ปรากฏการณ์ เอสพีพี ไฮบริด

คอลัมน์ แตกประเด็น โดย มิติประชาชาติ

เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ สำหรับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm หรือการผสมผสานเชื้อเพลิงตั้งแต่ 1 ประเภทขึ้นไป รวม 300 เมกะวัตต์ ภายใต้อัตราค่าไฟฟ้ารูปแบบ FiT หรือ Feed In Tariff ที่ 3.66 บาท/หน่วย

เพราะทันทีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้า ก็ปรากฏว่า มีการยื่นถึง 85 โครงการ รวมกำลังผลิต 1,644 เมกะวัตต์ ซึ่งเกินจากเป้าหมายที่วางไว้มาก รวมถึงอัตราค่าไฟฟ้าที่ยื่นเสนอขายยังมีแนวโน้มที่ค่อนข้างต่ำที่เฉลี่ย 2.50-3 บาท/หน่วย ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นอัตราที่ “สูสี” กับอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) ด้วยซ้ำ

ซึ่งหากพัฒนาโครงการได้จริง ก็เท่ากับว่าในอนาคตประเทศสามารถลดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้ ที่สำคัญยังได้ใช้ศักยภาพจากผลพลอยได้ของภาคการเกษตรและลดการนำเข้าพลังงาน

ถามว่าค่าไฟฟ้าต่ำขนาดนี้ จะพัฒนาโครงการได้จริงหรือไม่ ทั้งนี้มีการยืนยันจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่ยื่นประมูลครั้งนี้ “ทำได้” แต่ต้องมี 1) ความเป็นมืออาชีพ และประสบการณ์ในการบริหารต้นทุน และ 2) มีวัตถุดิบเชื้อเพลิงเป็นของตัวเอง รวมถึงต้องมีที่ดินรองรับการปลูกพืชพลังงานในอนาคตด้วย ซึ่งเมื่อประเมินจากประเภทเชื้อเพลิงที่ค่อนข้างได้เปรียบคือ ผู้ผลิตไฟฟ้าในกลุ่มชีวมวล (แกลบ, ไม้สับ, เศษไม้) และไบโอก๊าซ ที่นำของเสียมาหมักให้เกิดก๊าซและนำไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะในกลุ่มของโรงงานน้ำตาลและโรงสีข้าว ซึ่งเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้า SPP Hybrid ครั้งนี้ด้วย เช่น บริษัทในกลุ่มมิตรผล เมื่อลองเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ เช่น กลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ แม้ว่าต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์จะลดลงค่อนข้างมาก แต่ยังมีข้อจำกัดที่ว่า สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียง 8 ชั่วโมง และหากจะใช้ระบบกักเก็บพลังงาน ก็ยังไม่มีการการันตีว่าต้นทุนจะลดลง


ทั้งนี้ไม่ได้มีเพียงปรากฏการณ์ค่าไฟฟ้าที่ต่ำมากเท่านั้น ยังมีปรากฏการณ์ “รายใหญ่” โดดร่วมประมูล SPP Hybrid ด้วย เช่น บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี้ ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด ผู้ชนะประมูลโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) รวม 5,000 เมกะวัตต์ และบริษัทต่างชาติอย่าง บริษัท ฮันฮวา คิว เซลล์ (ไทยแลนด์) จำกัด จากประเทศเกาหลีใต้ และที่ดูจะเซอร์ไพรส์วงการพลังงานคือ การเข้ามาประมูลของบริษัทในเครือไทย เบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ส่งบริษัท ไทเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และบริษัท บางไทร ภูมิพัฒน์ จำกัด ที่ยื่นประมูลถึง 5 โครงการด้วย โดยในวันที่ 24 พ.ย.นี้ กกพ.จะประกาศผลผู้ผ่านคุณสมบัติทางด้านเทคนิค หลังจากนั้นจึงจะเปิดซองเสนอราคาเป็นลำดับถัดไป