โควิดรอบ 3 ดึงดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเมษายน 64 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

หอการค้าไทย เผย โควิดรอบ 3 ดึงดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเมษายน 2564 อยู่ระดับ 46.0 ลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ มาตรการภาครัฐเห็นด้วยแต่มองว่าอัดฉีดเงินน้อยไป ยังกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้เต็มที่จากเม็ดเงินที่หายถึง 4 แสนล้านบาท

วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายน อยู่ที่ 46.0 ลดลงจากเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งอยู่ที่ 48.5 โดยลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 7 เดือน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 40.3 จาก 42.5 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 42.9 จาก 45.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 54.7 จาก 57.7

ปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีการระบาดอยู่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการต่างๆ, รัฐบาลออกมาตรการควบคุมการระบาดของโรคให้เข้มข้นและมาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามเขตพื้นที่ ภายใต้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

เช่น การปิดสถานบันเทิง ควบคุมเวลาการเปิดปิดห้างสรรพสินค้า/ร้านสะดวกซื้อ ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม เป็นต้น พร้อมขอความร่วมมือประชาชนงดออกนอกเคหสถานในยามค่ำคืน, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยเหลือโต 2.3% จากเดิมคาด 2.8%

ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ ภาครัฐดำเนินการออกมาตรการเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ประกอบด้วย โครงการ “เราชนะ” “ม33เรารักกัน” “คนละครึ่ง” “เราเที่ยวด้วยกัน” ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับดีขึ้นทั่วประเทศ, การส่งออกเดือนมี.ค. ขยายตัว 8.47% ทำให้ช่วง 3 เดือนแรกส่งออกโต 2.27%, ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าวและยางพารา ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ดี จากดัชนีความเชื่อมั่นชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่มีความเปราะบาง จากผลกระทบโควิดรอบที่ 3 ซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นในระดับหลักพันคน และยอดผู้เสียชีวิตรายวันอยู่ในระดับตัวเลขสองหลักต่อเนื่องกัน ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด และลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจมาในเดือนตุลาคม 2541

อีกทั้ง มองว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคม 2564 ยังมีโอกาสจะปรับลดลงได้ต่อเนื่อง ถ้าสถานการณ์โควิดในประเทศยังไม่ดีขึ้น การฉีดวัคซีนโควิดยังไม่สามารถทำได้ครอบคลุม และยอดผู้ติดเชื้อรายวันยังอยู่ในระดับสูง โดยมองว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังเป็นขาลง และยังไม่เห็นสัญญาณว่าจะมีการปรับตัวสูงขึ้นได้ในระยะสั้นนี้

“สถานการณ์รอบนี้มาจากโควิดอย่างชัดเจน มีการงดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กึ่งล็อกดาวน์ ปิดสถานบริการต่างๆ ร้านอาหาร สถานบันเทิง ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ความเชื่อมั่นผู้บริโภคจึงบ่งชี้ว่าคนจับจ่ายใช้สอยลดลงต่อเนื่อง และใช้จ่ายน้อยลงกว่าโควิดในปี 63”

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า จากผลกระทบที่เกิดขึ้นยังประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าความเสียหายในช่วงไตรมาส 2 จะอยู่ที่ราว 3-4.5 แสนล้านบาท หรือตกเดือนละ 1-1.5 แสนล้านบาท ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลยอดค้าปลีกในเบื้องต้นพบว่ายอดขายหายไปจากปกติ เหลือเพียงไม่เกิน 30% และหากสถานการณ์การระบาดมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นก็จะยิ่งสร้างโอกาสความเสียหายทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น

สำหรับมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีผลอยู่ในช่วงไตรมาส 2 ประมาณกว่า 1 แสนล้านบาท ที่มาจากโครงการเราชนะ, เรารักกัน, มาตรการช่วยเหลือค่าน้ำ-ค่าไฟ และมาตรการสินเชื่อต่างๆ นั้น มองว่า เม็ดเงินดังกล่าวยังน้อยเกินไปสำหรับการลงไปช่วยระบบเศรษฐกิจในไตรมาส 2 นี้ ที่ประเมินว่า ความเสียหายจะมีมากถึง 3-4.5 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก ดังนั้นจึงทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 มีโอกาสจะเติบโตได้เพียง 3-5% จากเดิมที่เคยคาดไว้ว่าจะเติบโตได้ 8-9%

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไตรมาส 2 คาดว่าจะเสียหายอย่างน้อยราว 3-4.5 แสนล้านบาท การอัดฉีดเม็ดเงินกลับเข้าสู่ระบบ น่าจะมีการพิจารณาเพิ่มเติมให้ได้อย่างน้อย 2-3 แสนล้านบาท เพื่อประคองสถานการณ์ เพราะตอนนี้เม็ดเงินที่เหลืออยู่ในระบบเศรษฐกิจ จะมีแค่ soft loan และเราชนะ กับเรารักกัน ที่ขยายต่อให้ โดย หอการค้าไทย ยังต้องขอติดตามสถานการณ์ในช่วงเดือนพ.ค.นี้ก่อนที่จะพิจารณาว่าต้องทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยของปีนี้ใหม่หรือไม่

จากปัจจุบันที่คาดว่า GDP ปี 64 จะเติบโตได้ราว 2.5-3% แต่มองว่า หากเศรษฐกิจไทยไม่ได้รับมาตรการการกระตุ้นที่เหมาะสม รวมทั้งไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดในประเทศได้ ก็มีโอกาสที่ GDP ปีนี้จะเติบโตเหลือเพียง 0-1.5% สิ่งที่สำคัญมากคือ การควบคุมโควิด และการบริหารจัดการวัคซีน 2 ตัวนี้จะทำให้ความเชื่อมั่นในระยะสั้นปรับตัวในทิศทางบวก หรือลบ

ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถูกจังหวะ จะทำให้ความเชื่อมั่นกลับมาฟื้นขึ้นได้หลังโควิดคลี่คลาย แต่สถานการณ์ตอนนี้ยังประเมินยาก ต้องรอสิ้นเดือนพ.ค. รอมาตรการของรัฐที่ชัดเจนทั้งหมด จึงจะค่อยปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้อีกครั้ง