ธปท. ประเมินฉีดวัคซีนช้าไม่ถึง 64.6 ล้านโดส สร้างต้นทุนเศรษฐกิจพุ่ง 8.9 แสนล้าน

เศรษฐกิจไทย

ธปท. รับโควิด-19 ระลอก 3 กระทบหนักกว่าระลอก 2 ยัน “วัคซีน” คือ พระเอก พร้อมประเมิน 3 กรณี ชี้ ฉีดวัคซีนช้าน้อยกว่า 64.6 ล้านโดส-กระทบภูมิคุ้มกันหมู่- สร้างต้นทุนทางเศรษฐกิจสูง 8.9 แสนล้านบาท หรือ -5.7% ของจีดีพี ย้ำ หากฉีดเร็ว-กระจายเร็ว-ประชาชาพร้อมใจฉีดหนุนจีดีพีโต 3-5.7%

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าระลอก 3 จะมีผลกระทบมากกว่าระลอก 2 แต่มีผลน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการระบาดระลอกแรก เนื่องจากครัวเรือนและธุรกิจที่มีสายป่านจำกัด จึงมีผลกระทบอย่างมีนับสำคัญ และส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าลงจากการระบาดระลอก 3 โดยพระเอกจะเป็น การจัดหาวัคซีน การกระจายวัคซีน และประชาชนพร้อมใจกันฉีดวัคซีน นโยบายการเงินจะตามมาที่หลัง

อย่างไรก็ดี ธปท.ได้มีการประมาณการเศรษฐกิจภายใต้สมมติฐานต่างๆ โดยแบ่งเป็น 3 กรณี คือ 1.สามารถจัดหาปละกระจายวัคซีนเพิ่มเติมราว 100 ล้านโดสภายในปี 64 และเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) จะเห็นเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ถูกกระทบและหลังจากนั้นจะปรับตัวดีขึ้น กรณี 2.การจัดหาและกระจายวัคซีนเลื่อนออกไปกระทบภูมิคุ้มกันหมู่ และสามารถฉีดได้อยู่ที่ 64.6 ล้านโดส จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทำให้มีภาระต้นทุนทางเศรษฐกิจราว 4.6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นการหดตัว -3.0% ของจีดีพี

และกรณี 3.การจัดหาและกระจายวัคซีนได้ช้ากว่าแผนเดิม หรือน้อยกว่า 64.6 ล้านโดสในปี 64 จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทำให้มีภาระต้นทุนทางเศรษฐกิจราว 8.9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น -5.7% ของจีดีพี อย่างไรก็ดี หากสามารถฉีดวัคซีนได้เร็วจะสามารถช่วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ได้ถึง 3.0-5.7% ในช่วงปี 64-65 เช่นกัน ดังนั้น การจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องฉีดวัคซีนได้เร็ว เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเร็วขึ้น จะช่วยอุปสงค์หรือการบริโภคภายในดีขึ้นด้วย

“แม้ว่ารอบนี้จะไม่ได้เป็นรอบปรับประมาณการตัวเลข แต่เราได้ทำสมมติฐานผลกระทบจากการจัดหาวัคซีน การกระจายวัคซีน เพราะถ้าเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็ว จะทำให้เกิดการระบาดรอบใหม่จะเกิดขึ้นน้อยลง การเปิดรับนักท่องเที่ยวจะเร็วขึ้น ภาระมาตรการคลังเยียวยาจะน้อยลง ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ถูกกระทบจะฟื้นตัวเร็วขึ้น และมาตรการภาครัฐจากเยียวยามาสู่การฟื้นฟูได้”

ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงที่ธปท.ยังคงต้องติดตาม คือ ตลาดแรงงานที่มีความเปราะบาง แม้ว่าจำนวนผู้ว่างงานภาพรวมในไตรมาสที่ 1/64 ในส่วนของผู้ว่างงานระยะปานกลางปรับลดลงราว -11% หรืออยู่ที่ 3.7 แสนคน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่หากดูผู้ว่างงานระยะยาวส่งสัญญาณปรับเพิ่มขึ้น 181% หรือราว 0.6 แสนคน ซึ่งเป็นสัญญาณไม่ดี รวมถึงผู้ไม่เคยทำงานมาก่อน หรือกลุ่มเด็กจบใหม่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในปีถัดไปจะมีบัณฑิตจบใหม่ออกสู่ตลาดอีก แม้ว่าภาครัฐจะมีโครงการจ้างงานระยะ 1-2 ปี แต่หากจบโครงการกลุ่มนี้ก็จะทยอยออกมาหางานมากขึ้น

สำหรับมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมนั้น ธปท.กำลังติดตามประสิทธิภาพและประสิทธิผลของมาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทผ่านมาตรการเยียวยาของภาครัฐ หรือพ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟูที่มาช่วยในเรื่องของสินเชื่อสภาพคล่องให้ธุรกิจ ซึ่งสถานการณ์มีความไม่แน่นอนสูงมาตรการต่างๆ จึงต้องประสานกัน