กรมทรัพย์ สั่งปฏิเสธคำขอจดสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์ เหตุไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น

กรมทรัพย์สินทางปัญญา เผย มีคำสั่งปฏิเสธ “คำขอรับสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์รูปแบบเม็ด” แล้ว เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 เหตุไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า การพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์รูปแบบยาเม็ดที่มีการสอบถามความคืบหน้ามาก่อนหน้านี้ ล่าสุด กรมฯ ได้มีคำสั่งปฏิเสธคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรแล้ว ภายหลังจากให้โอกาสผู้ขอได้ชี้แจงเพิ่มเติม โดยผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรพิจารณาแล้วยังคงเห็นว่าการประดิษฐ์ดังกล่าวไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ตามมาตรา 5(2) และมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522

ทำให้ปัจจุบันไม่มีผู้ใดมีสิทธิผูกขาดในยาฟาวิพิราเวียร์ ทั้งในโครงสร้างสารออกฤทธิ์หลักซึ่งไม่เคยมีการขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทย และรูปแบบยาเม็ดซึ่งกรมฯ ได้มีคำสั่งปฏิเสธคำขอแล้วในวันนี้ หากองค์การเภสัชกรรมหรือบริษัทยาสามัญไทยรายอื่นประสงค์จะผลิตยาดังกล่าวเพื่อใช้ในประเทศก็สามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ดี เนื่องจากกระบวนการของกฎหมายยังเปิดโอกาสให้ผู้ขอฯ สามารถอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรได้ภายใน 60 วัน หากไม่มีการอุทธรณ์ภายในระยะเวลาดังกล่าวจึงจะถือว่าคำสั่งปฏิเสธของกรมฯ เป็นที่สุด และเสร็จสิ้นกระบวนการทางกฎหมาย

ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนกำลังช่วยกันแก้ปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามบทบาทและหน้าที่ของตนเองภายใต้เป้าหมายเดียวกัน คือ ให้ประชาชนเข้าถึงยาที่จำเป็นได้อย่างทันท่วงที และไม่อยากให้มองว่าสิทธิบัตรเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยาเพียงอย่างเดียว เพราะหากมองในมุมกลับกัน ตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาดในไทยเมื่อต้นปี 2563 มีคนไทยยื่นจดสิทธิบัตร-อนุสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 แล้วกว่า 60 คำขอ เช่น หน้ากากอนามัย ตู้อบฆ่าเชื้อ ยาต้านไวรัส และหุ่นยนต์ขนส่งอาหารในโรงพยาบาล เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าสิทธิบัตรก็เป็นประโยชน์สำหรับคนไทยที่จะทำให้ข้ามผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปด้วยกัน

นายวุฒิไกร กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นที่มีการเสนอในบางสื่อว่า ประเทศไทยไม่สามารถบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (Compulsory License หรือ CL) เพื่อผลิตยาที่มีสิทธิบัตรขึ้นเองได้ เนื่องจากติดขัดที่กรมทรัพย์สินทางปัญญากำลังแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร นั้นเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน กรมฯ ขอเรียนว่า การแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรที่มีการอ้างถึง ปัจจุบันเป็นเพียงร่างกฎหมายที่อยู่ภายในหน่วยงาน ยังต้องผ่านกระบวนการพิจารณาด้วยความรอบคอบอีกหลายขั้นตอนกว่าจะมีผลบังคับใช้ ดังนั้น การใช้สิทธิ CL จึงยังเป็นอำนาจของกระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ซึ่งบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน