โควิดถล่มค้าชายแดน ประเทศคู่ค้างัด NTMs มาตรการค้ากีดกันไทย

ค้าชายแดนเมียนมาคึกคัก หน้ากากขายดี

ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ในอาเซียนที่ยังแพร่ระบาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น เมียนมา-กัมพูชา-สปป.ลาว-มาเลเซีย ซึ่งมีการปิดชายแดนหรือล็อกดาวน์เมืองสำคัญเป็นระยะ ๆ

แต่ปรากฏยอดค้าชายแดนและค้าผ่านแดนกับประเทศเหล่านี้กลับเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในไตรมาสแรกของปีนี้ (Q1/2564) มีมูลค่ารวม 383,576 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 19.31% โดยไทยส่งออก 225,981 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20.50% และนำเข้า 157,596 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 17.65% โดยไทยได้ดุลการค้าคิดเป็นมูลค่า 68,385 ล้านบาท

จับตามาตรการที่มิใช่ภาษี

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า หากแยกเฉพาะการค้าชายแดนกับเพื่อนบ้าน (มาเลเซีย-เมียนมา-สปป.ลาว และกัมพูชา) มีมูลค่า 222,720 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.57% โดยประเทศไทยมีการส่งออก 136,456 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.07% และนำเข้า 86,264 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.83%

ขณะที่การค้าผ่านแดนประเทศเพื่อนบ้านไปตลาดจีน-สิงคโปร์-เวียดนาม และประเทศอื่น ๆ มีมูลค่า 160,856 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 36.06% แบ่งเป็น การส่งออก 89,524 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.08% และนำเข้า 71,332 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.03%

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนถือเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่อีกด้านหนึ่ง “ความได้เปรียบดุลการค้าที่เกิดขึ้น” กลับกลายเป็นจุดที่ทำให้ประเทศคู่ค้าจับตามองการนำเข้า “สินค้าไทย” อย่างใกล้ชิด จนนำมาสู่การออกมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

ยกตัวอย่าง เมียนมา ได้ออกประกาศสั่งระงับไม่ให้ส่งสินค้ากลุ่มเครื่องดื่ม 5 รายการ คือ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง, เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาแฟและชา, กาแฟสำเร็จรูป, นมข้นหวานและนมข้นจืด ผ่านชายแดนทางบกจากทุกประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับเมียนมาตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2564 ไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

แม้ว่าประกาศฉบับดังกล่าวจะยังคง “ยกเว้น” ให้ส่งสินค้าข้างต้นผ่านด่านทางเรือและทางอากาศได้ แต่ทั้งสองช่องทางนี้กลายเป็นการขนส่งที่มีต้นทุนสูงขึ้นจนอาจจะกระทบต่อตลาดส่งออก 10,000 ล้านบาทต่อปีได้

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ อินโดนีเซียก็เคยออกประกาศห้ามนำเข้าลำไยจากประเทศไทย ในปี 2561 เช่นเดียวกับเวียดนาม กำหนดให้ผู้นำเข้ารถยนต์ต้องได้รับการรับรองประเภทยานพาหนะ (VTA) จากหน่วยงานภายในประเทศผู้ส่งออกเพื่อทราบแหล่งกำเนิดของยานพาหนะ

รวมไปถึงการใช้มาตรการ “จำกัด” จำนวนผู้ส่งออกสุกรไปยังประเทศกัมพูชา ให้เหลือเพียง 10 ราย โดยให้เหตุผลว่าสุ่มตรวจสอบเจอปัญหาหมูลักลอบนำเข้าติดเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) เมื่อปลายปี 2563

ดังนั้น เมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 กับประเทศคู่ค้าชายแดนขึ้นมาอีก จึงมีแนวโน้มว่า มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี หรือ NTMs มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ โดยเชื่อมโยงกับมาตรการทางด้านสุขอนามัยต่าง ๆ อย่างเช่นที่ สปป.ลาว เพิ่งออกประกาศใช้มาตรการชะลอการนำเข้า “สินค้าอาหารทะเล” และ “น้ำมัน” จากประเทศไทย

โดยให้เหตุผลว่าเป็นมาตรการปลอดภัยเฝ้าระวังโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในไทยเข้าสู่ สปป.ลาว แม้ว่าฝ่ายไทยจะมีการเจรจาจนผ่อนคลายมาตรการของ สปป.ลาวได้ แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลานานหลายเดือน

ดังนั้น การต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นภาระที่หนักหน่วงแล้ว แต่ประเทศไทยยังต้องมาได้รับแรงกดดันจากการใช้มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมภาคเอกชน

