU Green Deal ของสหภาพยุโรป ที่ออกเป็นกรอบใหญ่ให้ประเทสสมาชิกนำไปปฏิบัติ

ดังนั้น ผู้ผลิตส่งออกอาหารไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำจะเตรียมตัวไปสู่ “เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

“ล่าสุดอียูได้มีการออกแนวปฏิบัติที่เรียกว่า ออร์แกนิก แอ็กชั่น แพลน หรือ Organic Action Plan ภายใต้นโยบายยูโรเปียน กรีน ดีล โดยมีจุดประสงค์เพื่อแก้วิกฤตภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยมีจุดมุ่งหมาย 3 ข้อใหญ่ ได้แก่ การเพิ่มการบริโภค การเพิ่มการผลิต และสร้างความยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์ ทั้งซัพพลายเชน ให้สอดคล้องกับ EU Green Deal ด้วย”

กระทบต้นทุนไก่-ไข่-กุ้ง

ตอนนี้มีผู้ประกอบการรายใหญ่ในสหภาพยุโรปได้นำแนวปฏิบัติต่าง ๆ ภายใต้ EU Green Deal มาปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจของตน ยกตัวอย่าง ห้างเทสโก้ ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก และมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ประเทศอังกฤษออกประกาศสินค้าประเภทไก่ ไข่ไก่ และกุ้ง การกำหนดว่า ผู้ส่งออกที่ส่งออกอาหารประเภทนี้จะต้อมีใบรับรองว่า “ถั่วเหลือง” ที่นำมาเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เพื่อให้ไก่กินนั้น จะต้องปลูกในพื้นที่ที่ไม่บุกรุกป่า รวมถึงกุ้งต้องเลี้ยงโดยไม่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย

“เทสโก้ประกาศจะใช้แนวปฏิบัตินี้มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาเตรียมตัว ดังนั้น เราจึงคาดการณ์ได้ว่า ภายในกลางปีนี้ เทสโก้จะต้องขอใบรับรองการใช้ถั่วเหลืองมีที่มาจากไหน ต้องปลูกในพื้นที่ที่ไม่ได้เป็นการบุกรุกป่า”

อาหารไก่ต้องไม่ทำลายป่า

รายงานข่าวจากสำนักงานใหญ่เทสโก้ ประเทศอังกฤษ ได้ออกแนวปฏิบัติของสินค้าไก่และไข่ไก่ว่า อาหารสัตว์ที่ไก่กินใช้วัตถุดิบถั่วเหลืองเป็นจำนวนมากจากทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตถั่วเหลืองใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นซัพพลายเชนสำคัญของเทสโก้ที่สหราชอาณาจักร ถึงแม้ความต้องการถั่วเหลืองดังกล่าวจะสูงมาก แต่ทางเทสโก้มุ่งมั่นที่จะกำจัดการตัดไม้ทำลายป่าสำหรับซัพพลายเชนถั่วเหลืองตั้งแต่ปี 2563

และตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป ผลิตภัณฑ์จากไก่และไข่ทั้งหมดต้องมี “ใบรับรอง” จากเทสโก้ว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ระหว่างกระบวนการผลิต ไม่ได้มีการตัดไม้ทำลายป่า และได้ร่วมมือกับรัฐบาลและ NGO ตรวจสอบต้นซัพพลายเชนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางเอาไว้

ส.อ.ท.แจ้งให้เตรียมพร้อม

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า European Green Deal ที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารของไทยในอนาคตมีอยู่ 4-5 หัวข้อ ได้แก่ Climate Action ยกตัวอย่าง เช่น จะมีการปรับปรุงมาตรการ “ทบทวน” การเก็บภาษีจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานในการผลิตสูง ซึ่งคาดว่าจะปรับขึ้นจาก 25 เป็น 35 ยูโรต่อตันต่อปี ส่งผลให้ต้นทุนสินค้านำเข้าไปจะสูงกว่าสินค้าที่ผลิตในอียู และจะแข่งขันได้ยาก

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการ CBAM ที่เกิดจากการปรับราคาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศให้สะท้อนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตสินค้าที่ “สูงกว่า” สินค้าในอียู ซึ่งได้ผ่านการประชาพิจารณ์แล้ว คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2023

ด้าน Industrial Industry and Circular Economy จะมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรฐานสินค้ายั่งยืน สำหรับการขอเครื่องหมายรับรอง CE ครอบคลุมสินค้าอุตสาหกรรมรถยนต์ แพ็กเกจจิ้งพลาสติก และอาหาร มาตรการส่งเสริมการใช้วัสดุรีไซเคิล กำหนดให้บริษัทต้องให้คุณสมบัติเชิงสิ่งแวดล้อมต่อคู่ค้า การให้ข้อมูลกับผู้บริโภคมากขึ้น การติดฉลากสินค้าและบริการสีเขียว ซึ่งคาดว่ามาตรการต่าง ๆ จะเริ่มทยอยมาใช้ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีนี้ มาตรการ Farm to Fork Strategy

เช่น การแก้ไขกฎหมายสวัสดิภาพสัตว์ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ปลายปี 2023 ด้าน Chemical Strategy for Sustainability การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับใช้สารเคมีในสินค้า ควบคุมในสินค้าอุปโภคบริโภคหลายประเภท คาดว่าจะใช้ในปี 2022 และ Sustainable Corporate Governance การออกกฎหมายว่าด้วยการกำกับดูแลกิจการที่ยั่งยืน บังคับให้ต้องทำ due diligence ตลอดห่วงโซ่การผลิตในทุกอุตสาหกรรม คาดว่าจะใช้ในไตรมาส 2 ปีนี้


“ตอนนี้ยังพอมีเวลาปรับตัว เพราะ EU ก็ยังต้องพิจารณาอีกหลายเรื่อง น่าจะมีการขยับเวลา”