246 รายชิงโรงไฟฟ้าชุมชน “รายใหญ่” ปูพรมพื้นที่ภาคเหนือ-อีสาน

ยื่นซองเสนอขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน นำร่อง 150 MW คึกคัก หลังปิดรับซองมีคนยื่น 246 ราย ทั้งเชื้อเพลิงชีวมวล-ก๊าซชีวภาพ รายใหญ่จับมือวิสาหกิจชุมชนปูพรมขอตัวโรงไฟฟ้าพื้นที่ภาคเหนือ-อีสาน เหตุเป็นแหล่งปลูกพืชเกษตรใหญ่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า ด้านกรรมการกำกับกิจการพลังงานขอเลื่อนวันประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นวันที่ 26 สิงหาคม

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นโครงการนำร่องจำนวน 150 เมกะวัตต์ (MW) ที่ครบกำหนดการยื่นซองเอกสารคำเสนอขายไฟฟ้าทางด้านเทคนิคและราคาไปเมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จากที่จ่ายเงินค้ำประกันซองจำนวน 267 ราย ปรากฏมายื่นซองจริงทั้งหมด 246 ราย แบ่งเป็น ประเภทโรงไฟฟ้าชีวมวล 143 ราย และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ 103 ราย ซึ่งถือว่า “มายื่นเกินความคาดหมาย”

ทั้งนี้ โครงการนำร่องโรงไฟฟ้าชุมชน จะเปิดรับซื้อไฟฟ้ารวม 150 MW แบ่งเป็น เชื้อเพลิงชีวมวล 75 MW เสนอขายโครงการละไม่เกิน 6 MW และเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย น้อยกว่าหรือเท่ากับ 25%) 75 MW เสนอขายโครงการละไม่เกิน 3 MW อัตรารับซื้อไฟฟ้า แบ่งเป็น 1) ชีวมวล กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 3 MW คิดอัตรา feed-in tariff (FIT) ที่ 4.8482 บาท/หน่วย กำลังการผลิตติดตั้งมากกว่า 3 MW คิดอัตรา FIT ที่ 4.2636 บาท/หน่วย 2) ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) มี FIT ที่ 4.7269 บาท/หน่วย โดยทั้งหมดมีระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี และมี FIT Premium สำหรับพื้นที่พิเศษอีก 0.50 บาท/หน่วย

สำหรับรูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชนมีขึ้นเพื่อให้ชุมชนได้รับประโยชน์สูงสุด ภายใต้ 2 หลักเกณฑ์ คือ เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องได้รับการประกันราคาเชื้อเพลิงทางการเกษตร กับการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชน จะต้องไม่กระทบกับค่าไฟฟ้าของประชาชน

ดังนั้น รูปแบบการร่วมทุนโรงไฟฟ้าชุมชน จึงประกอบไปด้วยบุคคล 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้เสนอโครงการ จะเป็นภาคเอกชนโดยตรง หรือภาคเอกชนร่วมกับองค์กรของรัฐก็ได้ โดยกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนในโรงไฟฟ้าชุมชน 90% กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและเป็นผู้ปลูก-จัดหาพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า จะมีสัดส่วนในโรงไฟฟ้า 10% (หุ้นบุริมสิทธิ)

การแบ่งผลประโยชน์ให้กับชุมชนนั้น จะต้องแบ่งเงินส่วนแบ่งรายได้ให้หุ้นบุริมสิทธิกับเงินส่วนแบ่งรายได้สำหรับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า โดยให้โรงไฟฟ้าและชุมชนไปทำความตกลงกัน ที่สำคัญ ในแผนการจัดหาเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้านั้นจะมีสัญญารับซื้อเชื้อเพลิง (contract farming) ในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชน โดยจะต้องรับซื้อพืชพลังงานจากวิสาหกิจชุมชนร้อยละ 80 และผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าจัดหามาอีกร้อยละ 20 พร้อมทั้งแสดงที่ดินที่ใช้ปลูกพืชพลังงาน การบริหารจัดการน้ำในโครงการเพาะปลูก และต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรด้วย

ด้านแหล่งข่าวในคณะกรรมการพิจารณาด้านเทคนิคจะพิจารณาคำเสนอขายไฟฟ้าใน 3 ส่วนหลัก คือ 1) เชื้อเพลิง จะต้องเสนอแผนจัดหาเชื้อเพลิงตลอดอายุโครงการ 20 ปี 2) เทคโนโลยีแบบ plant layout, single line diagram, process flow diagram การมีประสบการณ์ในไทย แผนบริหารจัดการโครงการร่วมกับชุมชนและด้านสิ่งแวดล้อม และ 3) แหล่งเงินทุน ประมาณมูลค่าโครงการ ทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท/1 MW และต้องมีหนังสือสนับสนุนทางการเงินจากสถาบันทางการเงิน

“คณะกรรมการจะประกาศรายชื่อบริษัทที่ยื่นเอกสารทั้งหมด รวมถึงจะตรวจสอบเอกสารและแจ้งสิทธิในรายที่เอกสารไม่ครบถ้วนถูกต้องสมบูรณ์ ให้มายื่นเอกสารเพิ่มเติม โดยในวันที่ 7 พ.ค. จะแจ้งผลทาง e-Mail และจะเปิดให้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมในวันที่ 13, 14 และ 17 พ.ค. จากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติด้านเทคนิคในวันที่ 2 ก.ค. ทางเว็บไซต์ และมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาพร้อมเหตุผลต่อไป ส่วนการประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ จะประกาศผลภายในวันที่ 26 ส.ค. โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน”

ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า ผู้ยื่นซองเอกสารคำเสนอขายไฟฟ้าส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการโรงไฟฟ้ารายใหญ่ พื้นที่โครงการกระจายอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเป็นแหล่งปลูกพืชทดแทนที่เป็นเชื้อเพลิงทางการเกษตร นอกจากนี้ ยังมีผู้ยื่นโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีอัตรา FIT Premium สำหรับพื้นที่พิเศษให้อีก 50 สตางค์/หน่วย ทำให้สามารถแข่งขันส่วนลดราคารับซื้อไฟฟ้าได้มากขึ้น ทำให้มีโอกาสชนะในการเปิดซองด้านราคา