หอการค้าหวั่น ปิดกิจการ-เลิกจ้างพุ่ง หากคุมโควิด ฉีดวัคซีนช้า

เศรษฐกิจเงียบเหงา

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ระดับ 27.6 ต่ำสุดในรอบ 39 เดือน ภาคท่องเที่ยวกระทบหนัก โอกาสปิดกิจการ เลิกจ้างแรงงานสูง หากไม่มีมาตรการกระตุ้น ขณะที่เศรษฐกิจยังมั่นใจโต 3% ยังไม่ถึงทดถอยหากรัฐคุมโควิด เร่งฉีดวัคซีนได้ดี

วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนเมษายน 2564 ถือว่าต่ำสุดในรอบ 39 เดือน ตั้งแต่มีการสำราวจเมื่อเดือนมกราคม 2562 โดยความเชื่อมั่นหอการค้าไทยต่ำในทุกรายการ เศรษฐกิจโดยรวม การบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งคาดการณ์ว่าความเชื่อมั่นในเดือนพฤษภาคม 2564 ก็ยังไม่ดีขึ้น

โดยกลุ่มที่สำรวจจะเห็นว่า ภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบมากที่สุดในทุกภาคทั่วประเทศ ซึ่งโอกาสที่จะทำให้หลายกิจการมีโอกาสปิดมากขึ้น มีการเลิกจ้างแรงงานสูง การจ้างงานก็จะลดลง ขณะที่ภาคเกษตร แม้ราคาสินค้าเกษตรจะดีขึ้น แต่สินค้าเกษตรในมือเกษตรกรไม่มี ส่งผลต่อกำลังซื้อโดยรวมลดลง ด้านภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ดังนั้น จากการสำรวจเศรษฐกิจไทยยังไม่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคสังคมได้ในอนาคต

ธนวรรธน์ พลวิชัย
ธนวรรธน์ พลวิชัย

อย่างไรก็ดี หอการค้ายังคาดการณ์เศรษฐกิจไทยทั้งปีขยาตัวอยู่ในกรอบ 2.5-3% โดยอยู่ภายใต้ที่รัฐบาลควบคุมโควิดไม่ให้กระจายมากขึ้น หรือเกิดคลัสเตอร์ใหม่ เร่งกระจายฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย การฟื้นการท่องเที่ยวในประเทศ นอกจากนี้ ยังต้องการให้รัฐบาลเพิ่มเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 ให้เร็วและมีปริมาณ 2 แสนล้าน เพราะมองกว่าการกระตุ้น 1 แสนล้านบาทยังช่วยไม่ได้ เชื่อว่าเศรษฐกิจจะโต 3-4% ต้องอยู่ภายใต้ปัจจัยโควิดไม่รุนแรง และไตรมาส 3 ก็เพิ่มเม็ดเงินเข้าไปเพิ่ม

ขณะที่มาตรการ คนละครึ่ง ยังเป็นโครงการที่ช่วยกระตุ้นรายได้และเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจได้ดี เพราะช่วยลดสินค้า การใช้จ่ายให้ประชาชนถึง 50% ส่วนมาตรการแจก e-Voucher 5,000-7,000 บาทต่อวัน มองว่ายังไม่จูงใจเท่าที่ควรหากดูมาตรการอื่น พร้อมกันนี้ ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะทดถอย มีแต่ก็น้อยมากแค่ 10-20% เท่านั้น เนื่องจากรัฐมีมาตรการกระตุ้น การเร่งฉีดวัคซีนที่จะช่วยได้

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนเมษายน 2564 จากกลุ่มตัวอย่าง 368 ตัวอย่าง พบว่า อยู่ที่ระดับ 27.6 ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 27.1 การท่องเที่ยวอยู่ที่ 17.4 การบริโภคอยู่ที่ 31.3 การจ้างงานอยู่ที่ 26.7 การลงทุนอยู่ที่ 26.4 เป็นต้น

ADVERTISMENT

พร้อมกันนี้หอการค้าไทยยังคาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้า เศรษฐกิจของจังหวัดโดยรวมแย่ลงอยู่ที่ 45.4% รวมไปถึงการท่องเที่ยวภายในจังหวัดแย่ลงถึง 56.4% อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการในแต่ละภาคความเชื่อมั่นยังไม่ดีขึ้น

สำหรับปัจจัยลบที่กระทบต่อความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เช่น ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด รอบที่ 3 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศทั้งปัจจุบันและในอนาคต หากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ภาครัฐออกมาตรการควบคุมการระบาดของโรค

ADVERTISMENT

การสั่งปิดกิจการทางธุรกิจในหลายประเภท โดยเฉพาะธุรกิจกลางคืน มาตรการการากักตัวของบางจังหวัดหากเดินทางเข้าจังหวัดนั้น ๆ ทำให้นักท่องเที่ยวชะลอการเดินทาง

การงดกิจกรรมสงกรานต์ในหลายพื้นที่ การชะลอการบริโภคและจับจ่ายใช้สอย จากสถานการณ์การแพร่ระบาด ธุรกิจเริ่มขาดสภาพคล่องและปิดกิจการ ส่งผลให้มีการปลดคนงานเพิ่มขึ้น หรือมีการลดเงินเดือน สศค. ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ที่ 2.3% ต่อปี ลดลงจากประมาณการเมื่อเดือนมกราคม 2564 ที่ 2.8% ต่อปี SET Index เดือน เม.ย. 64 ปรับตัวลดลง 4.08 จุด จาก 1,587.21ณ สิ้นเดือน มี.ค. 64เป็น 1,583.13 ณ สิ้นเดือน เม.ย 64 ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่า ระดับราคาน้ามันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น

ขณะที่ ปัจจัยบวกที่กระทบ เช่น ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในโครงการ “คนละครึ่ง” “เราเที่ยวด้วยกัน” “เราชนะ” และ “เรารักกัน” เพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศ การส่งออกของไทยเดือน มี.ค. 64 ขยายตัว 8.47% มูลค่าอยู่ที่ 24,222.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และการนำเข้าขยายตัว 14.12 มีมูลค่าอยู่ที่ 23,511.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 515.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัวในระดับที่ดีโดยเฉพาะข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่เริ่มมีรายได้สูงขึ้น และกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ดี สำหรับแนวทางแก้ไขที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ คือ เร่งจัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อจำนวนประชากร เร่งกระจายการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เร่งการหยุดการระบาดแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เป็นคลัสเตอร์และกระจายตัวอยู่ในชุมชนแออัดตามพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

หามาตรการทางการเงินช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจในการช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินกิจการ รักษาการจ้างงาน พัฒนาทักษะแรงงานและปรับรูปแบบธุรกิจ ให้กลับมาสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เร่งแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศ