วอน “พาณิชย์-คลัง” อุ้ม SMEs เลื่อนเวลายื่นภาษี-ส่งบัญชี

สมาพันธ์เอสเอ็มอี

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ผนึก 4 สมาคมบัญชี ภาษีอากรและผู้สอบบัญชียื่นหนังสือถึงนายกฯ วอน “พาณิชย์-คลัง” ขยายเวลาส่งงบการเงิน-ภ.ง.ด.50-ภ.ง.ด.51 อีก 2 เดือนถึง ส.ค. 64 หวังช่วย SMEs พ้นวิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาพันธ์เอสเอ็มอีพร้อมด้วย 4 สมาคม นำโดยนายวรวงค์ ระฆังทอง นายกสมาคมผู้สอบบัญชีภาษีอากรแห่งประเทศไทย นางอัญชลี มณีท่าโพธิ์ นายกสมาคมสำนักงานบัญชีไทย นายหิรัญวงศ์ สำเร็จพร นายกสมาคมสำนักงานบัญชีคุณภาพ และนางชนิดา เกตุเอม นายกสมาคมสำนักงานบัญชีและกฎหมาย

แสงชัย
แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงพาณิชย์ โดยมีเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รับหนังสือเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2564 กระทรวงการคลัง โดยมีคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รับหนังสือ วันที่ 28 เม.ย. 2564 เพื่อขอให้พิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

สาระสำคัญของหนังสือ ขอให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาขยายระยะเวลายื่นงบการเงินของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเฉพาะนิติบุคคล ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีรอบระยะเวลาบัญชีปี 2563 ให้ถึง 31 ส.ค. 2564 เพื่อให้ผู้ประกอบการไม่ต้องแบกรับค่าปรับที่สูงสุดถึง 50,000 บาท

และถ้าไม่ส่งงบฯตามเวลาอาจจะถูกหมายเรียกจากสำนักงานตำรวจเศรษฐกิจลงโทษปรับ ทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง และขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาเลื่อนเวลาการชำระเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2563 (ภ.ง.ด.50) ที่ต้องยื่นในวันที่ 31 พ.ค. 2564 ออกไปถึงวันที่ 31 ส.ค. 2564 และรอบระยะเวลาบัญชีปี 2564 (ภ.ง.ด.51) ที่ต้องยื่นภายใน 31 ส.ค. 2564 ออกไปถึง 30 ก.ย. 2564

ทั้งนี้หากไม่ให้ความช่วยเหลือคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ 7 แสนราย ความเสียหาย 35,000 ล้านบาท

“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ที่มียอดสะสมเพิ่มขึ้นสูง กระจายไปหลายพื้นที่อย่างรวดเร็ว รัฐบาลออกข้อกำหนดต่าง ๆ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามพื้นที่สถานการณ์ กำหนดมาตรการจำเป็นเร่งด่วน สำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ภายในเงื่อนไข การจัดระบบและระเบียบ รวมถึงทั้งมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดเป็นเวลา 14 วัน และการดำเนินการขอความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อจะลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อ”

ซึ่งส่งผลกระทบต่อการประกอบการของเอสเอ็มอี ทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ต้องหยุดกิจการ โดยเฉพาะกิจการที่อยู่ในเขตพื้นที่สีแดงที่มีความเสี่ยง รวมถึงต้องให้พนักงานทำงานที่บ้าน ทำให้ขาดความคล่องตัวในการทำงาน ซึ่งทางผู้ประกอบการจึงไม่สามารถจัดทำบัญชีได้ทันตามกรอบเวลา

เช่นเดียวกับทางด้านสำนักงานบัญชี ซึ่งทางผู้ทำบัญชีไม่สามารถจัดทำบัญชีให้แสดงผลการดำเนินงาน ฐานะทางการเงิน หรือการเปลี่ยนแปลงฐานะทางการเงินของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีที่เป็นอยู่ตามความเป็นจริง และตามมาตรฐานการบัญชี โดยมีเอกสารครบถ้วนได้ ด้านผู้สอบบัญชี ผู้สอบบัญชีภาษีอากร ก็ไม่สามารถตรวจสอบบัญชีได้ตามแนวปฏิบัติหรือมาตรฐานการสอบบัญชีที่กำหนดไว้ และมีความจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลทางบัญชีและงบการเงิน แต่ด้วยปัญหาการระบาดทำให้มีข้อจำกัดในการเข้าตรวจสอบ