ปิดจ๊อบส่งน้ำฤดูแล้งฉลุยตามแผน พร้อมเดินหน้ารับมือฤดูฝนปี 64

กรมชลประทานปิดจ๊อบส่งน้ำฤดูแล้ง พร้อมเดินหน้ารับมือฤดูฝนปี 64 หลังการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 63/64 เป็นไปตามแผนฯ พร้อมเดินหน้าเตรียมพร้อมบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนอย่างเต็มศักยภาพ เน้นเก็บกักน้ำให้มากที่สุด สำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ในทิ้งช่วง พร้อมทุ่มงบจัดจ้างแรงงานชลประทานทั่วประเทศ บรรเทาคนตกงาน

วันที่ 7 พ.ค. 2564 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้สิ้นสุดของการบริหารจัดการในช่วงฤดูแล้งปี 63/64 (เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. 63 – 30 เม.ย. 64) แล้ว ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ณ วันที่ 30 เม.ย. 64 มีการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งที่ผ่านมารวมทั้งสิ้นประมาณ 16,717 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 88 ของแผนฯ การใช้น้ำต่ำกว่าแผนวางไว้

เฉลิมชัย ศรีอ่อน

เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา วางแผนจัดสรรน้ำไว้รวม 5,000 ล้าน ลบ.ม. โดยใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลักรวม 4,500 ล้าน ลบ.ม. อีกส่วนหนึ่งผันมาจากลุ่มน้ำแม่กลอง 500 ล้าน ลบ.ม. ผลการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งรวมทั้งสิ้น 4,892 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 98 ของแผนฯ ภาพรวมผลการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เนื่องจากมีฝนตกบริเวณพื้นที่ท้ายเขื่อน ส่งผลให้การใช้น้ำจากเขื่อนลดลง ที่สำคัญยังได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรในการนำน้ำจากแหล่งธรรมชาติในพื้นที่ของตน อาทิ บ่อยืม หนอง และบึงต่าง ๆ มาใช้ในการเพาะปลูก ทำให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผนและเพียงพอ

สำหรับผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2563/64 ทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกรวมทั้งสิ้น 5.95 ล้านไร่ (แผนวางไว้ 2.45 ล้านไร่) แยกเป็นข้าวนาปรัง 1.90 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.55 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอที่จะสนับสนุน แต่จากการสำรวจพบว่ามีการทำนาปรังประมาณ 2.79 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 2.593 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองทำการเพาะปลูก

ทั้งนี้ ตลอดในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างรัดกุม โดยจัดลำดับความสำคัญในการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เป็นหลัก ตามข้อสั่งการของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

พร้อมกันนี้ ยังได้เดินหน้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งในพื้นที่ 56 จังหวัด 139 อำเภอ 220 ตำบล 344 หมู่บ้าน ด้วยการสนับสนุนรถบรรทุกน้ำ 47 คัน คิดเป็นปริมาณน้ำกว่า 12.67 ล้านลิตร ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 433 เครื่อง แบ่งเป็นการสูบน้ำช่วยเหลือด้านอุปโภคบริโภคและการเกษตร คิดเป็นปริมาณน้ำกว่า 160 ล้าน ลบ.ม. และยังมีเครื่องจักรกลอื่นๆอีก 133 หน่วย ที่ส่งเข้าไปช่วยเหลือ รวมไปถึงการซ่อม/สร้างทำนบ/ฝาย รวม 36 แห่ง และการขุดลอกแหล่งน้ำอีก 34 แห่งด้วย

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้ดำเนินการจัดจ้างแรงงานชลประทานทั่วประเทศ ในการดำเนินงานปรับปรุงซ่อมแซม บำรุงรักษาระบบชลประทาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 จนถึงขณะนี้มีผู้เข้าร่วมรับการจ้างงานกว่า 63,088 รายแล้ว เกษตรกรหรือประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามหรือสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมชลประทาน 1460

ด้าน นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ณ วันที่ 1 พ.ค. 64 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศมีปริมาณน้ำรวมกัน 36,442 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำรวมกันได้อีกประมาณ 39,626 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,961 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ประมาณ 2,265 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำรวมกันได้อีกประมาณ 15,910 ล้าน ลบ.ม

สำหรับการบริหารจัดการน้ำและการรับมือฤดูฝนปี 2564 นั้น ได้วางมาตรการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ การจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ การส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนโดยใช้น้ำฝนเป็นหลักหลังกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการและมีฝนตกในพื้นที่สม่ำเสมอ รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ควบคู่ไปกับการกักเก็บน้ำไว้ในเขื่อนหรือแหล่งน้ำธรรมชาติให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย กำหนดคน และกำหนดเครื่องจักรเครื่องมือกว่า 5,935 หน่วย เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมกำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ตรวจสอบสภาพความมั่นคงของเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง 437 แห่ง และอาคารชลประทานทั่วประเทศอีก 1,806 แห่ง ให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ

รวมทั้งสำรวจสิ่งกีดขวางทาง และการกำจัดวัชพืชในแม่น้ำสายหลักและคูคลองต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์เก็บกัก (RULE CURVE) โดยพิจารณาปรับลดการระบายให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา พร้อมกับใช้อาคารชลประทานในการจัดการจราจรน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำรวมทั้งการแจ้งเตือนต่าง ๆ ไปยังประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมหรือน้ำล้นตลิ่ง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มาก