ซีอีโอ “วินด์ เอนเนอร์ยี่” กางแผนลงทุน 1.5 หมื่นล้าน

สัมภาษณ์พิเศษ

พลังงานไฟฟ้าลม หนึ่งในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (renewable) ซึ่งเป็นเทรนด์พลังงานอนาคตที่ยังมีโอกาสสูง ขึ้นชื่อว่าเป็นธุรกิจเติบโตด้วยอัตราการทำกำไรกว่า 40% คู่แข่งหน้าใหม่น้อย

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ” ที่ก้าวจากตำแหน่งรองประธานขึ้นรับไม้ต่อเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด เบอร์หนึ่งในธุรกิจพลังงานลมถึงแผนการลงทุน 15,000 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย 1,000 เมกะวัตต์ ภายใน 3 ปี

ณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ
ณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด

วินด์วางเป้า 1.2 หมื่นล้าน

ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ไม่ค่อยดี ถ้าเรามองปี 2562 (2019) รายได้ 12,000 ล้านบาท กำไรเกือบ 6,000 ล้านบาท ส่วนปี 2563 รายได้ 9,900 ล้านบาท กำไร 4,200 ล้านบาท หายไปจากหลัก ๆ เป็นเรื่องของ “ลม” ที่ลดลง 10-20%

แต่มาในปีนี้ได้เข้าไปปรับโครงสร้างต้นทุน เพราะแบ็กกราวนด์ก่อนจะมารับตำแหน่งเคยเป็นที่ปรึกษาให้กลุ่มพลังงาน เคยอยู่ในทีม EGAT ช่วยทำ PDP ปี 2018 และเคยไปช่วยบริษัทที่มาเลเซีย ดังนั้น สิ่งที่มองว่าทำได้เร็ว คือ ปรับโครงสร้างต้นทุน ซึ่งไม่ใช่เป็นการลดคน แต่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยไม่ได้มองว่าต้นทุนจะมากน้อยอย่างไร แต่มองว่าผลที่ได้จากต้นทุนนั้นเหมาะสมหรือไม่ ตรงกันข้ามมีรีครูตคนเพิ่มด้วย

“คอสต์อาจจะไม่ได้ดีมาก เพราะว่าเราจ้างคนเพิ่ม แต่รีเวนิวดีขึ้นแน่นอน พอปรับแล้ว ทำให้ Q1 มีโปรฟิตมาร์จิ้น สูง 52-53% ไม่เคยมีมาก่อน ปกติจะ 44-45 บวกกับลมปีนี้ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว จึงคาดการณ์ว่ารายได้ในปีนี้น่าจะใกล้กับปี 2562 ประมาณ 12,000 ล้านบาท”

สเต็ปลงทุน 3 ปี สู่พันเมกะวัตต์

ปัจจุบันได้มีการขายไฟเข้าสู่ระบบ (COD) ครบ 717 เมกะวัตต์แล้ว เราจะลงทุนต่อให้ครบ 1,000 เมกะวัตต์ใน 3 ปีข้างหน้า ด้วยงบประมาณ 15,000 ล้านบาท โดยมองหาสถานที่มีศักยภาพทั้งในและต่างประเทศ

ในประเทศหลักสำคัญอยู่ที่รอ PPA รอไฟเขียวจากภาครัฐ ความชัดเจนหลังปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ดังนั้น จึงไม่โฟกัสที่ประเทศไทย แต่โฟกัสที่ต่างประเทศที่ดูไว้ทั้งเวียดนาม และเมียนมา รวมถึงนอกอาเซียน เพื่อกระจายความเสี่ยงแหล่ง “ลม” โดยจะเน้นลงทุนแบบกรีนฟีลด์ คือเริ่มเข้าไปตั้งแต่สำรวจ ตามไทม์ไลน์ต้นปีหน้าอาจมีโครงการใหม่

