“สุวัชชัย วงษ์เจริญสิน” จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมฟอกหนังไทย

อุตสาหกรรมเครื่องหนังถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญของไทย แต่เมื่อพิจารณาลงในรายละเอียดกลับเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า วัตถุดิบหนังที่ใช้ผลิตกระเป๋า รองเท้า กลับไม่ได้ใช้วัตถุดิบจากโรงงานฟอกหนังภายในประเทศ แต่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบมาจากต่างประเทศ ซึ่ง “สุวัชชัย วงษ์เจริญสิน” กรรมการ บริษัท ซีพีแอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทยคนใหม่ได้มาสะท้อนปัญหา รวมถึงโอกาสและทิศทางอุตสาหกรรมฟอกหนังไทยกับ “ประชาชาติธุรกิจ”

Q : ภาพรวมอุตสาหกรรมฟอกหนัง

ปี 2559 มูลค่าตลาดรวมอุตสาหกรรมฟอกหนังประมาณ 22,000 ล้านบาท แบ่งเป็นส่งออก 20,000 ล้านบาท ที่เหลือ 2,000 ล้านบาท เป็นการใช้ภายในประเทศ โดยหนังที่ฟอกได้จะนำไปใช้ใน 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.รองเท้า 2.เบาะรถยนต์ และ 3.เฟอร์นิเจอร์ ช่วงหลังวงการเฟอร์นิเจอร์จะใช้น้อยลง แต่ใช้มากในอุตสาหกรรมเบาะรถยนต์ ส่วนในอุตสาหกรรมการผลิตรองเท้า ส่วนมากส่งออกไป 3 ประเทศที่เป็นฐานของอุตสาหกรรมผลิตรองเท้ารายใหญ่ ได้แก่ จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย ส่วนเมียนมาและกัมพูชาเพิ่งเริ่มส่งออกไปไม่กี่ปี โดยหนังที่ฟอกส่วนใหญ่เป็นหนังวัว 60% ของการผลิต หนังหมูมีประมาณ 30% และหนังทั่วไป 10% เช่น สัตว์เลี่อยคลาน (งู จระเข้ ตัวเงินตัวทอง) ส่วนหนังของสัตว์อื่นมีบ้าง เช่น หนังปลากระเบน รวมถึงเกล็ดปลา แหล่งที่มาหนังวัวดิบนำเข้าจากอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้ คิดเป็นมูลค่านำเข้าหนังวัวดิบประมาณ 18,000 ล้านบาทต่อปี กำไรไม่มาก เพราะต้นทุนทั้งหมดอยู่ที่หนัง อย่างอื่นเป็นส่วนประกอบ

Q : โอกาสจะใช้หนังวัวไทยเอง

ในอดีตย้อนไปสมัยที่จีนยังปิดประเทศ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยถือเป็นเบอร์ 1 ในการฟอกหนัง โดยหนังควายพันธุ์พื้นเมืองของไทยดังที่สุดในโลก เพราะโครงสร้างแน่น ผิวดี แต่ปัจจุบันลดน้อยลง ส่วนหนังวัวไทยไม่สามารถใช้ได้ เพราะไม่มีการเลี้ยงอย่างเป็นระบบ ปริมาณที่ได้ไม่สม่ำเสมอ คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ในอดีตเคยร่วมมือกับภาครัฐส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงวัว แต่ปรากฏว่าลูกวัวที่ได้ไม่ได้เป็นอย่างที่ตั้งใจไว้ เทียบต่างประเทศจะเลี้ยงวัวเป็นรุ่นได้ปริมาณแน่นอน หนังวัวมีคุณภาพดี

Q : มีการนำหนังหมูมาฟอกด้วย

วันนี้หนังวัวลดลงไป เพราะมีปัญหาในเรื่องภาษีส่งออก 4 บาทต่อกก. ทำให้สู้ต้นทุนของจีนและเวียดนามไม่ได้ ขณะที่หนังหมูนำเข้าและส่งออกไม่มีภาษี ช่วง 2-3 ปีนี้มีออร์เดอร์หนังหมูเข้ามาฟอกในไทยเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากจีน เวียดนามไม่ส่งเสริมการลงทุนเรื่องการฟอกหนัง เพราะมีปัญหามลภาวะ ทำให้ออร์เดอร์ธุรกิจฟอกหนังไหลมาที่เมืองไทย โดยนำเข้าจาก 3 แหล่งใหญ่ ได้แก่ อเมริกา แคนาดา และญี่ปุ่น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี หนังหมูสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนหนังวัวได้ เพียงแต่หนังหมูผิวไม่ละเอียด สู้หนังวัวไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การนำธุรกิจฟอกหนังมาให้ไทยเป็นฐานในการรับจ้างผลิต อาจถูกมองว่าเป็นการนำปัญหามลภาวะมา ถ้ามองแบบนี้ก็ถูก แต่ถ้ามองอุตสาหกรรมอื่นก็สร้างมลภาวะเช่นกัน การฟอกหนังมีเรื่องของน้ำเสีย กลิ่น โชคดีที่เมืองไทยมีระบบบำบัดน้ำเสียรวม สิ่งที่สมาคมฟอกหนังในยุคที่ผมเป็นนายกจะวางข้อกำหนดเรื่องการบำบัดมลภาวะให้อยู่ในมาตรฐานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