ด้าน นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ให้มุมมองถึงการเจรจาเพื่อช่วยคลี่คลายปัญหามาตรการทางการค้าว่า โดยทั่วไปจะหยิบยกขึ้นหารือในระดับ 2 ฝ่ายกับประเทศที่ใช้มาตรการก่อน หากยังมีปัญหาก็สามารถใช้เวทีของอาเซียนได้ เช่น การประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลการปฏิบัติตามความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน เช่น กรณีมาตรการนำเข้ารถยนต์ของเวียดนาม หรือเรื่องอาหารทะเลของ สปป.ลาว ลาวก็ใช้เวทีนี้แก้ปัญหามาแล้ว

งัดอีคอมเมิร์ซค้ากับลาว

ในส่วนภาคเอกชนไทยเตรียมปรับกลยุทธ์ฝ่าวิกฤตทั้งโควิด-19 และการใช้มาตรการทางการค้า ซึ่งจัดเป็นแรงกดดันการส่งออกอย่างต่อเนื่อง โดย นายจตุรงค์ บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว และประธานกรรมการที่ปรึกษา สมาคมนักธุรกิจไทยใน สปป.ลาว กล่าวว่า ภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในประเทศไทยและ สปป.ลาว ได้ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดน และการค้าผ่านแดน

รวมไปถึงการส่งออกอย่างมาก นักธุรกิจไทยที่ไปลงทุนต้องปรับตัว จากปัจจุบันมีนักธุรกิจไทยที่ไปลงทุนใน สปป.ลาว ประมาณ 200 ราย หรือคิดเป็นกว่า 70% ของสินค้านำเข้านั้นมาจากไทย

“ปัญหาโควิดทำให้การค้าชายแดนชะลอตัวลงอย่างมากขึ้น การเดินทางเข้ามาซื้อสินค้าในไทยตรงชายแดนเทียบเป็นศูนย์ จากปกติจะมีรถเข้ามาประมาณ 1,800-2,000 คันต่อวัน ในช่วงศุกร์-อาทิตย์ ที่ด่านหลักหนองคาย ขณะนี้ สปป.ลาวได้ออกประกาศล็อกดาวน์ไปในหลายแขวง เช่น เวียงจันทน์ สะหวันนะเขต และยังล็อกดาวน์ลงลึกไปถึงชุมชน หมู่บ้าน ส่วนระยะเวลาการล็อกดาวน์นั้นยังไม่มีกำหนดที่ชัดเจน” นายจตุรงค์กล่าว

ล่าสุด สภาธุรกิจไทย-สปป.ลาว ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซการค้าชายแดนไทย-สปป.ลาวขึ้นมา มีการวางเครือข่ายการจัดการ ขนส่งสินค้า การชำระเงินเพื่ออำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่

ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการไทยในเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการห้ามนำเข้าเครื่องดื่มผ่านทางชายแดนกล่าวว่า ยังไม่รู้ว่ามาตรการนี้จะใช้เวลานานเท่าไร ทางรัฐบาลเมียนมาอ้างว่าอยู่ระหว่างเตรียมระบบ food safety inspection ได้กำหนดให้ส่งเข้าทางเรือ ทั้งย่างกุ้งและติลาวา กับทางอากาศได้ ซึ่งคิดเป็นต้นทุนสูง “เอกชนไม่แน่ใจว่าเหตุผลการใช้มาตรการนี้เกิดจากการอะไร ทางเราเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเจรจาโดยผ่านเวทีอาเซียน หรือเวทีอื่น ๆ เช่น WTO เพราะมาตรการนี้เมียนมาใช้กับทุกประเทศ”

ทุนไทยในกัมพูชาอ่วม

ขณะที่ นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ ประธานสภาธุรกิจไทย-กัมพูชา ยอมรับว่า ขณะนี้เศรษฐกิจกัมพูชาและภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากปัญหาการล็อกดาวน์ในประเทศจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระจายไปในหลายพื้นที่ และยังไม่แน่ชัดว่ากัมพูชาจะใช้ระยะเวลาล็อกดาวน์นานเท่าไร

โดยผลกระทบที่เห็นได้ชัดตอนนี้คือ การกระจายสินค้าในกัมพูชาลำบากมาก เนื่องจากไม่สามารถข้ามเขตจังหวัดได้ แม้ว่าจะมีการขนส่งข้ามชายแดนเข้าไปแล้วก็ตาม แต่จะติดเรื่องของการขนส่งสินค้าภายในกัมพูชาเอง โดยนักลงทุนไทยที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มภาคบริการ ร้านอาหารเห็นผลชัดมากในตอนนี้ ส่งผลให้มีการปิดกิจการหลายแห่ง


อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อมั่นว่าเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้ามากขึ้นก็จะเป็นโอกาสในการขายสินค้าของไทยในอนาคต