“อีกมุมหนึ่งก็ดูว่าจะซื้อโครงการ (M&A) ดีหรือไม่ เพราะมีคนมาขายเรื่อย ๆ เหมือนกัน แต่ต้องมาดูว่าผลตอบแทนการลงทุนว่าคุ้มหรือไม่เป็นอีกโจทย์หนึ่ง”

เล็งปักหมุดเวียดนาม

ในภูมิภาคมีความสามารถในการผลิตลมอยู่แล้ว ถ้าลมพร้อม คำถามคือ ที่ดินและรัฐบาลเขาพร้อมหรือไม่ ถ้าที่ดินไม่พร้อม เทคโนโลยียังสามารถปรับลงไปในน้ำได้ แต่ถ้ารัฐไม่พร้อม ต่อให้มีที่ดิน หรือมีลมก็เข้าไปไม่ได้

“ในภูมิภาคเรา เวียดนามมีโอกาสมากที่สุด แอ็กทีฟมากเรื่องพลังงานทดแทน เป็นไปได้ที่เราอาจมีไพรออริตี้เพิ่มขึ้น รอเพียงแผน NPDP ฉบับที่ 8 ที่เลื่อนมาจากต้นปีว่าจะปรับหรือไม่ เพราะเราเป็นธุรกิจที่อ้างอิงกับภาครัฐ ตอนนี้เราดูทั้งพื้นที่บนบกและในน้ำ ซึ่งคงต้องมี strategic partner การมีโลคอลพาร์ตเนอร์เป็นสิ่งสำคัญ”

ต่อยอดลงทุนธุรกิจใหม่

“ถ้าวิเคราะห์บริษัทข้างหนึ่งเราดูว่าเราเก่งอะไรก็ทำต่อ แต่อีกข้างหนึ่งที่ไหนรีเทิร์นสูงเราก็ไป เราเก่งตรงวินด์ก็จะไปต่อแน่นอน เป็นธุรกิจหลัก เพราะวินด์ตอนนี้ได้แอดเดอร์เยอะมาก โปรฟิตมาร์จิ้น 40% เชื่อว่าวินด์โครงการใหม่ ๆ IRR แค่ 10% กว่าก็เก่งแล้ว”

“แต่ถ้าอยากจะเมนเทนอัตรากำไรอย่างนี้ แค่วินด์อย่างเดียวไม่พอต้องคิดต่อไป ต้องอินโนเวทีฟมากกว่านี้ ตั้งใจว่าต้นปีหน้าอยากให้เห็นโครงสร้างแล้วว่าจะโตไปในทางไหน ถ้าวินด์เป็นแคชคลาวด์ที่ผลิตเงินขึ้นมาให้โฮลดิ้ง เอาไปรีอินเวสต์ต่อในโครงการหรือในบริษัทอื่น ๆ เพื่อสร้างผลกำไรให้โฮลดิ้ง อันนี้เป็นภาพที่อยากจะสปีดให้ชัด”

เน็กต์สเต็ปต้องไปดูโอกาสในอุตสาหกรรมอื่น ไม่อยากจำกัดตัวเองอยู่ในกลุ่มพลังงาน อาจออกไปนอกกลุ่มพลังงานก็ได้ เทคนิคอลอาจจะทรานส์เฟอร์ยาก แต่โอเปอเรชั่นอาจจะได้

ปัจจัยที่ส่งผลต่อธุรกิจ

ลม คือ ตัวรายได้หลัก ซึ่งปกติลมจะดีเดือนตุลาคมถึงธันวาคม เราบังคับลมไม่ได้ สิ่งที่ทำได้มากที่สุด คือ ถ้ามีซ่อมหรือต้องหยุดก็ดึงมาทำช่วงที่ไม่มีลม ทำให้รายได้ขาดน้อยลง มีแผนฟอร์แคสต์ทุกปี

