“ทุเรียนไทย” ติดลมบน FTA ช่วยดันส่งออกไปจีน ไตรมาสแรกเพิ่ม 14%

กรมเจรจาฯ เผย “ทุเรียนไทย” ฮิตติดลมบนในตลาดจีน หลังเอฟทีเอมีส่วนช่วยสร้างความได้เปรียบ ดันส่งออกทุเรียนไปจีนไตรมาสแรกปี 64 พุ่ง! 14%  ปัจจุบัน 17 ประเทศคู่เอฟทีเอลดภาษีนำเข้าทุเรียนสดให้ไทยแล้ว เหลือเพียงเกาหลีใต้ เก็บที่ 36% เผย เตรียมผลักดันลดภาษีให้ไทยเหลือ 0% ใน 10 ปี ภายใต้ RCEP 

วันที่ 4 พฤษภาคม 2564 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามสถิติการส่งออกทุเรียนไทยในไตรมาสแรกของปี 2564 (มกราคม-มีนาคม) พบว่า ราชาแห่งผลไม้ของไทยยังคงเนื้อหอม และได้รับความนิยมสูงที่สุด ซึ่งไทยยังคงครองแชมป์ผู้ส่งออกทุเรียนเป็นอันดับที่ 1 ของโลก และครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในจีน โดยไทยส่งออกทุเรียนสดไปจีนมูลค่า 186 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 คิดเป็นสัดส่วน 88% ของการส่งออกทุเรียนสดทั้งหมดของไทย รองลงมา คือ ฮ่องกง มูลค่า 14 ล้านเหรียญสหรัฐ และเวียดนาม มูลค่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ 

การส่งออกทุเรียนสดของไทยไปจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งเป็นปีที่จีนเริ่มต้นยกเว้นภาษีนำเข้าทุเรียนสดให้ไทยภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-จีน ทำให้ทุเรียนไทยมีศักยภาพทางการแข่งขัน จนปัจจุบันสามารถครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอับดับหนึ่งในจีน ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบการส่งออกในปี 2563 กับปี 2546 ซึ่งเป็นปีที่จีนเริ่มต้นยกเว้นภาษีนำเข้าทุเรียนสดให้ไทย การส่งออกมีอัตราการขยายตัวสูงแบบก้าวกระโดดถึง 79,300% โดยในปี 2563 ไทยส่งออกทุเรียนสดไปจีน มูลค่า 1,509 ล้านเหรียญสหรัฐ (+78%) เมื่อเทียบกับปี 2562 คิดเป็นสัดส่วน 73% ของการส่งออกทุเรียนสดทั้งหมด

จากการขยายตัวของการส่งออกทุเรียนสดไปตลาดจีน เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ FTA ที่ช่วยขจัดอุปสรรคทางภาษีนำเข้าในประเทศคู่ค้า และสร้างความได้เปรียบให้สินค้าไทยในตลาดต่างประเทศ โดยปัจจุบันทุเรียนสดของไทยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าใน 17 ประเทศคู่ค้าที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย คือ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น อินเดีย ชิลี และเปรู เหลือเพียงเกาหลีใต้ที่ยังเก็บภาษีนำเข้าทุเรียนจากไทย 36% นอกจากนี้ ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีการลงนามเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยไทยสามารถผลักดันให้เกาหลีใต้ลดภาษีทุเรียนสดเพิ่มเติมให้ไทย โดยจะทยอยลดภาษีจนเหลือ 0% ในปีที่ 10 หลังความตกลง RCEP มีผลใช้บังคับ 

“ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคนิยมอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น นอกจากจะทำให้ความต้องการผลไม้สดเพิ่มขึ้นแล้ว คาดว่า ตลาดผลไม้แปรรูปที่มีลักษณะเป็นขนมขบเคี้ยว อาทิ ผลไม้ทอด และผลไม้อบแห้ง จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน จึงเป็นโอกาสทองที่เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยจะเพิ่มรูปแบบสินค้าในการส่งออก นอกจากทุเรียนสดแล้วอาจจะเพิ่มผลิตภัณฑ์ทุเรียนแปรรูปอื่นๆ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการรักษามาตรฐานสินค้าและพัฒนาคุณภาพการผลิตสม่ำเสมอ โดยพิถีพิถันตั้งแต่การปลูก เก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ มีใบรับรองสุขอนามัยพืช และระมัดระวังเรื่องการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง เนื่องจากตลาดในหลายประเทศเข้มงวดและผู้บริโภคก็นิยมผลไม้ปลอดสารพิษหรือเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น”