Q : ระบบบำบัดน้ำเสียรวมอย่างไร

อุตสาหกรรมฟอกหนังทำกันลักษณะเป็นชุมชน ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งที่เขตคลองเตย ตอนย้ายไปที่บางปู สมุทรปราการไปตั้งอยู่ในซอยเดียวกัน จึงร่วมกันตั้งบริษัทเขตประกอบการขึ้นมาของ 2 กลุ่ม กลุ่ม กม.30 และกลุ่ม กม.34 และมีการจัดสร้างระบบบำบัดน้ำเสียรวมของแต่ละกลุ่มขึ้นมา ทำให้ต้นทุนโรงงานลดลง ง่ายต่อการบริหารจัดการมลภาวะ แต่ยอมรับว่า ทุกวันนี้ยังถูกร้องเรียน ซึ่งนายกสมาคมแต่ละสมัยต้องไปชี้แจงกับภาครัฐ ว่าไม่ใช่กลิ่นจากอุตสาหกรรมฟอกหนัง เช่น น้ำเสียปกติเมื่อวัดค่า BOD/COD ผลการตรวจสอบผ่านเกณฑ์ แต่ในสายตาประชาชนมองว่าน้ำยังดำอยู่ ส่วนเรื่องกลิ่น ในอุตสาหกรรมฟอกหนังไม่ใช่มลภาวะเป็นพิษ แต่เป็นกลิ่นสาบของหนังดิบ กลิ่นเม็ดเกลือที่เกิดจากการหมัก ถ้าโรงงานไหนไม่มีการจัดการที่ดีพอ จะมีกลิ่นเหม็นมาก แต่ปัจจุบันน้อยลงไปมาก เพราะเปลี่ยนจากการนำเข้าหนังดิบที่ใช้เกลือสาดเป็นหนังแช่น้ำเกลือจนอิ่ม

Q : โอกาสที่จะใช้หนังหมูไทย

จริง ๆ วงการฟอกหนังหมูมีมานานแล้ว เป็นรายใหญ่มาก แต่เมืองไทยไม่เคยสนใจเลย การได้มาของหนังหมูต้องมีระบบที่เป็นซัพพลายเชน ยกตัวอย่างต้องมีการเลี้ยงหมูจำนวนมาก ซึ่งเมืองไทยมีหมูจำนวนมาก แต่ยังไม่มีระบบการจัดการถลกหนัง เพื่อให้ได้หนังที่มีคุณภาพมาใช้ ไม่ใช่เอามีดไปเฉือนทำให้เป็นริ้วรอย ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐควรมีนโยบายเข้ามาดำเนินการส่งเสริม เพราะเกษตรกรต้องเตรียมความพร้อม การได้มาของหนังคุณภาพดี มีแหล่งพักหนังที่ดี ถ้าประเทศไทยสามารถทำซัพพลายเชนธุรกิจหนังหมูแบบครบวงจร ใช้วัตถุดิบหนังหมูจากเกษตรกรป้อนให้โรงฟอกหนังในไทย เสร็จแล้ววงการเครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ไทยนำหนังที่ฟอกสำเร็จไปใช้ ส่งออกจะครบวงจรต้นน้ำยันปลายน้ำ

Q : ปัญหาของอุตฯฟอกหนัง

ทุกวันนี้วงการเครื่องหนังไทยผลิตสินค้าส่งออกจำนวนมาก แต่วัตถุดิบที่ใช้สั่งนำเข้าจากต่างประเทศ แทนที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมฟอกหนังของไทยด้วยกัน จึงอยากให้ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมเพื่อเป็นซัพพลายเชนซึ่งกันและกัน เรื่องนี้เคยคุยกันในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แต่เป็นการคุยกันระหว่างสมาคมกับสมาคม แต่ในทางปฏิบัติ ผู้ประกอบการยังไม่มีการเชื่อมโยงที่สนับสนุนให้ใช้วัตถุดิบจากโรงฟอกหนังของไทยด้วยกัน ส่วนตัวของผมเองหวังว่า ทางดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นมา เริ่มให้ความสนใจวัตถุดิบหนัง หรือผ้าที่เป็นของไทยเอง ผลิตและใช้แบรนด์ของไทยขายได้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยพยุงให้วงการฟอกหนังไทยกลับขึ้นมาได้

Q : นโยบายของนายกสมาคมคนใหม่

ในช่วงที่มารับตำแหน่ง 2 ปีนี้ จะพยายามจัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือสมาชิก ซึ่งปัจจุบันสมาคมมีสมาชิกประมาณ 144 ราย ส่วนใหญ่เป็นรายเล็กและรายกลาง ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไม่ดี มีหลายรายหยุดดำเนินธุรกิจไป มีที่ยังดำเนินการประมาณ 70 ราย หน้าที่ของนายกจะต้องทำให้ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของสมาคมสามารถดำเนินธุรกิจต่อไป ทางสมาคมมีหน้าที่หาโอกาสให้กับสมาชิก ให้ความรู้ต่าง ๆ หรือทางภาครัฐมีโครงการอะไรที่จะเข้าไปประสานเพื่อนำมาช่วยเหลือสมาชิกได้ ถ้าทุกคนมีธุรกิจที่ดีขึ้น ระบบการผลิต การจัดการ

ทางด้านการผลิตและสิ่งแวดล้อมน่าจะดีขึ้น แต่เหนืออื่นใด อยากให้ธุรกิจฟอกหนังไม่ตกขบวนรถไฟของเครื่องหนังในภูมิภาค ปัจจุบันเมืองไทยถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดีในการทำธุรกิจฟอกหนังในเอเชีย
ตะวันออกเฉียงใต้ โดยนำเข้าหนังวัวมาฟอกและส่งออกให้แบรนด์รองเท้าดัง ๆ ทั่วโลก