“บี.กริม”โดดแจมตลาดสถานีชาร์จ EV นำร่องนิคมอมตะ

โรงไฟฟ้าอมตะบีกริม

บี.กริมโดดแจมตลาดสถานีชาร์จอีวี “ฮาลาลด์ ลิงค์” ผนึก กฟภ.-อมตะ นำร่องทดลอง 2 จุด ชี้โอกาสเสริม ecosystem สมบูรณ์ต่อยอดธุรกิจโรงไฟฟ้า พร้อมเผยความคืบหน้าปิดดีลสิงห์ ถือหุ้น 3 โรงไฟฟ้านิคมฟู้ดวัลเล่ย์ เดินหน้ากำลังการผลิตสู่เป้าหมาย 7,200 เมกะวัตต์

นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทมีแผนจะลงทุนติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV charging station) โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มติดตั้งจุดทดลองในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ในปีนี้ ประมาณ 1-2 จุดก่อน จากนั้นจะศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับโอกาสการพัฒนาเพื่อขยายการลงทุนต่อไปในอนาคต

นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม
นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม

สำหรับแผนการลงทุนนี้ บี.กริม เพาเวอร์ ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA หรือ กฟภ.) ไปก่อนหน้านี้ และทางบริษัทยังอยู่ระหว่างหารือกับทางการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ด้วย

“ผมมองว่าอีวีจะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในอนาคต ทาง บี.กริมมองถึงศักยภาพการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีการใช้รถบัสไฟฟ้าในการรับส่งคนงาน ก็ควรจะต้องมีจุดสำหรับชาร์จ แต่เราต้องไปดูว่าความต้องการจะมีมากน้อยเพียงใด การลงทุนนี้จะเป็นส่วนเสริมกับธุรกิจ บี.กริม เพราะทาง บี.กริมทำไฟฟ้าขายในนิคมอยู่แล้ว และมีการลงทุนพัฒนาระบบสายส่งแบบสมาร์ทกริดด้วย”

นายลิงค์กล่าวถึงความคืบหน้าในการเจรจากับ บมจ.สิงห์ เอสเตท หรือ S บริษัทผู้พัฒนาและลงทุนอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย ตามที่ทางเอสระบุถึงสิทธิเข้าซื้อหุ้นสามัญ 30% ในโรงไฟฟ้า 3 บริษัทในกลุ่ม บี.กริม รวมกำลังผลิต 400 เมกะวัตต์ ว่าขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยได้มีการเปลี่ยนชื่อบริษัทโรงไฟฟ้าดังกล่าว จากบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 1, 2 และ 3 จำกัด เป็น บี.กริม เพาเวอร์อ่างทอง 1, 2 และ 3 ตามลำดับ

นายนพเดช กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งล่าสุด (22 เมษายน 2564) ได้พิจารณาเรื่องการใช้สิทธิเข้ามาถือหุ้นของสิงห์ เอสเตท จากนี้จะต้องดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งนี่จะถือเป็นการเริ่มต้นธุรกิจโรงไฟฟ้า SPP ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าให้กับลูกค้าในนิคม World Food Valley รวมทั้งหมด 400 เมกะวัตต์

“นิคม World Food Valley เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนให้มีการจัดพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทยในฐานะที่ไทยเป็นครัวของโลก สิ่งสำคัญจะต้องมีความพร้อม เรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ดีมีมาตรฐานสูง โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าไอน้ำ และน้ำในกระบวนการผลิต ที่ บี.กริมได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพ และประสิทธิภาพการผลิตสาธารณูปโภคตอบรับตรงนี้”

ส่วนกรณีที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิดระลอกที่ 3 ในจังหวะนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุน เพราะนิคม World Food Valley อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมหลังจากที่เพิ่งได้รับใบอนุญาตในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ไม่กระทบลูกค้าใหม่ซึ่งคงรอดูความชัดเจนว่ารูปแบบนิคมเป็นอย่างไร หลังจากนี้จึงจะมีการทำการตลาด ตามแผนที่ร่วมวางไว้

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งเรามองว่าโควิดจะเป็นแรงหนุนให้นักลงทุนให้ความสนใจในการลงทุนธุรกิจอาหารมากขึ้น เป็นสินค้าที่เป็นจุดแข็งของไทยและจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ การสร้างพันธมิตรเพื่อเติบโตไปด้วยกันเป็นแนวทางหลักในการดำเนินงานของ บี.กริมอยู่แล้ว โดยมองว่าแต่ละฝ่ายจะมีจุดแข็งที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดย บี.กริม มีจุดแข็งเรื่องไฟฟ้า สายส่ง การบริหารจัดการระบบ การจำหน่าย ขณะที่สิงห์ก็มีจุดแข็งในด้านการดูแลพัฒนานิคม การดึงดูดนักลงทุน ซึ่งการร่วมกันครั้งนี้จะต่อยอดธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น

“ในปีนี้บริษัทมีพูดคุยกับนิคมอื่นหลายนิคม และธุรกิจอื่นด้วย เพื่อสร้างโอกาสในการขยายพันธมิตรใหม่ ๆ ในการต่อยอดธุรกิจ”

สำหรับแผนการลงทุนของ บี.กริม เพาเวอร์ ในช่วง 5 ปีวางงบประมาณ 1.8 แสนล้านบาท เพื่อต่อยอดการผลิตไฟฟ้าให้ได้ 7,200 เมกะวัตต์ และเพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจสถานีชาร์จอีวีด้วย

“การลงทุนสถานีชาร์จอีวีเป็นหนึ่งในแผนการลงทุนในช่วง 5 ปีของบริษัท เรามองว่าสถานีชาร์จจะเป็นการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ หรือ ecosystem ให้สมบูรณ์ เช่นเดียวกับการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล ระบบสมาร์ทกริด นำไปสู่การเชื่อมโยงเพื่อสร้างโอกาสในธุรกิจ ตอบโจทย์ลูกค้า”