“สถานการณ์ลมปีนี้กลับมาดีกว่าปีที่แล้ว ความเร็วลม คือ 6.5-6.6 เมตรต่อวินาที ระดับนี้ถือว่าดี ซึ่งกังหันเรารองรับได้ 12 เมตรต่อวินาที แต่ลมในประเทศไทยได้แค่ 6.5 เมตรต่อวินาทีก็เก่งแล้ว ปีที่แล้วเป็นปีที่ค่อนข้างแย่ที่สุดในรอบ 20 ปี เกี่ยวกับภาวะเอลนิโญ ลานิญา แต่เริ่มกลับมาตั้งแต่ Q4 ปีที่แล้วต่อถึง Q1 ปีนี้”

บริหารความเสี่ยง-ต้นทุน

การที่ลมแรงถึงขั้นถอนเสาขึ้นมาได้ต้องเกิน 12 เมตรต่อวินาที “คงไม่เกิด” เราบังคับกังหันลมโดยซอฟต์แวร์ พอระดับลมสูงจะหยุดหมุน ส่วนฝุ่น PM 2.5 ไม่มีผลกับลม อาจจะมีไปเกาะฟิลเตอร์บ้างแต่สัดส่วนน้อยไม่มีผลอะไร

“ธุรกิจนี้จะมีการบริหารความเสี่ยงภายในเชิงโครงสร้าง โดยทำสัญญาเหมารวมการบริการหลังจากการขาย โครงการไหนใช้บริการเจ้าไหนเจ้านั้นก็รับไปเลย เราจ่ายฟิกซ์คอสต์ต่อปี ผู้ให้บริการมีหน้าที่มาซ่อมบำรุงรักษา โดยมีหลักว่ากังหันต่อต้นต้องมีความพร้อมหมุน 97-98% หากกังหันหยุด รายได้หยุดหายไปต้องจ่ายเงินชดเชยรายได้ที่หายไป คือ โยนความเสี่ยงไปเลย ไม่แบกรับอินเวนทอรี่ แต่ถ้าสมมุติเราสามารถผลิตได้เกิน 97-98% เราแชร์โบนัสให้ผู้ให้บริการด้วย”

ใบอนุญาต ส.ป.ก.ฉลุย 20 ปี

หลังเพิกถอนสัญญาตามที่ศาลปกครองมีคำสั่ง แล้วก็มีมาตรา 44 มาครอบให้ทุกคนทำธุรกิจ ต่อมามีนโยบายใหม่ว่า ส.ป.ก.ไม่สามารถทำสัญญาเช่าได้ แต่ว่าสามารถออกใบอนุญาตให้ใช้ที่ดินได้ซึ่งหลักเกณฑ์คล้ายกัน เพียงแต่ต้องมานั่งเวิร์กกับโลคอล และ ส.ป.ก.จังหวัด

“เพิ่งลุยทำกันจริงจังเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ตอนนี้ทั้ง 8 โครงการได้ใบอนุญาตให้ใช้ที่ดิน 9 ใบ มีโครงการหนึ่งคร่อม จ.ชัยภูมิและโคราชจึงได้ 2 ใบ สัญญาให้ใช้ประโยชน์ที่ดินได้ 22-24 ปี แล้วแต่โครงการ ค่าเช่าแพงขึ้นนิดหน่อย จากเดิม 35,000 บาท เป็น 40,000 บาทต่อไร่ต่อปี ปรับเพิ่มทุก ๆ 3 ปีตามเรตราคาขั้นบันได และไม่สามารถเปลี่ยนมือได้”

โควิดไม่สะเทือนรายได้

ส่วนโควิดกระทบเชิงโครงสร้างดีมานด์-ซัพพลายการใช้ไฟฟ้า แต่ไม่กระทบรายได้ และต้นทุนของบริษัท เพราะด้วยสัญญา PPA กับภาครัฐ “ผลิตได้เท่าไร เราขายได้เท่านั้น”


ดังนั้น ธุรกิจนี้เหมือนเราสู้กับตัวเอง และค่อนข้างมั่นใจว่าการปรับ PDP รัฐน่าจะบาลานซ์ซับเซ็กเตอร์ ทั้งลมและโซลาร์เพราะมีจุดที่แตกต่างกัน